ความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเม็ดสีโลก – พลิกความท้าทายให้เป็นการสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน

0
304
image_pdfimage_printPrint

LXS FCC Produktion V15

แลงเซส (LANXESS) บริษัทผู้ผลิตเม็ดสีไอออนออกไซด์สังเคราะห์ชั้นนำของโลก จัดงานแลงเซส พิกเมนท์ส ซิมโพเซียม ครั้งที่ 2 ในนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 โดยแนวคิดของงานในปีนี้คือ “ความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเม็ดสีโลก – พลิกความท้าทายให้เป็นการสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” นับเป็นอีกครั้งที่หน่วยธุรกิจเม็ดสีอนินทรีย์หรือไอพีจี (Inorganic Pigments – IPG) ได้เปิดเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ใช้งานจากทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาในปัจจุบันและความท้าทายของอุตสาหกรรมเม็ดสีในอนาคต

มีการพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ในหลากหลายหัวข้อ อาทิ การดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในประเทศจีน การควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมเม็ดสีที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และความท้าทายใหม่ในอุตสาหกรรมสีและเคลือบสี โดยงานดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจากทั่วโลกมากกว่า 150 รายประกอบด้วยลูกค้า หุ้นส่วนฝ่ายขาย ผู้แทนจากรัฐบาล สมาคมวิชาชีพและสื่อมวลชนที่ตอบรับคำเชิญของแลงเซสเพื่อเข้าร่วมการพูดคุยในครั้งนี้

จีนเป็นตลาดการขายที่ใหญ่ที่สุดและเป็นศูนย์กลางการผลิตเม็ดสีอนินทรีย์ไอออน ออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เศรษฐกิจของจีนกำลังอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างใหม่ซึ่งส่งผลต่ออุตสาหกรรมเม็ดสีอย่างมหาศาล “ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น บีบให้ผู้ผลิตมากมายในประเทศจีนต้องปิดโรงงานผลิต อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สภาพธุรกิจจะอยู่ในช่วงถดถอยชั่วคราว แต่ความต้องการเม็ดสีอนินทรีย์ในระดับโลกกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเมืองใหญ่ ซึ่งพัฒนาการนี้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออุตสาหกรรมทาสีและเคลือบสีระดับโลก” ราฟาเอล ซูชาน ผู้อำนวยการหน่วยธุรกิจเม็ดสีของแลงเซส เอเชีย/แปซิฟิก กล่าวภายในงานซิมโพเซียม

ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐบาลจีนเห็นพ้องว่าการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมเม็ดสีจะยังคงดำเนินต่อไป แผนฉบับที่ 13 ซึ่งมีระยะเวลาห้าปีของจีนและอิทธิพลของแผนดังกล่าวที่มีต่ออุตสาหกรรมสีและเคลือบสีแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้ผลิตเม็ดสีไอออนออกไซด์จะสามารถดำเนินธุรกิจในจีนให้ประสบความสำเร็จในอนาคตได้ด้วยการปฏิบัติตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดเท่านั้น แผนการพัฒนาของจีนกำหนดเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานภายในปี พ.ศ. 2563 ไว้อย่างชัดเจนด้วยการลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว โรงงานผลิตเม็ดสีทุกแห่งจะต้องมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมระดับสูงภายใต้การตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงที่เข้มงวดอย่างไม่มีข้อยกเว้น

ผู้แทนของรัฐบาลยังพูดคุยเกี่ยวกับผลกระทบของข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ของจีน บริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดฉบับใหม่จะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง โดยในปี พ.ศ. 2557 มีการใช้บทลงโทษต่อบริษัทที่ละเมิดข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าปีก่อนหน้าถึงสามเท่าตัว นอกจากนี้ จำนวนผู้ผลิตเม็ดสีที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 10,000 เมตริกตันต่อปีจะลดลงอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากข้อกำหนดใหม่ เป้าหมายของรัฐบาลคือการสนับสนุนการควบรวมกิจการอุตสาหกรรมมากขึ้น สุดท้ายแล้ว มีเพียงผู้ผลิตไอออนออกไซด์ที่มีความยั่งยืนและมีศักยภาพสูงขึ้นเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่จะดำเนินธุรกิจในจีนต่อไปได้

