ผลวิจัยระบุโรงเรียนในไทยไม่มีการยอมรับนักเรียนที่ถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน และนักเรียนกลุ่มนี้ไม่ปลอดภัยในโรงเรียน

0
246
image_pdfimage_printPrint

ได้มีหลักฐานยืนยันเพิ่มมากขึ้นว่าในทุกภูมิภาคของโลกมีผู้คนจำนวนมากกำลังถูกกระทำรุนแรง เพราะวิถีทางเพศหรือเอกลักษณ์ทางเพศของพวกเขา ซึ่งสามารถเกิดขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อยในรูปแบบของการรังแก ทั้งทางกาย วาจา สังคม และเพศ ผลการศึกษาล่าสุดพบว่าไม่ได้มีเพียงแต่นักเรียนที่เป็นเลสเบี้ยน เกย์ คนรักสองเพศ หรือกะเทย (LGBT) เท่านั้นที่ตกเป็นเป้าหมายในการถูกรังแกในโรงเรียน แต่รวมถึงกลุ่มนักเรียนที่ถูกมองว่ารักเพศเดียวกัน หรือมีลักษณะข้ามเพศก็ถูกรังแกเช่นเดียวกัน

 

องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ยูเนสโกและมหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมมือกันดำเนินการศึกษาซึ่งใช้เวลาถึงหนึ่งปีเต็ม โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากโรงเรียนมัธยมของไทย 30 แห่งใน 5 จังหวัด ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ของนักเรียนจำนวนกว่า 2,000 คน รายงานชิ้นนี้ใช้หัวข้อว่า การรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกันในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา : รูปแบบ ความชุก ผลกระทบ แรงจูงใจ และมาตรการการป้องกันใน ๕ จังหวัดของประเทศไทย โดยจะมีการเปิดเผยผลการศึกษาในการประชุมระดับชาติเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันการรังแกต่อนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน ในวันที่ 4 ธันวาคมนี้

 

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบ ความชุก และผลกระทบของการรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกันในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ใน 5 จังหวัดของประเทศไทย และเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่ เพื่อป้องกันปัญหาการรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน  เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อ และการให้ผู้รังแกรับผิดชอบต่อพฤติกรรมการรังแกของตน ซึ่งผลการศึกษาพบว่าผู้ที่ถูกรังแกเกิดความเครียด ซึมเศร้า ไปจนถึงการพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งผลการศึกษาได้ตั้งข้อสังเกตว่า โรงเรียนล้มเหลวในการรับมือกับภัยคุกคามนี้ ซึ่งเด็กนักเรียนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองในการที่จะมีบรรยากาศการเรียนการสอนที่ปลอดภัย

 

คุณมหา คิวบาร์รูเบีย ผู้อำนวยการองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า  “ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นประเทศที่เคารพสิทธิ และให้ความเคารพซึ่งกันและกันของประชาชนทุกกลุ่ม และดูเหมือนจะเปิดกว้างและยอมรับคนรักเพศเดียว แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะกล่าวได้เช่นนั้น แต่ว่าก็ยังมีเยาวชนซึ่งถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน กำลังทุกข์ทรมานจากการถูกรังแกในโรงเรียนเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก”

 

“การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบ ความชุก และผลกระทบของการรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน และหามาตรการในการป้องกันการรังแก และให้การสนับสนุนผู้ถูกกระทำ”  คุณมหา คิวบาร์รูเบียกล่าว

 

วิธีการศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการสนทนากลุ่ม การสังเกตการณ์ และการสัมภาษณ์ ทั้งจากนักเรียน ครู และผู้บริหาร รวมถึงใช้การสำรวจในกลุ่มนักเรียนจาก 5 จังหวัดของประเทศไทย

 

ผลการศึกษาพบว่า เกือบหนึ่งในสาม (30.9%) ของนักเรียนที่ระบุตัวเองว่าเป็น LGBT รายงานว่าเคยมีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย ส่วนอีก 29.3% รายงานว่าถูกล่วงละเมิดทางวาจา และ 24.4% รายงานว่าตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ เพราะเขาเป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน และประมาณสองในสามของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้รายงานเหตุการณ์เหล่านี้หรือแม้กระทั่งพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้กับใครเลย

 

