NIA ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ mai เปิด IDE to IPO รุ่น 4 มุ่งปั้นธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพและธุรกิจเชิงสร้างสรรค์

0
585
image_pdfimage_printPrint

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ จัดโครงการส่งเสริมความสามารถทางนวัตกรรม สำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมเข้าจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ รุ่นที่ 4 (Innovation Driven Enterprise to Initial Public Offering #4) เพื่อให้เจ้าของกิจการหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความรู้และความเข้าใจองค์ประกอบต่างๆที่มีส่วนในการเตรียมความพร้อมของกิจการ สำหรับการก้าวเข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

จากผลการจัดหลักสูตรในรุ่นที่ 1 ที่ผ่านมามีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวน 56 บริษัทในอุตสาหกรรมนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation) รุ่นที่ 2 นั้น มีผู้เข้าร่วมอบรม จำนวน 100 บริษัทในอุตสาหกรรมอาหารและสุขภาพ (Food and Healthcare) ในรุ่นที่ 3 ที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมอบรม จำนวน 80 บริษัทในอุตสาหกรรมนวัตกรรมการบริการและการท่องเที่ยว (Hospitality & Tourism Industry) และจากระบบติดตามการเติบโตของบริษัทฯ พบว่ามีจำนวนมากกว่า 20 บริษัทที่วางแผนการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในระยะเวลา 5 ปี

สำหรับ IDE to IPO ในรุ่นที่ 4 นี้ มีผู้เข้าร่วมอบรม จำนวน 80 บริษัทในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ และธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ (Well-being & Creative business) เช่น กลุ่มการท่องเที่ยว กลุ่มการขนส่ง กลุ่มอาหาร กลุ่มบริการทางสุขภาพ ธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า “อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ และธุรกิจเชิงสร้างสรรค์เป็นธุรกิจเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวสูง และมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 2/2562 ขยายตัวร้อยละ 2.3 อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ และธุรกิจเชิงสร้างสรรค์นับเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมหลักที่จะก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และการกระจายรายได้ เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายในการยกระดับและการเสริมศักยภาพธุรกิจอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ และธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งทาง เอ็นไอเอ พร้อมที่จะเป็นหน่วยสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อตอบโจทย์การขยายธุรกิจของผู้ประกอบการ

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้ให้ข้อมูลภาพรวมของโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ สิ่งที่ผู้เข้าอบรมได้รับคือ องค์ความรู้ด้านนวัตกรรม กลยุทธ์ทางการตลาดดิจิทัล การสร้างแบรนด์ให้ยั่งยืน ไปจนถึงการบริหารจัดการระบบบัญชี กฎหมาย และภาษีสำหรับบริษัทที่เตรียมความพร้อมในการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ จากกรณีศึกษาและประสบการณ์ที่ถ่ายทอดโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอด 10 ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Dinner Talk ที่ผู้เข้าอบรมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิด และประสบการณ์จากวิทยากรรับเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในบรรยากาศใกล้ชิดและเป็นกันเอง รวมถึงการแบ่งกลุ่มผู้เข้าอบรมออกเป็น 5 กลุ่ม เพื่อการทำกิจกรรมเวิร์กช็อป ตลอดจนการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการอย่างสร้างสรรค์ ทำให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดทางธุรกิจ จนสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจต่อกันในอนาคต และคุณประพันธ์ยังได้เปิดเผยว่า สำหรับ IDE to IPO รุ่นที่ 4 วางแผนว่าจะมุ่งเน้นในกลุ่มบริษัทที่เป็นธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative business) ให้มากขึ้นด้วย

ในงานได้รับเกียรติจาก ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA บรรยายพิเศษในหัวข้อ Innovation: The Growth Engine ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาให้ธุรกิจเติบโต และประสบความสำเร็จสูงสุดอีกด้วย

ทั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ มาบรรยายในหัวข้อ Innovation Driven Enterprise เพื่อเสริมข้อคิดด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ ที่มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ยังได้ให้มุมมองของพลังของ Design Thinking ของ MIT และตัวอย่างบริษัทออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับโลกอย่างเช่น IDEO

และ นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม NIA ได้กล่าวถึงแนวทางการยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพไม่ว่าจะเป็น IDE สตาร์ทอัพ องค์กรขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ผ่านสถาบันวิทยาการนวัตกรรม หรือ NIA Academy และเพิ่มเติมด้วยกลไกการสนับสนุนผู้ประกอบการ IDE และสตาร์ทอัพ โดยมีกลไกสำคัญเพื่อเพิ่มโอกาสการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งด้านเทคโนโลยีและการเงินเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านแพคเกจ“Groom Grant Growth” ตั้งเป้ายกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพไทยทั้งในธุรกิจนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเดินหน้าเร่งสร้างศักยภาพเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพไทยผ่านการบ่มเพาะ เงินทุนอุดหนุน และโอกาสการต่อยอดทางธุรกิจนวัตกรรม เตรียมต่อยอดขยายโปรแกรมอบรมผ่านออนไลน์ด้วย