ไฟเซอร์ ประเทศไทย ผนึก ทีเซลล์ (TCELS) ลงนามความร่วมมือ ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย

0
324
image_pdfimage_printPrint

สถานการณ์ของเชื้อดื้อยาในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาวิกฤตที่สำคัญของมนุษยชาติซึ่งจัดอยู่ในขั้นอันตรายและมีแนวโน้มเลวร้ายมากขึ้นในอนาคตจนกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก สั่นคลอนความมั่นคงระบบสุขภาพของทุกประเทศ โดยคร่าชีวิตประชากรโลกในแต่ละปีสูงถึง 7 แสนคน และคาดว่าใน พ.ศ.2593 การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอาจจะสูงถึง 10 ล้านคนซึ่งผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งอยู่ในทวีปเอเชีย มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดสูงถึง 4.7 ล้านคน อีกทั้งยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล คิดเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.5 พันล้านล้านบาท ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อปัญหานี้และเชิญชวนรัฐบาลของประเทศต่างๆ ร่วมกันจัดการ ดังนั้น ประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลกรวมถึงประเทศไทยจึงมีหน้าที่ๆจะร่วมดำเนินการป้องกันควบคุม และแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งในประเทศไทยรัฐบาลเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 ของกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อยกระดับการทำงานให้สามารถหยุดยั้งปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าปี 2564 ผู้ป่วยเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50โดยมีองค์กรต่างๆ ร่วมประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) แพทยสภาเครือข่าย รพ. ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ เป็นต้นเพื่อร่วมแก้ปัญหาดังกล่าวเนื่องจากปัญหามีความซับซ้อนมากจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ทุกองค์กรในระบบยา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ไฟเซอร์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้วิจัยยาและชีวเวชภัณฑ์ระดับโลก โดยได้ลงนามความร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCEL: Thailand Center of Excellence for Life Sciences) เมื่อไม่นานมานี้เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564

มร.เซลิมเซสกิน ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งไฟเซอร์ ประเทศไทย ตระหนักถึงความรับผิดชอบในการมีส่วนร่วมและบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวโดยได้ร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือทีเซลส์ (TCELS) ทำงานอย่างบูรณาการ ในรายละเอียดเกี่ยวกับ Antimicrobial Resistance (AMR) หรือ การดื้อยาของเชื้อโรค ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ อาทิ การสนับสนุนการวิจัย บุคลากร การเสริมองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมแก่บุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลทุกระดับรวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนทั่วไป รวมถึงการสนับสนุนการศึกษา ผ่านการเผยแพร่ความรู้ด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการร่วมจัดทำสื่อการให้ความรู้ และการดำเนินกลยุทธ์ในด้านการควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยยกระดับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพ”
นอกจากนี้เมื่อกลางปีที่ผ่านมา บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย ยังได้ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia One Health University Network) หรือ “ซีโอฮุน” (SEAOHUN) ซึ่งมีเครือข่ายมหาวิทยาลัย 72 แห่ง ในแถบภูมิภาคอาเซียน ร่วมสร้างศักยภาพการดำเนินงานสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health ประกาศเจตจำนงร่วมกันในการจัดการภัยคุกคามอันเกิดจากการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย ด้วยการควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม ไปจนถึงการให้ความรู้และฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขชุมชนทั่วประเทศไทยรวมถึงประเทศสมาชิกภายในเครือข่าย เพื่อเสริมสร้างการใช้ยาปฏิชีวนะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งความร่วมมือระหว่างซีโอฮุนและไฟเซอร์ในครั้งนั้นเป็นการสร้างโอกาสให้กับ บริษัท ไฟเซอร์ ได้ยกระดับการดำเนินงานด้านการแบ่งปันความรู้และการพัฒนาขีดความสามารถ ผ่านการเผยแพร่ความรู้ด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการร่วมจัดทำสื่อการให้ความรู้ และการดำเนินกลยุทธ์ในด้านการควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม โดยมีหน่วยงานเครือข่ายของซีโอฮุนเป็นศูนย์กลางสำหรับการเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ภายในกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อช่วยยกระดับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพ
“ไฟเซอร์ ประเทศไทย มีความมุ่งมั่นเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งในความร่วมมือกับบุคลากรและสถาบันทางการแพทย์ต่างๆ ตลอดจนมหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และชุมชนท้องถิ่นในการสนับสนุนการศึกษาด้านสุขภาพและการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ ตลอดจนสนับสนุนการเข้าถึงยาและวัคซีนที่มีคุณภาพเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความพร้อมที่จะนำแนวทางยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทยไปปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ในการลดอัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต ตลอดจนลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศจากปัญหาปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ” มร.เซลิม กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ เดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นเดือนที่มีสัปดาห์แห่งการรณรงค์รู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย(World Antibiotic Awareness Week) ที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะรณรงค์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพให้แก่ประชาชนด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนทั่วไปให้เกิดความร่วมมือในวงกว้างเพื่อนำไปสู่การบรรลุผลของแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่วางไว้