อลิอันซ์ แนะคนไทยควรออมเงินเพิ่มเพื่อใช้ในวัยเกษียณ
โครงสร้างบำนาญในปัจจุบันของไทยไม่สามารถสร้างรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอ
เพื่อชีวิตหลังเกษียนที่สะดวกสบาย คนทำงานควรพิจารณา ยืดอายุการทำงานให้ยาวขึ้น…
หรือเก็บเงินผ่านทางเลือกต่างๆ เพื่อให้อัตราทดแทนรายได้หลังเกษียนอยู่ที่ 47%
รายได้หลังเกษียณจากระบบบำนาญของไทย ถูกจัดให้อยู่ในลำดับท้ายๆ จากผลการวิจัย Allianz’ Retirement Income Adequacy (RIA) indicator ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มอลิอันซ์ เพื่อวัดความเพียงพอของรายได้หลังเกษียณของประชากรในประเทศกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 49 ประเทศ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอายุการเกษียนในระดับต่ำที่สุด (อยู่ที่ 55 ปี) มีอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง รวมทั้งอัตราทดแทนรายได้หลังเกษียณที่ต่ำ (เปอร์เซ็นต์รายได้ของการดำรงชีพหลังเกษียณเมื่อเทียบกับเงินเดือนเดือนสุดท้าย) ดังนั้น การเตรียมความพร้อมหลังเกษียนให้เพียงพอและเหมาะสมจึงถือเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว
ประเทศไทย ถูกจัดอันดับในดัชนีชี้วัดความเพียงพอของรายได้หลังเกษียน (RIA) ในลำดับที่ต่ำ แต่ทั้งนี้ ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศจีน ประเทศอินเดีย และ ประเทศอินโดนีเซีย แต่ต่ำกว่าประเทศตุรกี และสิงคโปร์ นอกจากนั้นประเทศไทยก็อยู่ในลำดับท้ายๆของผลการวิจัย Allianz Pension Sustainability Indicator (PSI) ที่จัดทำโดยกลุ่มอลิอันซ์เช่นกัน แต่งานวิจัยชิ้นนี้ มุ่งวัดความยั่งยืนของระบบบำนาญโดยรวม หากวิเคราะห์ระบบบำนาญในประเทศไทยจะพบว่า ยังคงมีหลายส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งการขยายระบบให้มีความครอบคลุมและสมบูรณ์ ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับประเทศ
แต่หากมองในเชิงบวก ในทั้งสองการวิจัย ต่างแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประเทศไทยมีการพัฒนาระบบบำนาญอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าระบบบำนาญของไทยจะเกิดขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2445 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่จัดให้มีเงินบำนาญสำหรับข้าราชการเกษียณ แต่ในช่วงปีพ.ศ. 2533 เป็นต้นมา ก็ได้มีการปรับโครงสร้างซึ่งทำให้ระบบบำนาญขยายวงกว้างสู่ภาคเอกชน
การเปิดตัวกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ไปเมื่อเร็วๆนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายระบบบำนาญให้ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ถึงกว่า 25 ล้านคน (จากแรงงานทั้งหมดประมาณ 34.5 ล้านคน) ในประเทศไทย ด้วยการดำเนินงานของกองทุนการออมแห่งชาติ จะทำให้ประเทศไทยมีระบบที่ครอบคลุมแบบหลายเสาหลัก ตามรูปแบบของธนาคารโลกและจะช่วยลดภาวะยากจนในวัยชรา โดยเฉพาะในแถบชนบท
นอกจากกองทุนการออมแห่งชาติแล้ว พนักงานบริษัททั่วไป ก็ได้รับการดูแลครอบคลุมผ่านรูปแบบการออมในกองทุนประกันสังคม รวมทั้งการออมด้วยความสมัครใจผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ ในขณะที่ข้าราชการ สามารถพึ่งพาระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข) และระบบบำนาญที่ลูกจ้างไม่ต้องออกเงินสมทบ
