กรมการท่องเที่ยว ครบรอบ 21 ปี เดินหน้านโยบาย “ก้าวย่างอย่างยั่งยืน”

0
6180
image_pdfimage_printPrint

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  เป็นประธานเปิดงานสถาปนาครบรอบ 21 ปี กรมการท่องเที่ยว โดยมีนายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมการท่องเที่ยว พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง โดยภายในงานมีการเปิดตัวโลโก้ของหน่วยงาน DOT โฉมใหม่ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์สร้างภาพจำของกรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจนําเที่ยว มัคคุเทศก์ และผู้นําเที่ยว มาตรฐานบุคลากรด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ในวันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม ณ กรมการท่องเที่ยว ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า การจัดงานวันสถาปนากรมการท่องเที่ยวครบรอบ 21 ปี ครั้งนี้ มีแนวความคิดหลัก คือ “ก้าวย่าง..อย่างยั่งยืน” ตามกรอบการพัฒนาของโลกที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดหรือโมเดลที่สำคัญ ได้แก่

TTS (Thailand Tourism Standard) มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย เครื่องมือในการพัฒนาและเพิ่มขีดของผู้ประกอบการและชุมชนด้านการท่องเที่ยว ให้แข่งขันได้ในระดับสากล สร้างภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว โดยมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ครอบคลุมการท่องเที่ยวในทุกภาคส่วนทั้งด้านที่พัก บริการการท่องเที่ยว กิจกรรมท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ปัจจุบันมีมาตรฐานทั้งสิ้น 56 มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการยกระดับให้กับผู้ได้รับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ให้มีจุดขายที่เป็นอัตลักษณ์อย่างเด่นชัดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาต้นแบบโฮมสเตย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly Homestay) มาตรฐานโรงแรมสีเขียว (ASEAN Green Hotel Standard) มาตรฐานเมืองท่องเที่ยวสะอาด (ASEAN Clean Tourist City Standard) และยังมีส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถตอบสนองนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม Generation ต่าง ๆ กลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเฉพาะ เพื่อให้ท่องเที่ยวอย่างมีความสุขและประทับใจ

BCG Model การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม เป็นโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศรูปแบบใหม่ มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ใน 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งการดำเนินงานภายใต้แนวคิด BCG Model ได้นำมาสู่การพัฒนางานที่เรียกว่า BCG Tourism เป็นการพัฒนาที่ผสมผสานความยั่งยืนกับการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานที่อนุรักษ์ธรรมชาติ สร้างคุณค่า อัตลักษณ์ และรายได้ให้แก่ท้องถิ่นและชุมชน การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ใช้ซ้ำ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่ทำลายธรรมชาติและคงไว้ให้ยาวนานที่สุดที่สำคัญเมื่อไม่นานมานี้ กรมการท่องเที่ยวได้ร่วมบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งแรกในประเทศไทย เป็นสักขีพยานประกาศปฏิญญาเกาะเต่า เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ร่วมกับประชาคมชาวเกาะ 21 เกาะ และองค์กรภาคีเครือข่ายกว่า 23 องค์กร ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนให้แหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการท่องเที่ยว ด้วยการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCGอีกทั้งยังได้พัฒนาและยกระดับศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวสู่ความเป็นมืออาชีพ ตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG และการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบผ่านโครงการ “ท่องเที่ยวสีขาว”

SDGs (Sustainable Development Goals) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations: UN) เพื่อทำให้โลกดีขึ้นภายในปี 2030 ด้วยการพัฒนางานให้สอดคล้องกับเป้าหมาย 17 เป้าหมาย 5 มิติ ที่ให้ความสำคัญในเรื่อง คน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สันติภาพ และความร่วมมือ ที่คำนึงถึงความเป็นองค์รวมของทุกๆ ด้านอย่างสมดุล บนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม ซึ่งกรมการท่องเที่ยวได้นำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาปรับใช้และวางแผนการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่อยู่ในระดับสากลและนานาชาติ โดยจัดอบรมเพื่อยกระดับศักยภาพบุคลากรภาครัฐสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน SDGs ซึ่งเป็นการอบรมเพื่อวางแนวทางการยกระดับศักยภาพบุคลากรภาครัฐให้มีองค์ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องของการวางแผนและบริหารเชิงบูรณาการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า กรมการท่องเที่ยวจะยังคงผลักดันและยกระดับศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ในส่วนของผู้ประกอบการ ชุมชน มัคคุเทศก์ และภาคเอกชน ให้มีองค์ความรู้ และศักยภาพภายใต้แนวคิด SDGs เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยอย่างยืนต่อไป

จากการทำงานตลอด 21 ปี ของกรมการท่องเที่ยว (Department of Tourism) หรือ “DOT” เปรียบเสมือนจุดเล็กๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มุ่งส่งเสริม เติมเต็ม และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจนำเที่ยว และบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ในโอกาสครบรอบ 21 ปี วันสถาปนากรมการท่องเที่ยว 28 สิงหาคม 2566 นี้ กรมการท่องเที่ยวจะก้าวสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ และสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก พร้อมเปิดตัวสัญลักษณ์ “DOT” ที่จะใช้ควบคู่กับตราสัญลักษณ์เดิมของกรมการท่องเที่ยว นับตั้งแต่ปีที่ 21 นี้ เพื่อสื่อสารและสร้างภาพจำให้ตัวตนของกรมการท่องเที่ยวเด่นชัดขึ้น เป็นหน่วยงานที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน บูรณาการความร่วมมือในการทำงาน ให้บรรลุวัตถุประสงค์และประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