ซีพีไอฯ ผนึกกำลังศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มุ่งพัฒนาปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน

0
326
image_pdfimage_printPrint

ปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่นับว่ามีความสำคัญในธุรกิจน้ำมันพืชเพื่อการบริโภค                   และเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายอุตสาหกรรม โดยประเทศที่มีการส่งออกปาล์มน้ำมันเป็น             อันดับหนึ่งอย่างประเทศมาเลเซีย ได้มีการทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อวิจัยและพัฒนาด้านปาล์มน้ำมันอย่างจริงจัง สำหรับประเทศไทยที่มีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย และพืชพันธุ์เศรษฐกิจนานาชนิด งบประมาณด้านการวิจัยจึงถูกกระจัดกระจายออกไป ดังนั้นซีพีไอ อะโกรเทค จึงได้ร่วมมือกับ                 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร (ศทก.) วิจัยและพัฒนาปาล์มน้ำมัน ให้มีผลผลิตและคุณภาพสูงทัดเทียมกับต่างประเทศ

ศูนย์การเรียนรู้ปาล์มน้ำมันครบวงจร

นายโกศล นันทิลีพงศ์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด เปิดเผยว่า                 ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันประสบปัญหาขาดแคลนพันธุ์ต้นกล้าที่มีคุณภาพ จึงต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งมาเลเซีย คอสตาริกา และอินโดนีเซีย แต่เมื่อนำมาปลูกในบ้านเราแล้ว กลับให้ผลผลิตทั้งคุณภาพและปริมาณไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ทางซีพีไอ อะโกรเทค ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้ร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ( หรือ ศทก. ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  วิทยาเขตกำแพงแสน โดยมอบเงินสนับสนุนงานวิชาการ และงานวิจัยในเรื่องปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี เพื่อยกระดับให้การทำสวนปาล์มน้ำมันมีประสิทธิผลที่สูงขึ้นจากการเก็บข้อมูลในระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าต้นปาล์มบางแปลงมีผลผลิตสูงอย่างสม่ำเสมอ แสดงให้เห็นว่า ต้นปาล์มเหล่านี้สามารถปรับตัวได้ดี จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพแวดล้อม ตอนบนของจังหวัดชุมพร จนเป็นที่มาของปาล์มน้ำมันพันธุ์ลูกผสม “ ซีพีไอ ไฮบริด ” 

 

ด้าน ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า ความร่วมมือด้านงานวิจัยในเรื่องปาล์มน้ำมัน                         ระหว่างซีพีไอ อะโกรเทค และศทก. เปรียบได้กับการแต่งงานระหว่างการเกษตร และวิทยาศาสตร์                       ที่ส่งผลตอบแทนทั้งภาคเกษตรกรชาวสวนปาล์ม และอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย ด้วยความท้าทายของโจทย์ปัญหาจากหน้างานจริง ในการเฟ้นหาพันธุ์ปาล์มน้ำมันคุณภาพดี และการบริหารจัดการ                  สวนปาล์มน้ำมันอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ต้องหวังซื้อจากต่างประเทศ                                                    ตลอดจนความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี และการสนับสนุนทุนวิจัยจาก ซีพีไอ อะโกรเทค                          จวบจนปัจจุบัน ปาล์มน้ำมันของซีพีไอฯ มีผลผลิตสูงทัดเทียมกับมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้นำด้านปาล์มน้ำมัน ขณะที่พื้นที่ปลูกในจังหวัดชุมพร อยู่ในสภาพที่แล้งกว่าด้วยซ้ำ นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ                      ศทก. ที่สอดคล้องกับพันธกิจหลักในการมุ่งพัฒนา สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรไทย                            ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล

ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร                                                                       มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

 

 

 

ศ.ดร.สุนทรี ยิ่งชัชวาลย์ อาจารย์สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้รับผิดชอบงานวิจัยด้านการจัดการสวนปาล์มน้ำมันให้มีประสิทธิภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ เรื่องการจัดการสวนปาล์มถือว่ามีความสำคัญ  ไม่น้อยไปกว่าการเลือกสายพันธุ์ที่ดี ประกอบกับโจทย์ของปัญหาที่ชัดเจน ว่าจะทำอย่างไรให้ปาล์มน้ำมันของไทย มีผลผลิตและคุณภาพสูงทัดเทียมกับประเทศผู้นำด้านปาล์มน้ำมัน จึงเป็นที่มาของงานวิจัยเรื่องการจัดการสวนปาล์มน้ำมันให้มีประสิทธิภาพ โดยแรกเริ่มได้ศึกษาปริมาณการให้ปุ๋ย ศึกษาสภาพอากาศและสภาวะของน้ำ         ในดินที่มีผลต่อการเปิดปากใบ การสังเคราะห์แสงและการคายน้ำ ตลอดจนศึกษาศักยภาพการวัดแสงของใบปาล์มน้ำมัน เพื่อให้ทราบถึงระดับความเข้มของแสงที่ทำให้เกิดอัตราการสังเคราะห์แสงสูงสุด นำไปสู่การจัดการโรงเรือนให้ได้แสงตรงตามความต้องการของใบ เพื่อเพิ่มผลผลิต รวมทั้งการศึกษาการใช้น้ำของ                ต้นปาล์ม เพื่อให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละสภาพอากาศ และการศึกษาแนวทางในการออกแบบการตัดแถวต้นปาล์มน้ำมัน เพื่อไม่ให้ต้นปาล์มน้ำมันที่โตเกินไปเกิดการบังแดดกันเอง หรือเป็นการเพิ่มแสงให้แก่ต้นที่เหลือ นอกจากนี้งานวิจัยดังกล่าวยังช่วยปลูกวัฒนธรรมองค์กรในการอ้างอิงข้อมูลวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ในการจัดการสวน ตลอดจนเสริมสร้างทักษะในการใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เพื่อเก็บและสะสมข้อมูล

 

 

เพื่อการจัดการปัจจัยการผลิต ด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างบริษัทเอกชน และหน่วยงานวิชาการของรัฐฯ ในระยะเวลาที่ต่อเนื่องนี้ ทำให้ก้าวไปสู่โครงการปรับปรุงพันธุ์ และสร้างความสามารถในการผลิตเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันตามวิธีการสากลให้เกิดขึ้นในประเทศได้ นับเป็นความสำเร็จอีกประการหนึ่งของวงการเกษตรของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นวิถีที่สามารถแข่งขันในสากลได้ ” ศ.ดร. สุนทรี กล่าว

 

 

 

 

ศ.ดร.สุนทรี ยิ่งชัชวาลย์

อาจารย์สาขาวิชาพฤกษศาสตร์

คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ต่างๆที่ได้จากการทำวิจัยมาเป็นเวลานานกว่า 25 ปี ซีพีไอ อะโกรเทค จึงได้จัดตั้ง “ ศูนย์การเรียนรู้การปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ” ( CPI  Learning Center ) เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับให้ความรู้เกี่ยวกับปาล์มน้ำมันอย่างครบวงจร โดยรวบรวมองค์ความรู้ด้านสรีรวิทยาของปาล์มน้ำมันที่มากที่สุดในประเทศ ทั้งจากเอกสารทางวิชาการ  งานวิจัยของบริษัทฯ  และประสบการณ์จากการทำสวนปาล์มมากว่า 30  ปี ในพื้นที่สวนปาล์มกว่า  20,000  ไร่  ตลอดจนการจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมัน ให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์การเรียนรู้ฯ ตั้งอยู่ที่ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ผู้ที่สนใจเข้าอบรมสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์. 077 – 599 – 680 หรือwww.cpiagrotech.com