ประเทศไทยยังอยู่ในลำดับท้ายๆทั้งในงานวิจัยที่สำรวจเรื่องความเพียงพอของระบบบำนาญและความยั่งยืนของระบบบำนาญ นั่นหมายถึงว่าระบบบำนาญของไทยจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราทดแทนรายได้หลังเกษียณ เป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงภาวะการณ์ที่ลำบากของระบบบำนาญปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยมีอัตราทดแทนรายได้หลังเกษียณที่ต่ำ ดังนั้นหากมองในเรื่องของความเพียงพอ ยังมีความเสี่ยงว่าผู้เกษียณจะมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำลงหลังเกษียณ แต่หากมองในเรื่องของความยั่งยืน ถือว่ายังมีข้อดี เพราะระบบบำนาญที่มีอยู่ไม่ได้ทำให้เกิดภาระที่มากเกินไปต่อสถานะทางการเงินของประเทศ อย่างไรก็ตาม หากผู้สูงวัยมีฐานะจนลงมากหลังเกษียณ รัฐบาลอาจต้องให้การช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องสวัสดิการมากขึ้น ซึ่งจะเป็นภาระต่องบประมาณของประเทศ และนั่นอาจนำไปสู่ความไม่ยั่งยืนของระบบบำนาญก็เป็นได้
บริกิท มิกซา หัวหน้าฝ่ายบำนาญ กลุ่มอลิอันซ์ กล่าวว่า “คนในวัยทำงานที่อายุยังน้อยควรเริ่มออมเงินให้มากขึ้น เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่า พวกเขาจะมีรายได้ที่เพียงพอหลังเกษียณ”
ทั้งนี้ มาตรวัด RIA ได้คำนึงถึงแหล่งรายได้หลังเกษียณในหลายมิติไม่ว่าจะเป็นบำนาญจากรัฐบาล จากนายจ้างหรือกองทุนบำนาญเอกชน รายได้จากการออมส่วนบุคคล สินทรัพย์ทางการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และยังได้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในช่วงวัยชรา ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ การมองภาพในหลายมิติเช่นนี้มีความจำเป็น เพื่อใช้ทำความเข้าใจถึงความ(ไม่)มั่นคงทางเศรษฐกิจของผู้เกษียณ
ข้อเสนอแนะ :
หนึ่งในมาตรการที่น่าจะได้ผลมากที่สุด เพื่อให้เกิดความเพียงพอ คือ การยืดอายุการทำงาน ถือเป็นการลดความเสี่ยงของการใช้ทรัพย์สินหมดก่อนสิ้นชีวิต และยังเป็นการเพิ่มระยะเวลาการออม และเพิ่มโอกาสที่จะเพิ่มผลตอบแทนให้กับเงินที่ได้ออมไว้
“สำหรับประชากรรุ่นต่อๆไป เราควรจะเพิ่มแรงจูงใจทางการเงินและให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะทางการเงิน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปมีการออมเงินในระบบกองทุนเพื่อการเกษียณให้เป็นนิสัย การทำเช่นนี้จะเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเสี่ยงที่มีความอ่อนไหวทางการเงิน เช่น ผู้หญิง แรงงานนอกระบบ และผู้ที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง โดยสรุป ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ ควรจะหารายได้จากหลายๆทางเพื่อที่จะได้รองรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายยามชรา นอกจากนั้น การมีผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดรายได้อย่างชาญฉลาด ก็เป็นอีกตัวช่วยในการสร้างรายได้หลังเกษียณที่ครอบคลุมและเพียงพอ รวมทั้งการวางแผนการรับเงินเลี้ยงชีพรายปีและการถอนเงิน จะช่วยลดความเสี่ยงของการใช้เงินเกินตัว” บริกิท มิกซา กล่าวเพิ่มเติม
รายงานผลวิจัยฉบับเต็ม
Allianz Retirement Income Adequacy (RIA): http://bit.ly/1V6SEHq
Allianz Pensions Sustainability Indicator (PSI): http://bit.ly/1JFwbf8