พาสปอร์ตทรงอิทธิพลไร้ความหมายหลังการเดินทางทั่วโลกหยุดชะงักเพราะโควิด-19

0
328
image_pdfimage_printPrint

ผลการจัดอันดับหนังสือเดินทางทรงอิทธิพล Henley Passport Index เผยให้เห็นข้อมูลเชิงลึกที่น่าวิตกเกี่ยวกับความเสียหายอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางทั่วโลกแทบหยุดชะงัก ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มจัดทำดัชนีพบว่าเสรีภาพในการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2549 พลเมืองสามารถเดินทางไปยัง 58 ประเทศโดยเฉลี่ยโดยไม่ต้องขอวีซ่า และ 14 ปีต่อมา จำนวนก็เพิ่มขึ้นเกือบเป็นสองเท่าแตะ 107 ประเทศ ขณะที่การจัดอันดับครั้งแรกของทศวรรษใหม่ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมก็ตอกย้ำว่าผู้คนสามารถเดินทางได้ทั่วโลกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ โดยหนังสือเดินทางทรงอิทธิพลที่สุด (ญี่ปุ่น) ช่วยให้ผู้ถือหนังสือเดินทางสามารถเดินทางเข้า 191 ประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้า อย่างไรก็ดี เพียงสามเดือนต่อมา ภาพดังกล่าวกลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

หนังสือเดินทางของญี่ปุ่นยังทรงอิทธิพลที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว มาตรการจำกัดการเดินทางที่เข้มงวดทำให้พลเมืองญี่ปุ่นถูกห้ามเดินทางโดยไม่จำเป็น และแทบทุกประเทศก็เป็นเช่นนี้ เนื่องจากมีการออกประกาศห้ามเดินทางมากขึ้นทุกวัน ขณะที่รัฐบาลทั่วโลกก็บังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ เนื่องจากประชากร 3.5 พันล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก กำลังกักตัวโดยสมัครใจหรือถูกบังคับ ผลการจัดทำดัชนีล่าสุดซึ่งอิงข้อมูลจากสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) จึงก่อให้เกิดคำถามที่ท้าทายว่า อะไรคือความหมายที่แท้จริงของเสรีภาพในการเดินทางและการเคลื่อนย้ายทั่วโลก ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่ไม่แน่นอนหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดลง

Dr. Christian H. Kaelin ประธานของ Henley & Partners และผู้บุกเบิกการจัดทำดัชนีหนังสือเดินทางทรงอิทธิพล ระบุว่า ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นนี้ หนังสือเดินทางทรงอิทธิพลกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายไปชั่วคราว “ตามทฤษฎีแล้ว พลเมืองชาวสวิสสามารถเดินทางไปยัง 185 ประเทศทั่วโลกโดยไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้า แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าเสรีภาพในการเดินทางขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา และนี่เป็นสิ่งที่ผู้ถือหนังสือเดินทางด้อยอิทธิพลคุ้นเคยเป็นอย่างดี”

Dr. Parag Khanna นักเขียนหนังสือขายดี รวมถึงผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการของ FutureMap กล่าวว่า ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อสาธารณสุข เศรษฐกิจโลก และพฤติกรรมทางสังคม อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในด้านภูมิศาสตร์มนุษย์ “อาจฟังดูเหมือนประชด แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ผู้คนจะเริ่มหาทางย้ายจาก “โซนสีแดง” ที่มีการเตรียมพร้อมและการบริหารจัดการแย่ ไปสู่ “โซนสีเขียว” หรือประเทศที่มีบริการทางการแพทย์ดีกว่า ขณะเดียวกัน ผู้คนอาจย้ายไปยังประเทศที่มาตรการบังคับกักตัวสร้างความลำบากน้อยกว่า เผื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต สำหรับในสหรัฐอเมริกา การย้ายถิ่นทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ก่อนการระบาดใหญ่ โดยคนกลุ่ม Gen X และกลุ่มมิลเลนเนียลย้ายไปยังเมืองรองที่มีค่าครองชีพถูกกว่าในพื้นที่ที่เรียกว่า Sun Belt หรือย้ายไปต่างประเทศในละตินอเมริกาและเอเชียเพื่อให้พอดำรงชีวิตได้ หลังจากนี้ ทันทีที่มาตรการกักตัวถูกยกเลิก และราคาตั๋วเครื่องบินดิ่งเหว ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกจะเก็บข้าวของและตีตั๋วย้ายไปยังประเทศที่พอจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้”

ข้อมูลนี้ได้รับการสนับสนุนจากการวิจัยและวิเคราะห์ของ Henley & Partners ซึ่งระบุว่า การให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านสุขภาพและการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อาจพลิกโฉมการเดินทางทั่วโลกไปตลอดกาล โดย Ugur Altundal และ Omer Zarpli นักวิจัยด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์และมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์กตามลำดับ เตือนว่า “คุณภาพและระดับความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณายกเว้นการขอวีซ่าในอนาคต”

Dr. Juerg Steffen ซีอีโอของ Henley & Partners แสดงความเห็นถึงการเติบโตมากเป็นประวัติการณ์ของอุตสาหกรรมการลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐานว่า “เราเชื่อว่าหลังการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง การลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐานจะมีความสำคัญมากขึ้นทั้งสำหรับนักลงทุนรายบุคคลและรัฐอธิปไตย การมีถิ่นฐานทางเลือกหรือการเป็นพลเมืองของประเทศอื่นจะช่วยให้ปลอดภัยจากความผันผวนทางเศรษฐกิจมหภาคซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ และก่อให้เกิดอำนาจอธิปไตยและคุณค่าทางสังคมมากขึ้นทั่วโลก”

สื่อมวลชนกรุณาติดต่อ
Paddy Blewer
ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์
paddy.blewer@henleyglobal.com