กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล เปิดตัวโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” พัฒนาการสอนการทดลองเคมี เพื่อเพิ่มศักยภาพเด็กไทย

0
959
image_pdfimage_printPrint

กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ และจังหวัดระยอง เปิดตัวโครงการ ห้องเรียนเคมีดาว เน้นการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการทดลองเคมี เพื่อเพิ่มประสบการณ์และศักยภาพนักเรียน โดยเริ่มที่จังหวัดระยองเป็นแห่งแรก

 JADE7381x1800

บริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 18   และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 ระยอง  ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือโครงการ ห้องเรียนเคมีดาว(DOW Chemistry Class) ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดเทคนิคการสอนปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนแก่ครูวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปพัฒนาการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการทดลองเคมีในโรงเรียน ให้นักเรียนปฏิบัติได้จริงอย่างปลอดภัยและเกิดทักษะทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง  อันจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในการศึกษาวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

 

นายจิรศักดิ์ สิงห์มณีชัย กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย กล่าวว่า   ดาว เคมิคอล เชื่อว่า “การศึกษา” เป็นรากฐานที่ทำให้เกิดนวัตกรรม จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เรายึดมั่นในพันธสัญญาที่จะพัฒนาการศึกษามาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง  โดยเฉพาะการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญยิ่งสำหรับการต่อยอดการพัฒนาประเทศของเรา

 

“ความเข้าใจในวิชาเคมีจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้อย่างมากมาย ซึ่งองค์ความรู้ในด้านเคมีนี้ก็ถือเป็นความสามารถในการแข่งขันของดาว เคมิคอล ในระดับโลกเช่นเดียวกัน เราสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเคมีด้วยหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งแก้ปัญหาที่ท้าทายยิ่งของโลก อาทิ ปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาด การผลิตและการอนุรักษ์พลังงาน และการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร  เราจึงเห็นความสำคัญของวิชาเคมี และการนำเอาวิชาเคมีเข้าสู่ห้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรม” คุณจิรศักด์กล่าวเสริม

 

โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” เป็นโครงการที่ให้การอบรมการสอนการทดลองเคมีและเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนในโรงเรียน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์จากการทำการทดลองได้อย่างมีสีสันมากยิ่งขึ้น และช่วยส่งเสริมให้เกิดการนำการทดลองมาสอนในห้องเรียนมากขึ้น ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้นักเรียนเกิดทักษะการสังเกต การจดบันทึก และการค้นคว้าเพื่อหาคำตอบ อันเป็นลักษณะสำคัญของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยสามารถนำแนวทางการสอนนี้มาต่อยอดและประยุกต์เข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ในปีแรกนี้จะมีสถาบันการศึกษาในจังหวัดระยองเข้าร่วมทั้งสิ้น 25 โรงเรียน

 

รศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า  “โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” นี้ ถือเป็นการส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาเคมี และเป็นประโยชน์ต่อผู้สอนวิทยาศาสตร์อย่างมากที่จะได้รับเทคนิคการสอนแนวใหม่ และนําไปถ่ายทอดสู่ผู้เรียนเพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีสีสัน สนุก และมีประสิทธิภาพ    โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว”  จะใช้วิธีปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้เคมีที่มีประสิทธิภาพสูงในขณะที่มีความปลอดภัยมาก  อีกทั้งช่วยให้การทดลองทางเคมีเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น  อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์พลาสติกที่ใช้กันแพร่หลายทางจุลชีววิทยา ชีวโมเลกุล เทคนิคการแพทย์ และนาโนเทคโนโลยี ซึ่งมีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับอุปกรณ์เครื่องแก้วที่ใช้ในการทดลองเคมีทั่วไป นอกจากนี้แล้ว ยังสามารถนำวัสดุขนาดเล็กอื่นๆ ที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน มาดัดแปลงใช้ในปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนได้ด้วย”

 

นายวราวุธ  ปิ่นเงิน  รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง  กล่าวว่า “ผมต้องขอขอบคุณกลุ่มบริษัทดาว เคมิคอล  ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษา และได้นำเอากระบวนการทดลองหรือการคิดวิเคราะห์ในเชิงวิทยาศาสตร์มาเสริมให้กับนักเรียนไทย ซึ่งในจุดนี้ผมมองว่าเด็กไทยยังขาดการเรียนรู้จากการทดลองลงมือทำจริง  และก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่งยวดที่โครงการนี้มานำร่องที่จังหวัดระยอง เพราะนั่นจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับเด็กนักเรียนของเราให้ได้รับการเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆ ในขณะเดียวกันครูของเราก็จะมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น และอาจต่อยอดไปแบ่งปันประสบการณ์นี้ให้กับครูในจังหวัดอื่นๆ รวมไปถึงในระดับภาคหรือประเทศ หากแนวทางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยตอบโจทย์การแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาไทยให้ดียิ่งขึ้นได้”

“ห้องเรียนเคมีดาว” แบ่งการดำเนินกิจกรรมออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การแนะนำการสอนการทดลองเคมีแบบปลอดภัย ส่วนที่ 2 การอบรมเชิงปฏิบัติการ: ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน   ส่วนที่ 3 การติดตามและประเมินการสอนการทดลองเคมีในโรงเรียนแบบปลอดภัย และส่วนที่ 4 การนำเสนอและรายงานผลการเรียนการสอน ซึ่งคาดว่าทั้ง 4 ส่วนจะใช้เวลาตั้งแต่ปลายปี 2556-2557