คุณเคยเบื่อไหม.. ที่จะต้องทำอะไรซ้ำๆในทุกวัน ตื่นนอนตอนเช้า นั่งรถหลายต่อ เพื่อเข้างานให้ทันเวลา นั่งประจำที่โต๊ะตัวเดิม กดๆ พิมพ์ๆ บนแป้นสีดำจนหมดเวลางาน แล้วก็ฝ่ารถติดเพื่อกลับบ้าน เพียงเท่านี้ก็แทบทำให้คุณหมดไฟในการทำงาน คุณรู้มั้ยว่าปัจจุบันเทรนด์การทำงานบนโต๊ะทำงานตัวเดิม บรรยากาศเดิมๆ กับอุปกรณ์การทำงานแบบเดิมที่ต้องลากสาย LAN สายโทรศัพท์ที่ยุ่งเหยิงในสถานที่ทำงานกำลังหมดไป?
ดูเหมือนจะมีคนบางกลุ่มเห็นช่องทางจากเทรนด์นี้ทำธุรกิจขายพื้นที่ พร้อมกับการให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือเรียกว่า “Co-Working Space” เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวา พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนใหม่ๆ ขยายกรอบความคิดให้กว้างขึ้น เติมความต้องการที่สถานที่อย่าง ‘บ้าน’ และ ‘ออฟฟิศ’ ทั่วไปไม่สามารถให้ได้ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ “ไม่จำเป็นต้องทำงานยึดติดกับสถานที่” ได้ตรงจุดยิ่งขึ้น Co-Working Space เกิดมาเพื่อผลักดันไลฟ์สไตล์แบบ Mobility Work ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในปัจจุบันกว่า 63% ของสถาบันธุรกิจขนาดใหญ่ต่างมองรูปแบบการทำงานลักษณะนี้เป็นโอกาสการทำเงินและการแข่งขันในตลาด และกว่า 71% ของนักธุรกิจเชื่อมั่นว่าควรให้ความสำคัญกับรูปแบบการทำงานเช่นนี้ (Business Plus, 2015) แต่คำถามสำคัญที่จะเกิดตามมาคือ จะทำอย่างไรให้การทำงานออนไลน์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมทุกจุดการทำงาน เข้าถึงโลกโซเชียลออนได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
ในเมื่อมีความต้องการการทำงานแบบ Mobility เพิ่มมากขึ้น ศักยภาพการให้บริการเพื่อการทำงานอย่างต่อเนื่อง และไม่สะดุดย่อมต้องเติบโตไปตามความต้องการ รูปแบบการใช้งานของอินเทอร์เน็ตสำหรับบ้านเรือนในปัจจุบันพัฒนาจากโฮมเน็ตเวิร์คสู่ระบบเน็ตเวิร์คแบบไร้สาย หรือที่เรียกว่าไวไฟ (Wi-Fi) 802.11 ส่วนสำคัญอยู่ที่ ไวร์เลส เราเตอร์ หรืออุปกรณ์ All-in-One เป็นอุปกรณ์ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และแชร์การใช้งานผ่านสายแลนและไวร์เลสไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป หรือสมาร์ทโฟน ปัจจุบันพัฒนาการของเทคโนโลยี Wireless LAN ได้พัฒนามาจนถึงความเร็วระดับกิกะบิต (1300Mbps) 802.11AC ซึ่งรองรับระบบงานได้อย่างหลากหลาย ด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อุปกรณ์ไวร์เลส เราเตอร์ รองรับจำนวนอุปกรณ์ที่เข้ามาเชื่อมต่อได้มากขึ้นด้วย