ทีเอ็มบี ผนึกกำลัง มิตรผล เสริมแกร่งการเงินด้วยดิจิทัล ซัพพลายเชน โซลูชั่น ผลักดัน “โมเดิร์นฟาร์ม” ส่งเสริมเกษตรกรและเศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืน
ทีเอ็มบี สานต่อความมุ่งมั่น นำซัพพลายเชน โซลูชั่น (TMB Supply Chain Solution) ให้ขยายวงกว้างขึ้น ไม่ใช่เพียงโฟกัสที่กลุ่มลูกค้ารายใหญ่แล้วปิดดีล แต่มุ่งพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่นเพื่อ “ติดปีก” ทางการเงินให้กับเกษตรกรไทย โดยประสานพลังกับ มิตรผล ผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมานานกว่า 6 ทศวรรษ ส่งต่อ ฟีเจอร์เครื่องมือการเงินดิจิทัลทรงพลังครบถ้วนทั้งวงจรแบบ End to End Solution เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับเกษตรกรไทย ทั้งเกี๊ยวเงินอัตโนมัติ ระบบ E-wallet และการให้สินเชื่อ โดยมุ่งหวังนำเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพทางการเงินให้กับเกษตรกรไทยได้อย่างตรงจุดตรงใจ และเป็นกำลังสำคัญเพื่อเดินหน้าพัฒนาการทำไร่อ้อยสู่ “โมเดิร์นฟาร์ม” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนธุรกิจของพันธมิตรให้คล่องตัวและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
เพราะทีเอ็มบีมีความตั้งใจที่จะส่งมอบบริการคุณภาพเพื่อลูกค้าตามปรัชญา Make The Difference และตอกย้ำแนวคิดที่ลูกค้า TMB ต้องได้มากกว่า (Get More with TMB) จึงไม่หยุดคิดพัฒนาโซลูชั่นที่ดีที่สุดเพื่อลูกค้า หนึ่งในนั้นคือ TMB Supply Chain Solution สู่การเป็นดิจิทัลโซลูชั่น เพื่อช่วยเชื่อมต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างลูกค้ารายใหญ่ และเครือข่ายลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างสรรค์เครื่องมือที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับซัพพลายเออร์ ดีลเลอร์ หรือแม้กระทั่งกลุ่มเกษตรกร ต้นทางวัตถุดิบของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทีเอ็มบีมุ่งหวังสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ธุรกิจของลูกค้ารายใหญ่คนสำคัญ อย่าง มิตรผล เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่มากกว่า โดยเข้าไปร่วมทำงานแบบ Agile ซึ่งเป็นการพัฒนารูปแบบโซลูชั่นให้เป็นการคิดแบบครบวงจร (End to End Solution) โดยเริ่มจากทำความเข้าใจในธุรกิจของลูกค้า ร่วมคิดและทำ Digital Solution ไปพร้อมกับลูกค้า พร้อมนำเสนอ Digital Supply Chain Solution เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาได้ถูกจุด
นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ทีเอ็มบีเล็งเห็นถึงแนวทางสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจลูกค้า สอดรับกับทางมิตรผลที่มุ่งให้ความสำคัญกับการเติบโตของธุรกิจซัพพลายเชน โดยต้องการให้คู่ค้าทางธุรกิจหรือเกษตรกรไทยเติบโตไปด้วยกัน ทีเอ็มบี จึงเข้าไปตอบโจทย์ของมิตรผลและเกษตรกรไทยได้อย่างตรงจุด โดย ทีเอ็มบี ร่วมลงพื้นที่ ลงมือร่วมกันทำงานกับฝ่ายไร่อ้อยอย่างจริงจัง เพื่อทำความเข้าใจขั้นตอนการทำงานระหว่างมิตรผล และเกษตรกรไทยทั้งหมด จนสามารถต่อยอด คิดค้น สร้างสรรค์โซลูชั่นที่เหมาะสมซึ่งก็คือ Supply Chain Financing และ Digital Wallet เพื่อมิตรผล และเกษตรกรไทยโดยเฉพาะ
