DPU แนะฟื้นไทยเที่ยวไทย ฝ่าวิกฤตโควิด ดึงคนไทยนิยมเที่ยวนอกปีละกว่า 10 ล้านคนมูลค่ากว่า 3.9 แสนล้านบาท หันกลับเที่ยวไทยกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับตัวพร้อมรับการท่องเที่ยวแบบ New Normal ให้ทัน
ผศ.ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU กล่าวถึงแนวทางการฟื้นท่องเที่ยวไทยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซบเซาอันมีผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า เดิมประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณปีละ 40 ล้านคน มีรายได้เกือบ 2 ล้านล้านบาท โดย 68% มาจากคนเอเชียตะวันออกและอาเซียน แต่ปี 2563 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 2 เดือนแรก คือ ม.ค.-ก.พ. 2563 เท่านั้น เพราะหลังจากนั้นต้องปิดประเทศจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย ขณะนี้แม้รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการลง โดยเปิดให้สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้แบบมีเงื่อนไขกักตัว 14 วัน แต่จำนวนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามานั้นยังน้อยและส่วนใหญ่เป็นการนำชาวไทยที่อยู่ต่างประเทศกลับเข้ามาในไทย ส่วนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว สนับสนุนให้คนไทยเที่ยวไทยมากขึ้น อย่างแคมเปญเราเที่ยวด้วยกัน ก็สามารถช่วยได้เฉพาะในช่วงวันหยุดยาว และเสาร์อาทิตย์ โดยธุรกิจโรงแรมที่ได้รับอานิสงค์จะอยู่ในเมืองใกล้กรุงเทพฯ อย่าง พัทยา หัวหิน ชะอำ แต่โรงแรมจังหวัดอื่นๆ ยังคงซบเซา
“เมื่อประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเป็น “ศูนย์” ภาครัฐ ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและชาวไทยจะต้องปรับตัวโดยหันมาสนับสนุน รณรงค์ให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน โดยเฉพาะบริษัทนำเที่ยวที่เคยพาคนไทยไปต่างประเทศหรือทัวร์เอาท์บาวด์ ซึ่งมีฐานลูกค้าคนไทยอยู่แล้ว ควรดึงลูกค้ากลุ่มนี้มาเที่ยวในประเทศ จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2562 คนไทยเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ 10.55-10.75 ล้านคน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 385,000 ล้านบาท ดังนั้นควรดึงเม็ดเงินจำนวนนนี้กลับมากระตุ้นการท่องเที่ยวในไทย โดยนำเสนอแพ็คเกจการท่องเที่ยวไปยังสถานที่สวยๆ แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆในประเทศให้แก่นักท่องเที่ยวชาวไทย เพราะขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกยังปิดประเทศอยู่ จึงต้องหันมาจัดโปรแกรม ทำทัวร์พาคนไทยเที่ยวไทยแทน” ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าว
ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ต้องปรับตัว ปรับกลุ่มลูกค้า โดยขณะนี้กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อและยังสามารถท่องเที่ยวได้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือวัยเกษียณ โรงแรมต้องมีความชัดเจนต่อผู้บริโภคกลุ่มนี้ว่าจะมีโปรโมชั่น หรือมีการอำนวยความสะดวกต่อผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง รวมถึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพเป็นสำคัญ เพราะคนไทยหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น โดยอาจทำแพ็คเกจระยะสั้น และระยะยาว นอกจากนี้ อยากเสนอให้มีการนำเรื่องของอาหารมาเป็นแรงดึงดูดเรียกลูกค้า ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางในการเพิ่มรายได้แก่สถานประกอบการ เช่น มีการจัดทำอาหารในราคาที่จับต้องได้ จัดทำเดลิเวอรี่ เป็นต้น ส่วนผู้ประกอบการท่องเที่ยว ต้องกลับมาทำทัวร์ในประเทศ รวมทั้งมุ่งตลาดด้านการจัดประชุม สัมมนาแก่ธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบ อาทิ ธุรกิจอาหารเสริม/ยา โลจิสติกส์ ตลาดออนไลน์ เครื่องสำอาง ต้องจัดราคาพิเศษ ทำเส้นทางโปรแกรมทัวร์ใหม่
คณบดีคณะการท่องเที่ยวและโรงแรม มธบ. กล่าวด้วยว่า รัฐควรประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้สูงอายุเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดามากขึ้น โดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคการขนส่ง ควรมีการจัดทำส่วนลด ราคาพิเศษ และร่วมมือกับหน่วยงานบริษัททัวร์ต่างๆ โดยจัดส่วนลดค่าเดินทางมาสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากมีกลุ่มผู้เกษียณอายุจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบว่ามีส่วนลดสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวของตนเอง
“หลังพ้นวิกฤตโควิด-19 เชื่อว่าการท่องเที่ยวต้องกลับมาอย่างแน่นอน ดังนั้นควรมีการปรับปรุงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การบริหารจัดการ พร้อมแนวคิดใหม่ๆ ส่วนบริษัทท่องเที่ยวต้องปรับแผนการจัดรายการนำเที่ยว ศึกษาวิเคราะห์ความต้องการของนักท่องเที่ยว โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ต้องพร้อมรับการท่องเที่ยวแบบ New Normal ให้ทัน” ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าวในตอนท้าย