งานแถลงข่าวเปิดตัวชุดแบบอักษรพระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต”
และหนังสือเฉลิมพระเกียรติชุด “ศรีสวางควัฒน”
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ๖๓ พรรษา ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ
เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
วันพุธที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ – ๑๕.๐๐ น.
ณ ห้อง The Exhibition Gallery บ้านปาร์คนายเลิศ
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ๖๓ พรรษา ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ น้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณ จึงจัดทำชุดแบบอักษรพระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต” ( Chulabhorn Likit Font ) และการจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติชุด “ศรีสวางควัฒน” เพื่อจารึกพระนามและพระเกียรติคุณในโลกดิจิทัล เผยแพร่พระประวัติ พระปรีชาสามารถและ พระกรณียกิจ รวมถึงเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศและเฉลิมพระอิสริยศักดิ์เป็น เจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน ในพระราชพิธี บรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
ชุดแบบอักษรพระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต” ( Chulabhorn Likit Font )
มีแนวคิดการออกแบบตัวอักษรจากดอกกล้วยไม้พันธุ์ Phalaenopsis “Princess Chulabhorn” ที่มีความงดงามอ่อนช้อย สร้างสรรค์ขี้นด้วยแรงบันดาลใจจากพระจริยวัตรอันงดงาม พระปรีชาและพระเกียรติคุณที่ทรงได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ ดังนี้
๑. พระนาม กรมพระ “ศรีสวางควัฒน”
แสดงถึงพระอุตสาหะในการบำเพ็ญพระกรณียกิจสำคัญอันดีเด่น โดยเฉพาะด้านการแพทย์ด้วยพระนาม “ศรี” มีความหมาย เป็นมงคล ความเจริญ ความรุ่งเรือง “สวางค” แปลว่า ร่างกายที่ดี ได้รับการบำรุงเป็นอย่างดี และ “วัฒน” แปลว่า ความเจริญ ความงอกงาม อันเป็นที่มาแห่งตัวอักษรที่มีสัดส่วนสวยงาม สมบูรณ์แบบ
๒. พระเกียรติคุณและรางวัลระดับนานาชาติที่ทรงได้รับอันเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( Ecologist )
รัฐบาลศรีลังกาได้น้อมเกล้าฯ ถวายกล้วยไม้พันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง Phalaenopsis “Rose Miva” กับ Phalaenopsis “Kandy Queen” เมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศศรีลังกาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยขอพระราชทานพระอนุญาตอัญเชิญพระนามตั้งชื่อกล้วยไม้พันธุ์ใหม่นี้ว่า Phalaenopsis “Princess Chulabhorn” อันเป็นที่มาของตัวอักษรและการสร้างรูปทรงให้มีความงดงาม อ่อนช้อย เลียนแบบดอกและยอดอ่อนของกล้วยไม้พันธุ์นี้
๓. โครงสร้างตัวอักษรเป็นแบบทางการ ( Formality )
โครงสร้างตัวอักษรเป็นแบบทางการ ถูกต้องตามมาตรฐานตัวอักษรภาษาไทย เป็นตัวมีหัว มีปากและส่วนประกอบถูกต้องตามอักขรวิธี ไม่มีการตกแต่งหรือเติมลวดลายมากจนเกินไป โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์และสืบทอดภาษาและตัวอักษรไทย เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
๔. B = Benevolence หมายถึง พระเมตตา
จากพระนามฯ ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์น้อมเกล้าฯ นำมาใช้เป็นค่านิยมขององค์กร หนึ่งในตัวอักษร คือ B แทนคำว่า Benevolence ที่แปลว่า ความเมตตา มาสร้างสรรค์โดยใส่ขอบมนลงในตัวอักษร เพื่อให้ได้แบบตัวอักษรที่มีความอ่อนโยน สื่อถึงพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงมีต่อพสกนิกร ด้วยพระปณิธานแน่วแน่ในการเสริมสร้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมให้แก่ทรัพยากรบุคคลของไทย รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนา
ชุดแบบอักษรพระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต” เป็นชุดภาษาไทยแบบมีหัวและละติน ๑ ตัวเลขไทย และแบบอักษรชุดภาษาอังกฤษ ตัวเลขอารบิก พร้อมให้ประชาชนทั่วไปดาวน์โหลดได้ ตั้งแต่บัดนี้ ที่เว็บไซต์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ https://www.cra.ac.th/
การจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติฯ
เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระอิสริยยศและ เฉลิมพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ อันเป็นพระเกียรติอย่างสูงยิ่ง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติชุด “ศรีสวางควัฒน” และหนังสือ “กรมพระ” กรุงรัตนโกสินทร์ ขึ้น ซึ่งนอกจากเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจ ด้วยพระวิริยอุตสาหะเพื่อพสกนิกรชาวไทยแล้ว ยังเป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าเกี่ยวกับขัตติยโบราณราชประเพณีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์อีกด้วย หนังสือเฉลิมพระเกียรติฯ มีเนื้อหาทางวิชาการพร้อมภาพประกอบที่สวยงาม โดยแบ่งเป็น
• หนังสือชุด “ศรีสวางควัฒน” จำนวน ๓ เล่ม
บันทึกเหตุการณ์ ประมวลพระฉายาลักษณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากรุณาธิคุณ แห่งสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพระบรมวงศานุวงศ์แห่งพระบรมราชจักรีด้านการแพทย์และ การสาธารณสุขของไทย ตลอดจน พระประวัติและพระกรณียกิจโดยเฉพาะการทรงงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การแพทย์และสาธารณสุขของศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีที่ทรงสืบสานพระราชปณิธาน ทรงงานตามรอยพระยุคลบาท รวมถึงการพระราชทานเผยแพร่องค์ความรู้และพระเมตตาในระดับนานาชาติ หนังสือชุดนี้จัดทำขึ้น ๓ เล่ม ดังนี้
จุฬาภรณวลัยลักษณ์ เป็นพระประวัติของสมเด็จพระน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
อัครราชกุมารี เป็นพระกรณียกิจสำคัญที่ทรงสืบสานพระราชภารกิจของบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าและพระบรมวงศ์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
ศรีสวางควัฒน นำเสนอความเป็นมา ความสำเร็จของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หน่วยงานที่สนองงานใต้เบื้องพระบาท และได้รับพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
• หนังสือ “กรมพระ” กรุงรัตนโกสินทร์
นำเสนอเกี่ยวกับการสถาปนาพระบรมวงศ์ ที่ “กรมพระ” ในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าเกี่ยวกับขัตติยโบราณราชประเพณี ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์
หนังสือเฉลิมพระเกียรติชุด “ศรีสวางควัฒน” และหนังสือ “กรมพระ” กรุงรัตนโกสินทร์ จัดพิมพ์จำนวนจำกัด สำหรับผู้ร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์
ชุด พิเศษรวม ๔ เล่มพร้อมกล่องกระดาษแข็งหุ้มกระดาษพิเศษ สำหรับผู้บริจาค ๒๐,๐๐๐ บาท
ชุด “ศรีสวางควัฒน” ปกแข็ง ๓ เล่มพร้อมกล่องแข็ง สำหรับผู้บริจาค ๑๐,๐๐๐ บาท ปกอ่อน ๓ เล่มพร้อมกล่องอ่อน สำหรับผู้บริจาค ๓,๐๐๐ บาท
หนังสือ “กรมพระ” กรุงรัตนโกสินทร์ ปกแข็ง สำหรับผู้บริจาค ๓,๐๐๐ บาท ปกอ่อน สำหรับผู้บริจาค ๑,๐๐๐ บาท
ร่วมบริจาคและสั่งจองได้ที่ มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โทรศัพท์ ๐-๒๕๗๖-๖๑๐๐ ต่อ ๘๑๑๐