ผลจากการศึกษาได้ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบจากการถูกรังแก เกือบหนึ่งในสี่ (23%) ของผู้ที่ถูกรังแกเพราะเขาเป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกันต่างมีความรู้สึกซึมเศร้า ในขณะที่มีเพียง 6% เท่านั้นที่ไม่เคยถูกรังแกเลย อาการซึมเศร้าเช่นนี้สามารถนำไปสู่การทำร้ายตัวเองได้ และที่น่าตกใจที่สุดคือมีถึง 7% ของผู้ที่ถูกรังแกเพราะเขาเป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน ยอมรับว่าพวกเขาได้มีความพยายามที่จะฆ่าตัวตายในปีที่ผ่านมาอีกด้วย

 

“เห็นได้ชัดว่าผลกระทบจากการรังแกนั้นสามารถส่งผลต่อสภาพจิตใจให้เกิดความบอบช้ำ และยังคงติดตรึงไปอีกนาน” คุณจัสติน แซส หัวหน้าหน่วยส่งเสริมสุขภาพและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ประจำกรุงเทพฯ ขององค์การยูเนสโก กล่าวว่า “เราได้เห็นหลักฐานที่แสดงว่าการรังแกที่เกิดจากการเป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน สามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นการรังแกยังมีผลกระทบต่อภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล การสูญเสียความนับถือตนเองและความเชื่อมั่นในตนเอง การเก็บตัว และการโดดเดี่ยวทางสังคม”

 

“เราล้มเหลวในการส่งเสริมสิทธิของเยาวชนไทยที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน ในการที่จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ในบรรยากาศการเรียนการสอนที่ปลอดภัย” คุณจัสติน แซส กล่าว

 

ผลการวิจัยพบว่า การขาดมาตรการในการป้องกันและจัดการกับปัญหาการรังแกในกลุ่มนักเรียนทั่วไป ทำให้สถานการณ์ปัญหาการรังแกดำรงอยู่ และการขาดมาตรการดังกล่าวสำหรับกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน ยิ่งทำให้สถานการณ์การรังแกในเด็กนักเรียนกลุ่มนี้รุนแรงเพิ่มมากขึ้น การวิจัยครั้งนี้จึงได้ให้แนวทางมาตรการที่โรงเรียนสามารถนำไปจัดการกับสถานการณ์นี้ ซึ่งรวมถึงการคิดทบทวนว่าอะไรเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่การรังแกกัน ตลอดทั้งมาตรการในการส่งเสริมให้เกิดการยอมรับในเรื่องความหลากหลายทางเพศ

 

“โรงเรียนจะต้องมีนโยบายเกี่ยวกับความรุนแรงบนฐานเพศภาวะในบริบทโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการรังแกโดยมีเป้าหมายที่กลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน จำเป็นจะต้องมีการทบทวนคำนิยามหรือคำอธิบายต่างๆ ในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนที่มีอคติต่อเรื่องเพศและต่อความหลากหลายทางเพศ นักเรียนที่ถูกรังแกจำเป็นจะต้องมีช่องทางในการให้ความช่วยเหลือ เช่น สายด่วน ฮอตไลน์ เว็บบอร์ด หรือแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น โครงการฝึกอบรมครูตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ควรจะมีการบรรจุเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศเข้าไป เพื่อในอนาคตเมื่อพวกเขาไปเป็นครูจะได้มีความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ได้ดีขึ้น” รศ.ดร.พิมพวัลย์ บุญมงคล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

 

ผลการศึกษาจากรายงานชิ้นนี้จะเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุมรับฟังความคิดเห็นที่จะจัดขึ้นเป็นพิเศษ ณ ห้องมณเฑียร โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 4 ธันวาคม ตั้งแต่เวลา 8.30 น. – 16.30 น. รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาครั้งนี้ รวมถึงกำหนดการของกิจกรรมดังกล่าวได้แนบมาด้วยแล้ว

สำหรับสื่อมวลชนที่จะสอบถามข้อมูลหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อและการสื่อสารประจำองค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ Noel Boivin ที่ n.boivin @ unesco.org หรือ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คุณ Apiradee Chappanapong ที่ Apiradee.Chappanapong@plan-international.org หรือหัวหน้าศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการ และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.พิมพวัลย์ บุญมงคล ที่ pimpawun@gmail.com หรือ +66 81 914 7717, และผู้ร่วมวิจัย Timo T. Ojanen มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ timotapaniojanen@gmail.com