“จากการทำงานร่วมกัน ทีเอ็มบี พบว่า มิตรผลเจอปัญหาความคลาดเคลื่อนของปริมาณผลผลิตอ้อยในแต่ละปีสำหรับใช้ผลิตน้ำตาล ซึ่งเป็นผลกระทบจากเกษตรกรขาดแหล่งเงินทุนในการเพาะปลูก สำหรับค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง หรือต่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนก็ดอกเบี้ยสูง เกษตรกรจึงไม่สามารถส่งผลผลิตอ้อยได้ตามเป้าที่ตกลงไว้กับมิตรผล ซึ่งกระบวนการเดิม มิตรผลเลือกที่จะออกเงินทุนสำหรับการเพาะปลูกอ้อยล่วงหน้า แต่ก็ไม่รู้ว่าเกษตรกรนำเงินดังกล่าวไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ อีกทั้งยังพบความต้องการเงินทุนจำนวนมากที่จะไป Financing เกษตรกรไทย สำหรับใช้จ่ายต่างๆ ทำให้ทีเอ็มบีตระหนักถึงปัญหาที่รอการแก้ไข จึงทำงานอย่างหนักเพื่อนำเทคโนโลยีมาปรับใช้พร้อมพัฒนาโซลูชั่นแบบ Co-Creation ร่วมกันกับมิตรผล โดยเข้าไป Disrupt กระบวนการทำงานกับทางมิตรผลให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น พร้อมทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงและเชื่อมต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างลูกค้ารายใหญ่ และเครือข่ายลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง”
นายศมน คุ้มธรรมพินิจ เจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจ ทีเอ็มบี ขยายความถึงรูปแบบดิจิทัลโซลูชั่นทางการเงินเพื่อเกษตรกรไทย และขับเคลื่อนธุรกิจมิตรผลไปพร้อมๆ กัน โดยทีเอ็มบี เข้าไปมีส่วนช่วยพัฒนาระบบการจ่ายเงินส่งเสริมการปลูกอ้อย หรือที่เรียกว่า “เกี๊ยวเงินอัตโนมัติ” ซึ่งเป็นการ Transform วิธีการจ่ายเงินส่งเสริมแบบเช็คลงวันที่ล่วงหน้า ด้วยระบบบริหารจัดการควบคุมเรื่องเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลามารับเช็คเหมือนเดิม แต่จะง่าย สะดวก รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม และยังช่วยลดค่าใช้จ่าย และเวลาทำงาน ในการออกเช็คจากฝั่งมิตรผลด้วย
ตลอดจนการนำเสนอระบบ Mitrphol Digital Wallet ระบบออนไลน์ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อเชื่อมต่อข้อมูล ระหว่างมิตรผล และเกษตรกร ช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องยุ่งยากกับการดำเนินการด้านเอกสารหลักฐาน ขณะเดียวกันก็ทำให้มิตรผลลดขั้นตอนการทำและการจัดเก็บเอกสาร ลดเวลาการทำงานลง แต่มีกระบวนการทำงาน สะดวก รวดเร็ว ถือเป็นการส่งเสริมการรับของให้เป็นไปอย่างมีระบบ แม่นยำ และถูกต้องมากยิ่งขึ้น เนื่องจากระบบสามารถตรวจสอบได้แบบ Realtime และควบคุมการรับของเช่น ปุ๋ย วัตถุดิบต่างๆ ได้ตามเงื่อนไข อีกทั้งข้อมูลในระบบออนไลน์เหล่านั้น ยังสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาให้กระบวนการทางธุรกิจดียิ่งขึ้นได้อีกทอดหนึ่ง
นอกจากนั้นทีเอ็มบียังสร้างสรรค์โซลูชั่นสินเชื่อ Harvesting Machinery Loan ให้กับมิตรผล เพื่อนำไปใช้ในการซื้อเครื่องมือทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ในการเก็บเกี่ยวอ้อย เช่น รถแทรกเตอร์ รถหว่านปุ๋ยคอก รถตัดอ้อย รถคีบอ้อย หรือ เครื่องสับใบอ้อย เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่าทีเอ็มบี ซัพพลายเชน โซลูชั่น คือแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบการเกษตรที่ทันสมัย ทั้งยังช่วยลดต้นทุนแต่เพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน สอดรับกับแนวคิด “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ด้วยเช่นกัน
