ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ชูการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอลทีวีของไทยเป็นการมุ่งไปสู่ความเป็นสากล และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลในอนาคต
พันเอกดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “Traditional TV VS. Alternative Screen: Challenges and Opportunities” ในงานวันสื่อสารแห่งชาติ ก้าวสู่อนาคตโลกดิจิตอล จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ว่าระบบการแผ่ภาพ และกระจายเสียงของไทยกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากระบบอานาล็อค ไปสู่ระบบดิจิตอล ที่มีความเป็นสากลและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีอิสระในการสร้างสรรค์ และพัฒนาคอนเทนต์ได้หลากหลาย สามารถตอบสนองผู้ชมได้โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งผู้ประกอบการที่มีการพัฒนาคอนเทนต์ที่ดีในระบบ Traditional TV แล้ว ก็จะสามารถต่อยอดไปสู่การทำ Alternative Screen ที่เป็นธุรกิจที่ต่อเนื่องกันได้ พร้อมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจ และการแข่งขันใหม่ขึ้นมา ที่สำคัญคือทางผู้ประกอบการต้องมีการพัฒนาคอนเทนต์ให้มีความน่าสนใจ มีการริเริ่มสร้างสรรค์ และมีความสดใหม่อยู่เสมอเพื่อสามารถเข้าสู่การแข่งขันในโลกธุรกิจได้
นายจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “Traditional TV VS. Alternative Screen: Challenges and Opportunities”ว่า ในยุคที่เทคโนโลยีด้านมือถือ และอุปกรณ์พกพาอย่างแท็บเล็ตมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างมาก และในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ทราบข้อมูลของผู้รับชมคอนเทนต์ผ่านอุปกรณ์ดังกล่าวได้ว่า มีความชอบ และสนใจเรื่องใดบ้าง ซึ่งถือเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจใหม่ๆได้
ขณะที่นายกิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจซอฟต์แวร์ บริษัท ไอทีเอ็ม ประเทศไทย จำกัดกล่าวเสริมว่าการที่ผู้ประกอบการมีข้อมูลของผู้ชม ทำให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาคอนเทนต์ตอบสนองผู้บริโภคได้ดีขึ้น ทำให้สามารถสร้าง Alternative Screen และธุรกิจ
E-Commerce ร่วมกันได้ ดังนั้นอนาคตผู้ประกอบธุรกิจด้าน Broadcasting จะควบรวมการทำธุรกิจด้านการให้บริการข้อมูลของผู้ชม และ E-Commerce เข้าไปด้วย คงจะไม่ได้ทำธุรกิจด้าน Broadcasting อย่างเดียว
นอกจากนี้ ผศ. ดร. ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ผู้แทนสำนักงาน กสทช. ให้ความเห็นว่า ในประเด็นเรื่องการควบคุมดูแล ผู้ประกอบการ และรูปแบบคอนเทนต์ต้องมีความสุมดุล ไม่มากจนกลายเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ หรือโอกาสทางธุรกิจ และไม่น้อยเกินไปจนทำให้มีการละเมิดความเป็นส่วนบุคคล และได้ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ธุรกิจด้าน Broadcasting เจริญเติบโตอยู่ในแถวหน้าของเอเชีย และสามารถผลิตคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เห็นได้จากที่ ประเทศจีน ลาว และสิงคโปร์ ก็ยังดูเกมส์โชว์ และละครไทย ส่วนในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของไทยก็อยู่ในลำดับต้นๆ ของเอเชีย
อย่างไรก็การควบคุมคอนเทนต์ และผู้ให้บริการที่ค่อนข้างจะคาบเกี่ยวกันในเรื่องของพรมแดน และรูปแบบการทำธุรกิจที่แยกออกจากกันลำบาก เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปมากจนผู้ชมสามารถรับชมคอนเทนต์ที่ตัวเองต้องการได้ทั่วโลก แต่บางคอนเทนต์ก็อาจจะถูกควบคุมโดยกฎหมายบางประเทศ หรือถูกห้ามเผยแพร่ ซึ่งยังเป็นปัญหาของรัฐบาลทุกประเทศในการควบคุมการเผยแพร่คอนเทนต์ต่างๆ และการให้คำนิยามเรื่องผู้ประกอบการด้าน Broadcasting ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และระบบการจัดเก็บข้อมูล Cloud ไว้เผยแพร่ให้กับผู้ใช้นั้น จะถือเป็นผู้ประกอบการ Broadcasting ด้วยหรือไม่ และทางกสทช.ต้องออกกฎหมายมาควบคุมผู้ให้บริการเหล่านี้เหมือนกัน ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน โดยทางผู้ดำเนินรายการ ดร. สุธรรมกล่าวว่า คงต้องรอให้กฎหมายดิจิตอลทั้ง 8 ฉบับเสร็จสิ้นเสียก่อน แล้วจะมีการมาประชุมหารือในประเด็นนี้อีกครั้ง