จอร์ก เฮลล์วิก ผู้อำนวยการหน่วยธุรกิจเม็ดสีอนินทรีย์ของแลงเซสกล่าวย้ำว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายนี้ “การพัฒนาธุรกิจในประเทศจีนนั้นจำเป็นต้องอาศัยการลงทุน ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคและมีกระบวนการโซลูชั่นส์ใหม่ จึงจะประสบความสำเร็จได้ในระยะยาวและช่วยสร้างสรรค์ความก้าวหน้าให้แก่อุตสาหกรรม เฮลล์วิกอธิบายถึงวิธีการดำเนินการที่มุ่งสู่ความสำเร็จด้วยการยกตัวอย่างกระบวนการหนิงป่อ (Ningbo) รูปแบบใหม่ ซึ่งแลงเซสพัฒนาระบบวิศวกรรมเพื่อการผลิตเม็ดสีแดงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในจีนโดยเฉพาะและจะถูกใช้ในโรงงานแห่งใหม่ในหนิงป่อ เทคโนโลยีใหม่นี้แตกต่างจากกระบวนการผลิตเพนนิแมน (Penniman) แบบดั้งเดิมที่ใช้อยู่ในจีน เนื่องจากหนิงป่อจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเสียได้อย่างมหาศาลและครอบคลุมระบบการบำบัดน้ำที่เกิดจากกระบวนการผลิตได้อย่างทรงประสิทธิภาพ โดยใช้กระบวนการดีไนตริฟิเคชันทางชีววิทยา กระบวนการอัลตร้าฟิลเทรชั่น และรีเวอร์ส ออสโมซิสอย่างมีประสิทธิภาพจนน้ำเกือบทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตได้อีก

นอร์เบิร์ต มาห์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้ออนินทรีย์โกลเบิลของ BASF SE อธิบายภายในงานแลงเซส พิกเมนท์ส ซิมโพเซียมว่า กระบวนการจัดซื้อที่ยั่งยืนสามารถผนวกรวมเป้าหมายเชิงเศรษฐกิจและนิเวศวิทยาเข้าไว้ด้วยกันได้ “กระบวนการจัดซื้อที่มีความยั่งยืนไม่เพียงให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจ แต่ยังใส่ใจในความสำคัญของการปกป้องสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคมและการปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐบาล รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้ผลิตวัตถุดิบเพื่อพัฒนาเพิ่มเติมถ้าจำเป็น” ดังนั้น BASF จึงผนึกกำลังกับบริษัทอื่น รวมถึงแลงเซสในการดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อความยั่งยืนหรือ Together for Sustainability (TfS) เป้าหมายของโครงการนี้คือการพัฒนาโปรแกรมระดับโลกสำหรับการจัดซื้อสินค้าและบริการอย่างมีความรับผิดชอบ และปรับปรุงมาตรฐานด้านนิเวศวิทยาและสังคมของผู้ผลิตวัตถุดิบ

ระหว่างการพูดคุยสรุปบนเวที เดนนิส โชลซ์ ผู้จัดการทัวไปบริษัท ฮาโรลด์ โชลส์แอนด์โค คลิฟฟอร์ด ชอฟซ์จากบริษัทชอฟซ์ แอสโซซิเอท ห่าว หลี ผู้จัดการทั่วไปของเอชซีเอ คอนซัลติ้ง ไชน่า และคริสเตียน วูล์ฟรัม ผู้จัดการโครงการ บอสตัน คอนซัลติ่ง กรุ๊ปได้หารือถึงการพัฒนาตลาด ความท้าทาย นวัตกรรมและแนวโน้มใหญ่ของอุตสาหกรรมเคลือบสีในปัจจุบัน

การพูดคุยภายในงานซิมโพเซียมในปีนี้เหมือนกับงานที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2556 ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ทำให้ผู้เข้าร่วมงานมีโอกาสพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและหุ้นส่วนในอุตสาหกรรมที่มีความชำนาญเฉพาะทางหลากหลายด้านได้อย่างกว้างขวาง “เสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมที่เราได้รับจากผู้เข้าร่วมงานและผู้บรรยายทำให้เราต้องการเดินหน้าจัดกิจกรรมเช่นนี้เป็นประจำ” เฮลล์วิกกล่าว พร้อมประกาศว่างานแลงเซส พิกเมนท์ส ซิมโพเซียมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในภูมิภาคอเมริกาเหนือในปี พ.ศ. 2560