กลุ่มมิตรผลเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะโตได้ต้องทำให้เกษตรกรไทยเติบโตไปด้วยกัน จึงมุ่งส่งเสริมการบริหารจัดการไร่อ้อยแบบทันสมัย ผ่านการประยุกต์แนวคิด องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมระดับเวิลด์คลาสจากต่างประเทศ ปรับให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นของไทย ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้แรงงาน และลดการเผาอ้อยที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความยั่งยืนให้กับการเกษตรไทย จนทำให้ได้การรับรองมาตรฐานระดับโลกอย่าง Bonsucro เป็นรายแรกของประเทศ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนามาตรฐานระบบบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของโรงงาน รวมถึงยังใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมที่ส่งสู่ผู้บริโภค ผ่านผลิตภัณฑ์ใหม่น้ำตาลถุงกระดาษรักษ์โลกรายแรกของประเทศไทยที่สามารถย่อยสลายได้100% เป็นการใส่ใจดูแลและสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
นายวีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงาน และธุรกิจใหม่ กล่าวว่า มิตรผลเล็งเห็นความสำคัญการผลักดัน พัฒนาและสร้างคุณค่าให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน และดำเนินธุรกิจให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Transformation ที่ส่งผลให้ทุกองค์กรต้องปรับกลยุทธ์ เพื่อสร้างความได้เปรียบและสามารถแข่งขันในตลาด กลุ่มมิตรผลจึงมองหาพันธมิตรที่จะช่วยและส่งเสริมเจตนารมณ์ขององค์กรในการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และพัฒนาการทำไร่อ้อยแบบยั่งยืนด้วยเช่นกัน และทางเลือกที่น่าสนใจก็คือโซลูชั่นของ TMB ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของมิตรผลได้อย่างตรงจุด ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรไทยสนใจ โดยใช้ E2E Supply Chain Financing (เกี๊ยวเงินอัตโนมัติ) รวมแล้วกว่า 5,500 ราย ส่วน Mitrphol E-Wallet ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรไทยร่วมใช้โซลูชั่นกว่า 2,200 ราย
ดร.ศรายุธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานการเงิน และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มบริหาร มิตรผล กล่าวสนับสนุนว่า ความร่วมมือกับทีเอ็มบีในการเสนอโซลูชั่นพัฒนาระบบจ่ายเงิน ทั้งเกี๊ยวเงินอัตโนมัติ และ“ เกี๊ยวปุ๋ย (e-wallet)” สู่ระบบออนไลน์ นับเป็นก้าวสำคัญในการนำ Digital Transformation มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้เป็นอย่างดี เพราะระบบสามารถควบคุมวัตถุประสงค์การส่งเสริมปัจจัยการปลูกได้จริง พิสูจน์ตัวตนเกษตรกรไทยได้แม่นยำ และยังลดความผิดพลาดจาก Human Error ได้ ตลอดจนช่วยให้เกษตรกรประหยัดค่าเดินทาง เวลา และขั้นตอนในการเบิกจ่ายเงิน ไม่จำเป็นต้องพกเงินสด ลดความเสี่ยง อีกทั้งยังสามารถจัดเก็บข้อมูลในการใช้จ่าย วางแผนบริหารจัดการการใช้เงินได้เอง เป็นการให้ทั้งความรู้และทุนทรัพย์แก่ชาวไร่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคงแบบยั่งยืน
สำหรับแผนการในอนาคตของทีเอ็มบีนั้น นายเสนธิป ตอกย้ำถึงการผลักดัน TMB Supply Chain Solution ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายใหญ่มากขึ้น ซึ่งนอกจากมิตรผลแล้ว ทีเอ็มบีพร้อมทำหน้าที่พาร์ทเนอร์ทางการเงินให้กับลูกค้ารายใหญ่อีกมากกว่า 10 รายในปีนี้ โดยทีเอ็มบีต้องการจะขยายภาพความร่วมมือกับสปอนเซอร์ให้มากขึ้น ทั้งในมิติการทำงานที่ตอบโจทย์ตรงจุด แก้ปัญหาอย่างรอบด้าน ผ่านนำเสนอเครื่องมือดิจิทัลที่หลากหลายมากกว่า
เพราะทีเอ็มบีต้องการเป็นธนาคารที่ให้ลูกค้าหรือพาร์ทเนอร์เติบโตอย่างยั่งยืน และจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกค้า “ได้มากกว่า” นั่นเอง