อ.อ.ป. สร้างมูลค่าเพิ่มจาก ‘ใบสัก’ หวัง “ลด ละ เลิก” ใช้ถุงพลาสติก/โฟม

0
992
image_pdfimage_printPrint

นางพรเพ็ญ วรวิลาวัณย์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ผอ.อ.อ.ป.) เปิดเผยว่า “ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.).ได้ตั้งเป้าหมายในการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2565 ให้มีการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 นั้น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ขานรับมาตรการดังกล่าว โดยนำมาบูรณาการร่วมกับแนวคิดเรื่องการใช้ประโยชน์และการสร้างมูลค่า จากธรรมชาติที่มีอยู่ สร้างองค์ความรู้นำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับชุมชน โดยการจัดทำโครงการ “จัดทำภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ” นำร่องที่ “สวนป่าเขาคณา จ.เพชรบูรณ์”

ผอ.อ.อ.ป. กล่าวต่อไปอีกว่า “อ.อ.ป. เล็งเห็นถึงปัญหาขยะในพื้นที่ส่วนใหญ่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวันของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นขยะที่เกิดจากพลาสติกหรือโฟม และหากไม่ได้รับการแก้ไขอาจนำไปสู่ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมในอนาคต จึงได้ถ่ายทอดแนวทางนี้ สู่ในระดับ ออป.ภาค

“งานสวนป่าเขาคณา จ.เพชรบูรณ์” เป็นสวนป่าแรก ที่ได้ต่อยอดในนโยบายนี้ และได้จัดอบรมให้ความรู้ให้กับประชาชนโดยรอบสวนป่าและหมู่บ้านใกล้เคียง ในโครงการ “จัดทำภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ” เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และปลุกจิตสำนึกให้ประชาชน ลด ละ เลิก การใช้โฟมและพลาสติก

สำหรับขั้นตอนการผลิตจานใบสัก มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน “ขั้นตอนแรก จะต้องเตรียมใบสักและทำความสะอาดให้เรียบร้อย ขั้นตอนที่ 2 นำใบสักทากาวแป้งเปียกเพื่อยึดให้ใบสักติดกัน ใช้ใบสัก 3 ใบต่อภาชนะ 1 ชิ้น โดยใบที่ 1 คว่ำหน้าใบลงและทากาว นำใบที่ 2 เอาด้านหลังใบวางทับใบที่ 1 ที่ทากาวไว้ (วางสลับหัวท้ายใบ) ทากาวบริเวณหน้าใบที่ 2 และนำใบสักใบที่ 3 เอาด้านหลังวางทับ ใบที่ 2 ที่ทากาวไว้ ขั้นตอนที่ 3) นำใบสักที่ทากาวเข้าเครื่องปั๊มขึ้นรูปในแม่พิมพ์ โดยใช้อุณหภูมิ 160 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 60 วินาที และขั้นตอนสุดท้าย นำออกจากแม่พิมพ์ตัดขอบให้เป็นรูปภาชนะ

ผอ.อ.อ.ป. กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการ “จัดทำภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ” นอกจากจะเป็นโครงการที่ช่วย ลด ละ เลิกการใช้พลาสติก แล้ว ยังเป็นการใช้ประโยชน์จากไม้เศรษฐกิจอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันสามารถผลิตจานใบสักได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ จานกลมขนาด 6 นิ้ว และจานขนาด 4 x 6 นิ้ว ซึ่งสามารถใช้บรรจุอาหารได้อุณหภูมิไม่เกิน 100 องศาเซลเซียส และปลอดภัยจากสารเคมี”

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ งานสวนป่าเขาคณา จังหวัดเพชรบูรณ์ หมายเลขโทรศัพท์ : 056 – 030158 (วันและเวลาราชการ)