กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เชิญผู้ประกอบกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก หรือประเภทกิจการในกลุ่มพลาสติก หารือร่วมแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการได้รับผลกระทบจากการรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติก เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในฐานะประธานการประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกว่า การขับเคลื่อนเรื่องขยะพลาสติก รัฐบาลได้เร่งรัดการดำเนินแผนงานตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 มีเป้าหมายลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2565 ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีการรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติกเป็นกิจกรรมชื่อ “Everyday Say No To Plastic Bags” จากการบูรณาการร่วมกันของภาครัฐบาล ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลอดจนร้านสะดวกซื้อทั้ง 75 บริษัท ทั่วประเทศ เพื่อเป็นสัญลักษณ์การขับเคลื่อน ลด ละ เลิกใช้พลาสติกเริ่มจากงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้ว ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา นำไปสู่การแก้ปัญหาขยะพลาสติกให้เป็นรูปธรรม จากสถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก หรือประเภทกิจการในกลุ่มพลาสติก ซึ่งหากสถานการณ์รุนแรงถึงขั้นเลิกกิจการ ก็อาจส่งผลให้ลูกจ้างตกงาน ดังนั้น จึงได้เชิญมาร่วมกันหารือ รับฟังข้อเสนอแนะ ลดผลกระทบทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ ของกระทรวงแรงงานต่อไป
ด้าน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมที่ประกอบธุรกิจประเภทพลาสติกทั่วประเทศที่มีข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูลของกรม มีจำนวนทั้งสิ้น 4,240 แห่ง ลูกจ้าง 284,213 คน ซึ่งการหารือในครั้งนี้ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย เจ้าของสถานประกอบกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกใน 5 จังหวัดปริมณฑล และพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผู้แทนกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน รวมทั้งสิ้น 129 คน ซึ่งผลจากการประชุมทำให้ทราบว่าสถานประกอบกิจการส่วนใหญ่ได้เตรียมแผนการรองรับไว้แล้วทั้งในเรื่องเครื่องจักร และกำลังคน โดยกำหนดให้แล้วเสร็จในปี 2565 ตามแผนของโรดแมป แต่หากการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกเร่งรัดเกินไป อาจส่งผลให้สถานประกอบกิจการปรับตัวไม่ทันในด้านงบประมาณของค่าชดเชย หากมีความจำเป็นต้องลดคนงาน ทั้งนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะได้นำข้อมูลดังกล่าวมาเตรียมมาตรการรองรับที่เหมาะสมต่อไป