กรณีการตายและการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากในช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานได้พยายามศึกษาและหาสาเหตุการตาย รวมถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่เป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมข้อมูลและสถิติต่าง ๆ และในวันนี้ (23 มิถุนายน 2563) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมมือกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการในการศึกษา วิจัย และชันสูตรการตายของสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งอาจจะเป็นครั้งแรกของโลกที่มนุษย์จะศึกษาเพื่อหาความยุติธรรมให้แก่สัตว์ทะเล นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวย้ำ ความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสัตว์ทะเลหายาก พร้อมวอนขอความร่วมมือหยุดพฤติกรรมทำร้ายสัตว์ทะเลเพื่อคงความสมบูรณ์คืนสู่ลูกหลานต่อไป
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวภายหลังการลงนามความร่วมมือด้านวิชาการว่า จากรายงานสถิติสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากที่พบการเกยตื้น ช่วงปี 2562 – 2563 พบสัตว์ทะเลหายากจำพวกเต่าทะเล พะยูน โลมาและวาฬ เกยตื้นชนิดพบเป็นซากสะสมกว่า 970 ตัว สามารถช่วยรอดชีวิตกว่า 473 ตัว และสามารถปล่อยกลับลงสู่ทะเลกว่า 200 ตัว ซึ่งสาเหตุการตายหรือการเกยตื้นส่วนใหญ่ก็มีสาเหตุจากกิจกรรมมนุษย์ ทั้งจากเครื่องมือประมง กลืนกินขยะทะเล ปัญหามลพิษปนเปื้อนในน้ำทะเล การเสียชีวิตเนื่องจากโรคตามธรรมชาติ นอกจากนี้ หลายกรณียังไม่ทราบสาเหตุการตายที่แน่ชัด ด้วยเหตุนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีนโยบายในการศึกษาและสืบหาสาเหตุการตายของสัตว์ทะเลหายากต่าง ๆ เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการในการรักษา คุ้มครอง และฟื้นฟูสัตว์ทะเลหายากที่นับวันจะลดจำนวนลง จึงเป็นเหตุให้กรมฯ ได้หาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความพร้อมทั้งบุคลากร รวมถึงเครื่องมือในการพิสูจน์และชันสูตรการเสียชีวิต การลงนามข้อตกลงทางวิชาการในวันนี้ (23 มิถุนายน 2563) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จับมือกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสนธิกำลังบุคลากร ระดมความรู้และเครื่องมือในการศึกษา วิจัย และช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก สุดท้ายตนอยากฝากทิ้งท้ายไว้ “ในช่วงวิกฤติสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีการประกาศปิดอุทยานกว่า 140 แห่ง มนุษย์ได้อยู่ห่างจากธรรมชาติ ปล่อยให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว มีการรายงานการพบเห็นสัตว์ทะเลหายากบ่อยครั้งในหลาย ๆ พื้นที่ ในเดือนกรกฎาคมจะเริ่มเปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล การท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก การทำประมงอย่างถูกหลักวิธี การลดการปล่อยของเสียและขยะลงทะเล เราคงต้องดำเนินการสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อย่างจริงจัง บทเรียนที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงผลจากการกระทำของมนุษย์ต่อสัตว์ทะเลหายาก หากเราไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เราอาจจะสูญเสียสัตว์ทะเลหายากไปทั้งหมด และลูกหลานเราคงได้เห็นเฉพาะเพียงภาพถ่าย หน้าที่ของเราคือรักษาทรัพยากรทางทะเลให้คงอยู่และยั่งยืน เพื่อคืนให้ลูกหลานเราได้ชื่นชมและอนุรักษ์ ต่อไป”
พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงยุติธรรม โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานที่จะดำเนินการใด ๆ เพื่อความยุติธรรม ไม่ใช่เฉพาะต่อมนุษย์ แต่เรายังคำนึงถึงความยุติธรรมต่อสัตว์ที่อยู่ร่วมโลก ซึ่งครั้งนี้ อาจจะเป็นครั้งแรกของโลกที่จะใช้นิติวิทยาศาสตร์กับสัตว์ ซึ่งทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็มีความพร้อมและยินดีที่จะร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพิสูจน์และชันสูตรหาสาเหตุการตายของสัตว์ทะเลหายาก ทั้งเพื่อการศึกษาวิจัย และสืบหาความยุติธรรมให้แก่สัตว์ทะเลหายาก
ศ. น.สพ. ดร. รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในด้านวิชาการเราจะยึดหลัก Prevention better than cure หรือการป้องกันดีกว่าการรักษา ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลที่สำคัญจำเป็น การพิสูจน์ทราบสาเหตุการตายหรือการเกยตื้นจะเป็นประโยชน์สำคัญอย่างยิ่งในอนาคต ทางทีมสัตวแพทย์จะใช้องค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อช่วยลดโอกาสการเกยตื้นและการตาย ในทางกลับกัน ทางทีมสัตวแพทย์ก็ยังได้ศึกษา วิจัย และเรียนรู้เพิ่มเติมจากความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและชาวโลกต่อไปในอนาคต ดร. รุ่งโรจน์ กล่าวในที่สุด