ไอบีเอ็มชี้ ผู้นำรุ่นใหม่ควรจะปรับตัว ในยุคที่เศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงถึงกัน เผยผลสำรวจซีอีโอยอมรับวัฒนธรรมที่มีการเชื่อมถึงกันมากขึ้น

0
323
image_pdfimage_printPrint

ไอบีเอ็มชี้แนวโน้มทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกไปสู่ยุคที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงถึงกันอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น (connected economy)  กระแสของการทำธุรกิจแบบไร้พรมแดน หรือ globalisation และความก้าวหน้าทาง technology ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสื่อสาร การแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้คน และวิธีการทำงาน เรากำลังเข้าสู่ภาวะที่สังคม เศรษฐกิจ และ ธุรกิจเชื่อมโยงถึงกันได้หมด ทำให้โลกก้าวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ รวมทั้ง AEC 2015 ที่กำลังเกิดขึ้นในอีก 3 ปี ข้างหน้าทำให้ธุรกิจไทยต้องปรับตัว หาแนวทางใหม่ เพื่อสร้างความความเติบโต และแข่งขันได้ ในตลาดโลก ในโอกาสครบ 60 ปี ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จึงได้นำเสนอ ผลการสำรวจความคิดเห็นครั้งสำคัญ ของซีอีโอทั่วโลก กว่า 1,700 คนจาก 64 ประเทศและ 18 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งระบุว่าบรรดาผู้บริหารระดับซีอีโอกำลังเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานด้วยการเพิ่มความโปร่งใส การเปิดกว้าง และขยายขีดความสามารถของพนักงาน เพื่อปรับเปลี่ยนจากแนวทางการสั่งการและควบคุมแบบเดิมๆ ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารที่ถูกใช้ในองค์กรยุคใหม่มานานกว่าหนึ่งศตวรรษ การชี้ทิศทางธุรกิจดังกล่าวนี้ จะเป็นประโยชน์กับนักธุรกิจในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการนำพาองค์กรให้สามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ดำเนินธุรกิจมาครบ 60 ปี ในปีนี้ จากการที่ไอบีเอ็มเป็นองค์กรของความก้าวหน้า และมีปณิธานที่แน่วแน่ในการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยที่คิดค้นสร้างสรรค์มาช่วยให้องค์กรธุรกิจ และโลกของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย องค์กร และภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้แก้ไขปัญหาที่ท้าทายและซับซ้อน พร้อมทั้งเสริมสร้างศักยภาพในด้านต่างๆ ด้วยหลักการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานและค่านิยมของเราในการสร้างความก้าวหน้าให้กับลูกค้า พันธมิตร และตอบแทนให้กับประเทศชาติ”

นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจแล้ว ไอบีเอ็มยังทำงานเคียงคู่ลูกค้าและพันธมิตร สิ่งหนึ่งที่ไอบีเอ็มภาคภูมิใจคือ การมอบองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจที่โดดเด่น จากสถาบันเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBM Institute for Business Value) ที่ประกอบไปด้วยทีมนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ กว่า 50 คน ทำการศึกษาวิจัย และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อชี้ให้เห็นถึงสภาวะธุรกิจในอนาคต ความท้าทาย และวิธีการเตรียมความพร้อมและรับมือกับปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้น  ผลงานจากหน่วยงาน IBV นี้ช่วยให้ผู้บริหารได้มุมมองและข้อมูลใหม่ในการทำธุรกิจในอนาคต ช่วยให้ข้อมูลว่าธุรกิจต้องเผชิญกับอะไรบ้าง และควรที่จะรับมืออย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น

การนำเสนอแนวคิดของซีอีโอ ครั้งนี้เป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำของไอบีเอ็ม ด้านนวัตกรรมการทำธุรกิจ ที่นำมาถ่ายทอดให้กับนักธุรกิจไทย ผลการศึกษาของไอบีเอ็มเผยให้เห็นว่าเทคโนโลยีถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร โดยซีอีโอกว่าครึ่งหนึ่งทั้งจากทั่วโลกและในอาเซียน  มีแผนที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสะดวกในการร่วมมือและประสานงานกับองค์กรภายนอก ในขณะที่ 47 เปอร์เซ็นต์ ของซีอีโอในอาเซียน  กำลังปรับเปลี่ยนการมุ่งเน้นเพื่อส่งเสริมการประสานงานร่วมกันภายในองค์กรอย่างเหมาะสม

