วิศวลาดกระบัง ลงนามกับแพทยศาสตร์ศิริราชฯ ม.มหิดลและม.รังสิต พัฒนาชีวการแพทย์

0
431
image_pdfimage_printPrint

คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. โดย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีและ รศ.ดร.ชูชาติ ปิณฑวิรุจน์ ผู้แทนหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.นพ.วรชัย ศิริกุลชยานนท์ รักษาการคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย เพื่อพัฒนาด้านงานวิชาการ งานวิจัยและงานบริการวิชาการด้านวิศวกรรมฟื้นฟูและกายอุปกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็ง มีงานวิจัยที่ได้มาตรฐานระดับชาติและระดับสากลสำหรับการให้บริการผู้ป่วยและผู้พิการทุพพลภาพ รวมทั้งการนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้กับผู้พิการทุพพลภาพทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือคนพิการของประเทศไทย ณ ห้องประชุมชั้น 2 โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมชีวการแพทย์ (ฺBio Medical Engineering) เพื่อผลิตบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้สภาวะของประชากรโลกได้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยแล้ว โดยในปี พ.ศ.2555 โลกมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ประมาณร้อยละ 8 ของประชากรโลกทั้งหมด 7,000 ล้านคน ซึ่งในระดับอาเซียนมีเพียงประเทศไทยและสิงคโปร์เท่านั้นที่เข้าสู่สังคมสูงวัย(Aging Society) โดยประเทศไทยเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงวัย (60 ปีขึ้นไป) ข้อมูลจากการทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2556 มีจำนวนผู้สูงวัย 8,970,740 คน หรือประมาณร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 ภายใต้ข้อสมมติภาวะเจริญพันธุ์ลดลง ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), 2556 ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า ในอีก 7 ปีข้างหน้า (ปี พ.ศ. 2564) ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่า 13 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 หรือประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ กล่าวได้ว่า ประชากรทุก 5 คน จะเป็นผู้สูงวัย 1 คน และจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี พ.ศ. 2574 โดยในราวปี พ.ศ.2561 จะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่จะมีประชากรสูงวัยมากกว่าประชากรวัยเด็ก

การที่สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ผลที่ตามมา ได้แก่ การเจ็บป่วยและพิการจะมีจำนวนมากขึ้น ผู้อยู่ในวัยแรงงานลดลง และต้องรับภาระมากขึ้นในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ จากสำมะโนประชากรและเคหะ พบว่า อัตราส่วนการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ มีแนวโน้มลดลง โดยปี 2523 ประเทศไทยมีอัตราส่วนเกื้อหนุนผู้สูงอายุเท่ากับ 10 คน และลดลงเหลือเพียง 7 คน ในปี 2543 แสดงว่าปี 2543 คนที่อยู่ในวัยแรงงานเพียง 7 คนต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุจำนวน 1 คน อัตราการเกื้อหนุนผู้สูงอายุที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ เพราะถ้าคนในวัยแรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประเทศไม่เพียงพอ ย่อมจะมีผลกระทบต่อการจัดหาสวัสดิการต่างๆ ให้ผู้สูงอายุในอนาคตด้วยเช่นกัน ทุกภาคส่วนจึงต้องเตรียมการล่วงหน้าให้พร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขที่ต้องเตรียมการสำหรับผู้สูงอายุ

ความร่วมมือในงานวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ของ 3 องค์กรครั้งนี้ เพื่อผสานองค์ความรู้ในการพัฒนาความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมฟื้นฟู การแพทย์และกายอุปกรณ์ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนคนไทย และนับเป็นสิ่งที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงสังคมที่เปี่ยมความเมตตาอาทรในการเอาใจใส่ดูแลรักษาสุขภาพผู้สูงวัยและผู้เจ็บป่วยพิการ ที่เปรียบเหมือนเป็นเครื่องจักรที่ได้ถูกใช้งาน สร้างประโยชน์แก่ครอบครัว สังคมชุมชนและประเทศชาติ มายาวนาน และควรเข้ารับการซ่อมบำรุงดูแลอย่างมีคุณภาพ