ดูไบ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์–6 ธ.ค.–พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
องค์กรการบัญชีและการตรวจสอบสำหรับสถาบันการเงินอิสลาม หรือ The Accounting and Auditing Organization for Islamic Financial Institutions (AAOIFI) ร่วมกับสภาทองคำโลก (World Gold Council) ได้ออกมาตรฐาน ‘Shari’ah Standard No. 57 on Gold and its Trading Controls (“มาตรฐาน”) เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์อ้างอิงสำหรับการซื้อขายทองคำในรูปแบบและประเภทต่างๆ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์การเงินที่เกี่ยวข้องกับทองคำในสถาบันต่างๆ ให้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม
มาตรฐานที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกนี้จะกำหนดกฎข้อบังคับเฉพาะสำหรับการใช้ทองคำในฐานะเครื่องมือการลงทุนในอุตสาหกรรมการเงินอิสลาม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีองค์กรใดออกกฎข้อบังคับดังกล่าว มาตรฐานใหม่จะแสดงให้เห็นว่าการลงทุนในทองคำเป็นเรื่องที่ทำได้หากปฏิบัติตามหลักชะรีอะห์ ซึ่งรวมถึงการถือครองทองคำและการคำนวณซะกาตอย่างถูกต้อง
Dr. Hamed Hasan Merah เลขาธิการของ AAOIFI กล่าวว่า “มาตรฐานชะรีอะห์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดนี้ เกิดจากความทุ่มเทพยายามอย่างหนักของ AAOIFI Shari’ah Board ในฐานะที่เป็นองค์กรชะรีอะห์ชั้นนำที่มีอิทธิพลที่สุดในอุตสาหกรรมการเงินอิสลามทั่วโลก โดยมาตรฐานใหม่นี้จะเข้ามาเสริมมาตรฐานที่ AAOIFI มีอยู่ในปัจจุบัน และครอบคลุมกลไกต่างๆ ในการปฏิบัติตามหลักชะรีอะห์ เพื่อการจัดการและลงทุนในทองคำในยุคปัจจุบัน โดยจะวางรากฐานให้กับการสร้างและการจัดโครงสร้างผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆให้สอดคล้องกับกฎข้อบังคับและคำสอนตามหลักชะรีอะห์ นอกเหนือไปจากการบริหารสภาพคล่องสำหรับสถาบันการเงินอิสลาม ผมหวังว่า ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะนำมาซึ่งความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมการเงินอิสลาม”
มาตรฐานดังกล่าวจะช่วยให้มีสินทรัพย์สำหรับการลงทุนประเภทใหม่ๆเกิดขึ้น ช่วยให้ธนาคารอิสลามและสถาบันการเงินอื่นๆขยายฐานลูกค้าของตนเอง ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการพัฒนาและออกผลิตภัณฑ์เพื่อการออม ป้องกันความเสี่ยง และกระจายการลงทุนที่หลากหลาย
Aram Shishmanian ซีอีโอของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “นี่ถือเป็นการปฏิวัติวงการสำหรับนักลงทุนอิสลามและอุตสาหกรรมทองคำโดยรวม เราดีใจที่ในที่สุดก็มีแนวปฏิบัติตามหลักชะรีอะห์สำหรับการลงทุนในทองคำ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นสินทรัพย์เพื่อรักษาระดับความมั่งคั่ง โดยต่อไปนี้นักลงทุนอิสลามจะสามารถลงทุนในทองคำเพื่อปกป้องความมั่งคั่งของตนเองและกระจายความเสี่ยงของตลาด”
การอภิปรายเกี่ยวกับมาตรฐาน (หมายเลข 57) ได้ข้อสรุปในการประชุม AAOIFI Shari’ah Board ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งได้มีการอนุมัติมาตรฐานดังกล่าว โดยมาตรฐานนี้ได้รับการพัฒนาตามขั้นตอนที่เข้มงวดของ AAOIFI และต้องผ่านช่วงเวลาปรึกษาหารือ ซึ่งรวมถึงการทำประชาพิจารณ์ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายสำคัญทุกราย เพื่อรับประกันว่ามาตรฐานขั้นสุดท้ายจะเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ได้จริงในอุตสาหกรรม
มาตรฐานใหม่นี้มีการเผยแพร่ทั้งในภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าถึงมาตรฐานต่างๆของ AAOIFI ในรูปแบบดิจิทัล (ผ่านทางเว็บไซต์ของ AAOIFI และแอปมือถือ) หรือผ่านทาง http://www.shariahgold.com
ติดตามสภาทองคำโลกได้ที่ Twitter at @ goldcouncil และกดไลค์บน
ติดตาม AAOIFI บน Twitter ได้ที่ @ AAOIFI_ORG
ผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีการลงทุนในทองคำตามหลักการเงินอิสลาม สามารถอ่านได้จากรายงานการวิจัยของเรา: http://www.shariahgold.com
สำหรับบรรณาธิการ:
เกี่ยวกับ AAOIFI:
AAOIFI ก่อตั้งขึ้นในปี 2534 และมีสำนักงานใหญ่ในบาห์เรน AAOIFI เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรชั้นนำระดับโลกที่มีความรับผิดชอบหลักในการพัฒนาและออกมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมการเงินทั่วโลก โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก ซึ่งประกอบไปด้วยธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแล สถาบันการเงิน บริษัทบัญชีและตรวจสอบ และบริษัทกฎหมายในกว่า 45 ประเทศ ปัจจุบันสถาบันการเงินอิสลามชั้นนำในทั่วโลกได้ปฏิบัติตามมาตรฐานของ AAOIFI อันนำมาซึ่งความสอดคล้องกลมกลืนของแนวปฏิบัติด้านการเงินอิสลามระหว่างประเทศ
เกี่ยวกับสภาทองคำโลก
สภาทองคำโลก เป็นองค์กรพัฒนาตลาดสำหรับอุตสาหกรรมทองคำ วัตถุประสงค์ของเราคือการกระตุ้นและรักษาอุปสงค์ในทองคำให้มีความยั่งยืน ตลอดจนเป็นผู้นำอุตสาหกรรมและผู้มีอำนาจระดับโลกในตลาดทองคำ
เราพัฒนาโซลูชัน บริการ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทองคำ โดยอาศัยความรู้ความเข้าใจตลาดในเชิงลึก เราทำงานร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลายเพื่อนำเอาแนวความคิดของเราไปปฏิบัติ ผลลัพธ์ที่ได้คือ เราได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสำหรับอุปสงค์ทองคำในทั่วทุกส่วนตลาดที่สำคัญ เราจัดหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดทองคำระหว่างประเทศ ช่วยให้ผู้คนเข้าใจเกี่ยวกับคุณภาพในการรักษาระดับความมั่งคั่งของทองคำ และบทบาทของทองคำที่สอดคล้องกับความต้องการทางสังคมและสภาพแวดล้อม
สมาชิกของสภาทองคำโลกประกอบไปด้วยบริษัทเหมืองทองคำชั้นนำระดับโลกที่มีวิสัยทัศน์และมองการณ์ไกล
ที่มา: สภาทองคำโลก