แนวโน้มดังกล่าวซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีข้อดีที่เห็นได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ ผลการสำรวจความคิดเห็นซีอีโอของไอบีเอ็ม (IBM CEO Study) ชี้ว่า บริษัทที่มีผลประกอบการดีกว่าบริษัทอื่นๆ มีแนวโน้มมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ที่จะระบุว่าการเปิดกว้าง (Openness) ซึ่งหมายถึงการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญในการประสานงานและสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน ถือเป็นปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อองค์กรของตน  ปัจจุบัน ผู้บริหารซีอีโอกำลังปรับใช้รูปแบบใหม่ในการทำงาน โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกภายในองค์กรและเครือข่ายเพื่อคิดค้นแนวคิดและโซลูชั่นใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลกำไรและขยายธุรกิจให้เติบโต

ผลสำรวจพบว่า ซีอีโอจะเปลี่ยนจากการใช้อีเมลและโทรศัพท์ที่เดิมเป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร เพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้า คู่ค้า และพนักงานรุ่นใหม่ในอนาคต โดยหันไปใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นช่องทางใหม่สำหรับการติดต่อสื่อสารโดยตรง  ปัจจุบันมีซีอีโอเพียงแค่ 16 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลบิสซิเนส (Social Business) เพื่อเชื่อมต่อกับลูกค้าแต่ละราย แต่คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 57 เปอร์เซ็นต์ภายในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า  แนวโน้มนี้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอาเซียน ทั้งนี้เพราะคาดว่าการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในอาเซียนจะเพิ่มเป็น 68 เปอร์เซ็นต์จากอัตราปัจจุบัน 25 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้บริหารซีอีโอในอาเซียนมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนจากการติดต่อสื่อสารรูปแบบเดิมๆ ไปสู่การใช้โซเชียลมีเดีย ควบคู่ไปกับการติดต่อพบปะกันเป็นการส่วนตัว

 

หลังจากที่องค์กรต่างๆ ใช้ระบบควบคุมจากระดับบนสู่ระดับล่างมานานหลายทศวรรษ การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะแตกแขนงครอบคลุมหลายๆ แง่มุม ไม่ใช่เพียงแค่ซีอีโอเท่านั้น แต่ครอบคลุมทั้งในส่วนขององค์กร ผู้จัดการ และพนักงาน รวมไปถึงมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทางด้านธุรกิจ และผู้ผลิตเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

ผู้บริหารซีอีโอตระหนักว่าการควบคุมสั่งการอย่างเข้มงวดไม่ได้ช่วยส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการปรับปรุงผลประกอบการด้านการเงิน  ผู้บริหารเหล่านี้พบว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาสามารถรองรับการประสานงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารซีอีโอในภูมิภาคอาเซียนสามารถใช้ประโยชน์จากโซเชียลเน็ตเวิร์กและมุ่งเน้นการประสานงานร่วมกันทั้งภายในและภายนอกองค์กรร่วมกับลูกค้าและคู่ค้า”

 

การเปิดกว้างที่เพิ่มขึ้นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงตามมา และทำให้เกิดช่องโหว่เพิ่มมากขึ้น  อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซเชียลเน็ตเวิร์ก สามารถรองรับการติดต่อสื่อสารของพนักงานทั่วโลก ไม่ว่าในแง่บวกหรือแง่ลบ  ดังนั้นพนักงานจึงต้องผสานรวมค่านิยมและพันธกิจขององค์กรเข้าไว้ในสภาพแวดล้อมดังกล่าว เพื่อให้องค์กรดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และด้วยเหตุนี้ องค์กรจะต้องจัดหาแนวทางให้แก่พนักงาน เพื่อให้พนักงานสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในแต่ละวัน

 

ผู้บริหารซีอีโอในภูมิภาคอาเซียน มองว่าทักษะทางด้านมนุษยสัมพันธ์ในการประสานงานร่วมกัน จากความเห็นซีอีโอทั่วโลก 75 เปอร์เซ็นต์ อาเซียน 87 เปอร์เซ็นต์ และความคิดสร้างสรรค์  เป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยให้พนักงานประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น

 

นางพรรณสิรี กล่าวว่า “ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างมากขึ้น ผู้บริหารซีอีโอจึงพยายามมองหาพนักงานที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ โดยซีอีโอมุ่งเน้นการค้นหาพนักงานที่มีความสามารถในการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองและผู้อื่นในขณะที่ก้าวเดินไปข้างหน้า”

 

เพื่อสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ องค์กรต่างๆ จำเป็นที่จะต้องรับสมัครและว่าจ้างพนักงานที่สามารถทำงานเป็นทีมในสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง และขณะเดียวกัน ผู้บริหารจะต้องสร้างและสนับสนุนแนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยให้พนักงานประสบความสำเร็จ เช่น กระตุ้นให้มีการจัดตั้งทีมงานในลักษณะที่แปลกใหม่ ส่งเสริมเทคนิคการเรียนรู้จากประสบการณ์ และเสริมสร้างการใช้เครือข่ายพนักงานที่มีประสิทธิภาพสูง

 

แนวโน้มของการประสานงานร่วมกันอย่างกว้างขวางมากขึ้นครอบคลุมทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นอยู่ในระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  ทั้งนี้ กว่าสองในสามของซีอีโอทั่วโลก ที่ตอบแบบสอบถามของไอบีเอ็มมีแผนที่จะขยายความร่วมมืออย่างกว้างขวาง  ในอาเซียน ตัวเลขนี้อยู่ในระดับสูงกว่าที่ 79 เปอร์เซ็นต์ โดยซีอีโอในภูมิภาคนี้มีเป้าหมายที่จะร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อย่างกว้างขวางภายใต้กลยุทธ์หลักในการสร้างสรรค์นวัตกรรม

 

ข้อมูลอื่นๆ ที่พบจากการสำรวจ นับตั้งแต่ที่ไอบีเอ็มเริ่มต้นสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอเป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีที่แล้ว พบว่าซีอีโอหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบัน 71 เปอร์เซ็นต์ของซีอีโอทั่วโลกมองว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะส่งผลกระทบต่ออนาคตขององค์กรในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยนับเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกว่าสภาพเศรษฐกิจและสภาพตลาด

 

ปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่ต้องรับมือกับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้บริหารซีอีโอจึงตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ (Business Analytics) ที่ก้าวล้ำ เพื่อกลั่นกรองข้อมูลที่ถูกตรวจสอบติดตามทางออนไลน์ บนสมาร์ทโฟน และบนไซต์โซเชียลมีเดีย  เจ็ดในสิบของซีอีโอ กำลังดำเนินการลงทุนอย่างจริงจัง เพื่อกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลูกค้าจากข้อมูลดิบที่มีอยู่

 

แม้ว่าผู้บริหารซีอีโอในอาเซียน 68 เปอร์เซ็นต์เห็นพ้องต้องกันว่า เทคโนโลยี เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรของตน แต่ขณะเดียวกัน ผู้บริหารจากทั่วโลก: 69 เปอร์เซ็นต์ ผู้บริหารในอาเซียน 87 เปอร์เซ็นต์ก็มองว่าทักษะ เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุด รองลงมาคือ ปัจจัยเกี่ยวกับตลาด   ทักษะของบุคลากรยังคงอยู่ในอันดับที่สูงกว่าสำหรับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ขณะที่ภูมิภาคนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะความชำนาญ  ผู้บริหารในภูมิภาคอาเซียน 72 เปอร์เซ็นต์ ยังระบุด้วยว่าทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนสำหรับองค์กร ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่าจะมีความต้องการที่สูงมากสำหรับบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในภูมิภาคอาเซียน