DTI เปิดตัว “ยานเกราะล้อยาง 8×8” คันแรกของไทย
พร้อมจัดทัพยุทโธปกรณ์โชว์งาน Defense & Security 2015
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) เผยโฉมผลงานวิจัย “ยานเกราะล้อยาง 8×8” รุ่น Black Widow Spider ที่ผลิตขึ้นเองคันแรกของประเทศ โดยถือเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เกิดความเข้มแข็งมีศักยภาพเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง พร้อมนำทัพอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ โชว์ฝีมือนักวิจัยไทย ในงาน Defense & Security 2015
พลเอกสมพงศ์ มุกดาสกุล ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) เปิดเผยว่า การจัดงานแสดงผลงานวิจัยและพัฒนาในงานนิทรรศการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (Defense & Security 2015) ครั้งนี้ DTI ได้ร่วมกับกระทรวงกลาโหมและภาคเอกชนในการเผยแพร่และจัดแสดงผลงาน วิจัยด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้กับหน่วยผู้ใช้และผู้เข้าร่วมงาน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ชมศักยภาพ เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด องค์ความรู้ และประสบการณ์ในการวิจัยกับผู้เข้าร่วมชมงาน ซึ่งจะได้นำไปปรับใช้กับการปฏิบัติงานต่อไป
สำหรับในปีนี้ DTI มีความภูมิใจในการนำเสนอผลงานที่เป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญคือ “ยานเกราะล้อยาง DTI 8×8” คันแรกของเมืองไทย ชื่อรุ่น Black Widow Spider ที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทยของ DTI บูรณาการ ความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC และภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนิรภัย ยานยนต์ ทำให้เกิดต้นแบบยานเกราะนี้ขึ้นมา โดยใช้เทคโนโลยีของตัวเองมากกว่า 60% และใช้ระยะเวลาเพียง 2 ปี ซึ่งถือเป็นก้าวกระโดดสำคัญของโครงการพัฒนายุทธยานยนต์เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยที่ประสิทธิภาพของยานเกราะล้อยาง DTI 8×8 นี้เป็นไปตามมาตรฐานทางทหารของกลุ่มประเทศนาโต้ (NATO STANAG) ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก
คุณสมบัติสำคัญของยานเกราะล้อยาง DTI 8×8 คือ สามารถขับเคลื่อนได้ทั้งบนบกและในน้ำ รองรับผู้ปฏิบัติงานได้ 12 นาย ติดตั้งป้อมปืนได้ถึงขนาด 30 มม. มีกล้องตรวจการณ์รอบคันรถจึงปฏิบัติภารกิจได้หลากหลายรูปแบบ เช่น เป็นยานบัญชาการ มีตัวถังเกราะได้มาตรฐานนาโต้ STANAG 4569 ระดับ 4 คือ ทนทานต่อกระสุนปืนเล็กทุกขนาด ทนต่อกระสุนปืนกลหนักขนาด 14.5 x 114 มม. หรือ 0.57 คาลิเบอร์ ที่ยิงระยะ 200 เมตร และยังทนต่อแรงระเบิดของกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มม.ที่ตกระยะ 30 เมตรอีกด้วย อีกทั้งยังมีสมรรถนะสูงที่เหมาะสมต่อการ ปฏิบัติงานในสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างได้เป็นอย่างดียิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการไต่ลาดชันได้ไม่น้อยกว่า 60% การไต่ลาดเอียงได้ไม่น้อยกว่า 30%
ปัจจุบันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยถือว่ามีความรุดหน้าไปมาก โดย DTI ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความสามารถและ มีความตั้งใจ ในการพัฒนาและผลักดันให้เกิดการวิจัยและสร้างยุทโธปกรณ์ของไทยให้กับกองทัพ ซึ่งเมื่อเกิด ความเข้มแข็งแล้วในอนาคตก็จะมีโอกาสในการร่วมมือพัฒนาด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างชาติ ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
“ช่วงปี 2558 – 2559 DTI ซึ่งเป็นหน่วยงานด้าน R & D อาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพไทย ได้สร้างผลงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศไปแล้วกว่า 20 โครงการ โดยหลายโครงการที่นำมาจัดแสดงนั้นได้มีการส่งมอบ ให้กองทัพไปใช้งานแล้ว ซึ่งต้องขอบคุณหน่วยผู้ใช้ที่ให้การสนับสนุนและร่วมผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ สะท้อนได้ว่า DTI กำลังพัฒนาไปถูกทาง สามารถสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เติบโต ได้สร้างประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจนำรายได้เข้าสู่ประเทศและสร้างงานให้แก่ประชาชนได้เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมประเภทอื่น”
นอกจากนี้ ภายในงาน DTI ยังมีผลงานพัฒนาอื่น ๆ ที่นำมาจัดแสดงอีกมากมาย อาทิ อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) ระบบจำลองยุทธ์ (UAV Simulator) จรวดขนาด 122 ม.ม. สำหรับฝึก D10A กระสุนขนาด 30 มม. รถสายพาน ความพิเศษ อีกอย่างคือการแสดงแบบจำลองของรถสายพาน Type 85 ที่ติดตั้งแท่นยิงจรวดขนาด 122 มม. เป็นครั้งแรกที่นี่อีกด้วย
สำหรับงาน Defense & Security 2015 เป็นงานแสดงอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีทางด้านการรักษาความปลอดภัย หัวใจสำคัญของงานก็คือการนำผู้แทนด้านอาวุธชั้นนำจากประเทศต่าง ๆ เกือบ 100 บริษัท มาจัดแสดงให้หน่วยงานทางด้านการทหารได้ชมเทคโนโลยี สมรรถนะ ของอุปกรณ์แต่ละชนิดที่จะนำมาใช้งานด้านรักษาความปลอดภัย ป้องกันประเทศของแต่ละประเทศกัน ซึ่งปีนี้จัดงานภายใต้แนวคิด “The Power of Partnership” ให้น้ำหนักกับการร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาวิจัยงานด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยีป้องกันประเทศ
……………………………………………………….