เครื่องรางจักสานล้านนา-เรืออัตลักษณ์น่านภูมิปัญญา ความศรัทธา สร้างอาชีพให้ชุมชน
แรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน บางคนอาจสร้างเม็ดเงินจากความชอบและหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ยังมีอีกสาเหตุที่สามารถก่อเกิดเป็นอาชีพและสร้างความยั่งยืนได้ นั่นคือการต่อยอดภูมิปัญญาที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ แล้วนำมาสืบสานอย่างรู้คุณค่า เช่นเดียวกับคนในชุมชนวัดกู่เสี้ยว ที่เรียนรู้ว่าวัฒนธรรม ความศรัทธา ความเชื่อนั้นสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าได้อย่างน่าสนใจ รวมทั้งการนำ เรืออัตลักษณ์น่าน มาจำลองเป็นสินค้าของฝากของที่ระลึก ตลอดจนสร้างสรรค์รูปแบบสินค้าและบริการใหม่ๆ ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักในคุณค่าภูมิปัญญาบ้านเกิดของคนน่านได้อย่างแท้จริง
ไม่ใช่เพียงสินค้าในกลุ่มเกษตรเท่านั้นที่ได้รับจัดการองค์ความรู้ โดยศูนย์ความรู้กินได้ ซึ่งก่อตั้งจากความร่วมมือของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. (OKMD) และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ที่สืบเนื่องจากวัฒนธรรมและความเชื่อท้องถิ่นที่พร้อมสร้างสรรค์ให้เป็นสินค้าของชุมชนได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะ “ตะแหล๋ว” เครื่องรางจักสานล้านนา จากชุมชนวัดกู่เสี้ยว
ผู้แทนชุมชนวัดกู่เสี้ยว โดยพระครูธรรมธร จิรพงศ์ ชยลงฺกาโร เจ้าอาวาสวัดกู่เสี้ยว ซึ่งเป็นผู้ศึกษาข้อมูลเรื่องเครื่องรางของขลังล้านนาไว้อย่างเพียบพร้อมและยังมีชื่อเสียงในด้านเครื่องรางของขลัง เผยถึงตำนานของเครื่องรางจักสานล้านนาว่า คนล้านนามีความเชื่อในเรื่องต่างๆ และยึดถือนำมาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งเครื่องรางหรือของขลังก็เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวสิ่งหนึ่ง แต่ยังไม่มีการประกอบเป็นอาชีพผลิตเครื่องรางของขลังอย่างจริงจัง ในขณะที่ชาวบ้านล้านนาเองมีองค์ความรู้เรื่องการจักสานไม้ไผ่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คนในชุมชนจึงอยากนำเสนอกระบวนการจักสานพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์แล้วสอดแทรกพลังความศรัทธาเข้าไปอย่างกลมกลืน
“ชาวเหนือ เราใช้เครื่องรางจักสานกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะตะแหล๋วหรือเฉลว ที่ถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมทางการเกษตรเพื่อเรียกขวัญกำลังใจ หรือหมอยานำมาปักไว้ที่หม้อยาเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้เกิดกับคนไข้ ตลอดจนการนำมาติดประดับประดาสถานที่ เพื่อจุดประสงค์ในการป้องกันภัยหรือเคราะห์ร้ายต่างๆ สังเกตว่าภายหลังเสร็จสิ้นงานพิธีกรรมในโบสถ์ พุทธศาสนิกชนต่างแสดงความจำนงค์ขอตะแหล๋วกลับไปด้วย บ้างนำไปติดที่บ้านหรือสถานที่ต่างๆเพื่อสร้างความมั่นคงทางจิตใจ เราจึงนำตะแหล๋วมาจำลองให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้สามารถพกพาได้อย่างสะดวกมากขึ้น แล้วจำหน่ายเป็นสินค้า แถมยังช่วยชุบชีวิตมรดกทางปัญญาที่กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลาได้อีกด้วย”
กิตติกรณ์ สมยศ นักจัดการความรู้ตามแนวทางศูนย์ความรู้กินได้น่าน กล่าวว่า คนในชุมชนสามารถนำองค์ความรู้ทำมาหากินเรื่อง “เครื่องรางจักสานล้านนา” ไปใช้ปรับเป็นสินค้ารูปแบบอื่นๆได้อีกมากมาย และน่าจะมีส่วนส่งเสริมให้เกิดรูปแบบเส้นทางท่องเที่ยวตำบลดู่ใต้ได้มากขึ้น ซึ่งภายหลังจากการพูดคุยปรึกษาและเก็บข้อมูลจากชาวบ้านชุมชนวัดกู่เสี้ยวแล้ว พวกเขามองเห็นโอกาสสร้างอาชีพให้กับคนที่ไม่มีงานทำ เพราะลงทุนตั้งต้นไม่เกิน 1,000 บาท ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยากและอุปกรณ์จำนวนไม่มากนัก รวมถึงยังช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติและเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรอย่างไม้ไผ่ ต้นส้มป่อย ฯลฯ ด้วยการผลิตเป็นสินค้าเครื่องรางจักสานออกมาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจ
“ปัจจัยสู่ความสำเร็จ นอกจากเครื่องรางจักสานต้องมีคุณภาพ แข็งแรง และสวยงามแล้ว จำเป็นต้องสร้างเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในเครื่องรางนั้นๆเพื่อเพิ่มความขลังและน่าเชื่อถือมากขึ้นผ่านปราชญ์ชาวบ้านและคนในชุมชน อีกทั้งยังสามารถสร้างลูกเล่นทางการตลาดด้วยการให้นักท่องเที่ยวนำเครื่องรางนั้นเข้าทำพิธีด้วยตนเองก็ยิ่งจะกระตุ้นความสนใจในผลิตภัณฑ์มากขึ้นได้ ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ผ้า ด้วยการนำมาเป็นบรรจุภัณฑ์ถุงผ้าล้านนาก็ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือกระบวนการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดภูมิปัญญาไม่ให้ถูกลืมเลือนนั่นเอง ซึ่งโครงการในปีหน้า (2559) จะเปิดอบรมกรรมวิธีผลิตเครื่องรางจักสานให้กับเยาวชนและคนในชุมชนด้วย”
และอีกหนึ่งตัวอย่างของการพัฒนาองค์ความรู้เป็นเงิน และนับเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนน่านอย่างแท้จริง นั่นคือ เรืออัตลักษณ์น่านจำลอง ซึ่งเป็นการนำประเพณีที่สืบต่อกันมายาวนานอย่างการแข่งเรือที่มีประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่นมาต่อยอดพัฒนาแนวความคิดใหม่เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และการบริการที่จะสร้างเอกลักษณ์ทางการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดน่านได้เลยทีเดียว
คนน่านมีความผูกพันกับแม่น้ำน่านมาตั้งแต่อดีต มีประเพณีแข่งเรือที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเยี่ยมชมทุกปี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป รูปแบบการสร้างเรือก็ต้องปรับเปลี่ยนตาม ต้องทำให้เรือมีน้ำหนักเบาให้มากที่สุด ซึ่งตรงกันข้ามกับเรือแข่งโบราณที่มีขนาดใหญ่ โดยใช้ไม้สักทั้งท่อนนำมาขุดเป็นท้องเรือ จึงทำให้มีน้ำหนักมาก อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการแกะสลักส่วนหัวเรือและท้ายเรือเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นเหตุให้คนในชุมชนเริ่มตระหนักถึงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไว้ไม่ให้สูญหาย หวังจะสืบสานให้ลูกหลานได้เห็น จึงเกิดแนวคิดผลิตเป็นเรืออัตลักษณ์น่านจำลองหลายขนาดเพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกนักท่องเที่ยว ตามแหล่งค้าสำคัญอย่าง หออัตลักษณ์น่าน ซึ่งเป็นศูนย์กลางบริการข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น
นอกจากนั้น นักจัดการความรู้ตามแนวทางศูนย์ความรู้กินได้น่าน ยังเผยทิศทางการพัฒนาต่อว่า โปรเจคถัดไปก็จะพัฒนาสู่สินค้าและบริการอื่นๆ อาทิ พวงกุญแจ ดิสเพลย์หน้าร้านก๋วยเตี๋ยวเพื่อดึงดูดใจผู้บริโภค พร้อมทั้งตั้งใจจะรื้อฟื้นความงดงามในอดีตกลับมา ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันของคนน่านสร้างเรือโบราณขนานแท้เพื่อนำมาใช้แข่งขันร่วมกับเรือแข่งปัจจุบัน รวมทั้งมุ่งให้ความรู้พัฒนาทักษะการผลิตเรืออัตลักษณ์น่านจำลองแก่ผู้สนใจเพื่อจะได้นำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคตอีกด้วย
ทั้งสองกรณีศึกษา สะท้อนให้เห็นว่า ทางเลือกในการประกอบอาชีพนั้นมีมากมาย แต่การที่เรามีต้นทุนในมืออยู่แล้ว นั่นคือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และพร้อมจะพัฒนาต่อยอดทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก กลับกลายเป็นโอกาสที่อยู่ใกล้เพียงเอื้อมมือและมันคือโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืนของชุมชน