เปิดโรดแมบกรมป่าไม้ลุยตัดยางรุกป่าสงวนฯ 65 จังหวัด

0
363
image_pdfimage_printPrint

เปิดโรดแมบกรมป่าไม้ลุยตัดยางรุกป่าสงวนฯ 65 จังหวัด
ตั้งเป้า6เดือน4แสนไร่แก้ราคายางตกต่ำเพาะกล้าไม้60ล้านต้นฟื้นฟูสภาพ

นาย ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า กรมป่าไม้ ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายที่จะเข้าดำเนินการโค่นตัดฟันยางพาราที่บุกรุกป่า สงวนแห่งชาติเพื่อยึดคืนพื้นที่กลับมาจากนายทุนจำนวน 4.4 ล้านไร่ ใน 65 จังหวัดโดยเป้าหมายลำดับ 1 มี 12 จังหวัด คือ เชียงราย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ บึงกาฬ เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำพู อุดรธานี อุบลราชธานี พังงา และพัทลุง จำนวน 200 ป่า เนื้อที่ 250,000 ไร่ เป้าหมายลำดับ 2 มี 12 จังหวัด คือ จันทบุรี ระยอง กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี จำนวน 292 ป่า เนื้อที่ 150,000 ไร่ และเป้าหมายลำดับ 3 จำนวน 41 จังหวัด คือ นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี ปัตตานี ฉะเชิงเทรา อำนาจเจริญ พะเยา ขอนแก่น ชลบุรี ชัยภูมิ นครพนม ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ ภูเก็ต ลำปาง ตราด บุรีรัมย์ กำแพงเพชร ยโสธร สุโขทัย สระแก้ว เพชรบุรี มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ตาก เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ลำพูน สุพรรณบุรี แพร่ สุรินทร์ นครราชสีมา ปราจีนบุรี ราชบุรี แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ มหาสารคาม ลพบุรี สระบุรี และชัยนาท จำนวน 505 ป่า เนื้อที่ 50,000 ไร่ เบื้องต้นภายในเดือน พ.ค.จะเอาคืนให้ได้ 40,000 ไร่ มิ.ย.55,000 ไร่ ก.ค. 55,000 ไร่ ส.ค. – ธ.ค.เดือนละ 50,000 ไร่ โดยปีนี้ ตั้งเป้าจะยึดคืนก่อน 4 แสนไร่
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า กรมป่าไม้ มีข้อมูลในพื้นที่ทั้ง 65 จังหวัดแล้วว่า พื้นที่ไหน มีการบุกรุกบ้าง โดยกรมป่าไม้จะเอาข้อมูลไปรวมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) เพื่อดำเนินการร่วมกัน สำหรับพื้นที่ ที่ได้ดำเนิการไปก่อนหน้านี้แล้ว อยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อเตรียมปรับพื้นที่ให้กลับกลายเป็นป่าธรรมชาติดั้งเดิมมากที่สุด และได้เปลี่ยนวิธีการใหม่ จากเดิมที่ต้องฟันทิ้งทั้งหมด ที่อาจจะทำให้กลายเป็นที่ดินโล่งได้นั้น ก็เปลี่ยนเป็นการตัดทีละแถวเว้นแถว และค่อยๆปลูกพืชท้องถิ่นเสริมเข้าไปโดยขณะนี้กรมป่าไม้ได้เพาะชำกล้าไม้เอา ไว้ 60 ล้านต้น เป็นไม้พะยูง 10 ล้านต้น ไม้สัก 10 ล้านต้น ไผ่ 1 ล้านต้น ที่เหลือเป็นไม้พื้นถิ่นอื่นๆ เช่น มะค่า ไม้แดง ไม้ยาง เป็นต้น
เมื่อถามว่าสวนยางที่บุกรุกป่าสงวนฯ และสามารถกรีดน้ำยางได้แล้ว จะปล่อยให้ชุมชนข้างเคียงเข้าไปกรีดเพื่อหาผลประโยชน์ได้อีกหรือไม่ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว ขณะนี้ รัฐบาลมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาราคาน้ำยางตกต่ำ โดยการลดปริมาณน้ำยางในตลาด นั่นคือ ทำให้สวนยางพาราที่ปลูกในพื้นที่ป่าสงวนฯ และป่าอนุรักษ์หมดไป ซึ่งจะส่งผลให้น้ำยางในท้องตลาดมีปริมาณน้อยลง และราคาสูงขึ้น
///////////////