BEDO จัดกิจกรรม “BIOGANG CHALLENGE 2019” สนับสนุนเยาวชนจัดทำ แผนที่ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้หัวข้อ “เส้นทางท่องเที่ยว Bio Gang”

0
635
image_pdfimage_printPrint

BEDO จัดกิจกรรม “BIOGANG CHALLENGE 2019” สนับสนุนเยาวชนจัดทำ แผนที่ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้หัวข้อ “เส้นทางท่องเที่ยว Bio Gang”

ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
และทุนการศึกษารวมมูลค่ากว่า 120,000 บาท

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO จัดกิจกรรม “ประกวดแผนที่ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้หัวข้อ “เส้นทางท่องเที่ยว Bio Gang” สำหรับนักเรียนและสถาบันการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนเล็งเห็นถึงความสำคัญและเกิดความสนใจในการสำรวจข้อมูลทรัพยากรความหลากหลาย ทางชีวภาพและภูมิปัญญาของท้องถิ่น รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ พร้อมทำคลิบวีดีโอแนะนำแผนที่ชุมชน ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษารวมมูลค่ากว่า 120,000 บาท

โดยปีนี้ ทีมที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ คือทีมจากโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จังหวัดจันทบุรี ที่สร้างสรรค์ผลงานคลิปวีดีโอ เปิดเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชน ชมธรรมชาติ และเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่บ้านเกาะเปริด หนองชิ่ม และบางชัน จังหวัดจันทบุรี สมาชิกประกอบด้วย นางสาวจีรวรรณ เสนาสนะ นางสาวพัชนิดา จำหน่วยผล นางสาวธิดารัตน์ ดำรงอุตสาหกิจ

โดยน้องจีรวรรณ เล่าว่า ปัจจุบันจันทบุรีมีการท่องเที่ยวแบบใหม่เกิดขึ้น คือการทำโฮมสเตย์ เพื่อได้สัมผัสกับธรรมชาติและได้เรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งแอพที่จัดทำนี้จะพาไปยังจุดต่างๆ ของแผนที่เพื่อเยี่ยมชมทั้งหมด 8 จุด ซึ่งทุกจุดมีสัญลักษณ์สำคัญของพื้นที่นั้นๆ ให้สังเกตโดยง่าย เริ่มจากชุมชนบ้านเกาะเปริด นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้การทำน้ำปลาโบราณซึ่งเปิดกิจการมาเกือบร้อยปี เป็นแห่งเดียวในจังหวัดจันทบุรี และพาไปยังจุดชมวิวที่ผาสุกนิรันดร์ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญที่สวยมากที่สุดของจังหวัด

ด้านน้องพัชนิดา อีกหนึ่งสมาชิกของทีม เล่าต่อว่า จุดต่อมาจะเป็นบ้านหนองชิ่มจะมีความร่มรื่นและเป็นธรรมชาติอย่างมาก เหมาะสำหรับผู้ที่รักธรรมชาติอย่างแท้จริง ด้วยความสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้มีพันธุ์ข้าวเป็นของตนเองคือ ข้าวล้นยุ้ง ซึ่งเป็นข้าวท้องถิ่นที่มีความแตกต่างจากข้าวชนิดอื่นคือมีรสชาติที่มันและหอมกว่า จากนั้นจะพาไปเยือนโฮมสเตย์บ้านหนองชิ่ม ซึ่งเดิมเคยเป็นป่าชายเลน แต่ชาวบ้านได้มาประกอบธุรกิจโฮมสเตย์ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้การทำฟาร์มปูหรือสวนปู ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพสำคัญของชาวบ้านแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังมีบริการล่องแพเปียก ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของที่นี่ เพื่อชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำและป่าโกงกาง พร้อมชมเหยี่ยวแดงสัตว์ท้องถิ่นอันน่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยอากาศบริสุทธ์จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในหมู่บ้านหนองชิ่มได้อย่างดี
ด้านน้องธิดารัตน์ กล่าวเสริมว่า สำหรับบ้านบางชัน จะมีศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนบ้านน้ำแดงเพื่อให้นักท่องเที่ยวไปศึกษาธรรมชาติ และเรียนรู้วิธีการทำประมงพื้นบ้าน เช่น การเลี้ยงหอยนางรมซึ่งเป็นอาชีพของชาวบางชันและโดยใช้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการเลี้ยงหอยนางรมจะมีวิธีการเลี้ยง 3 แบบ คือ 1.ใช้หลักเป็นไม้หรือตอไม้ 2.ใช้ยางรถยนต์และกระเบื้องที่ไม่ใช้แล้ว 3.เลี้ยงแบบอุบะแขวนซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ จุดต่อมาแอพจะพาล่องเรือมาเยือนหมู่บ้านไร้แผ่นดินซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดท้ายปลายทางของจันทบุรี ซึ่งชื่อ มาจากการที่ชาวบ้านปลูกบ้านเรียงกันอยู่บริเวณปากแม่น้ำ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายแวดล้อมด้วยธรรมชาติที่สวยงาม สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมประกวดในครั้งทำให้พวกเราได้รับความรู้เรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างมาก และได้เห็นธรรมชาติที่สวยงามมากของจันทบุรีที่ควรค่ากับการอนุรักษ์และศึกษา จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ และทุกท่านมาท่องเที่ยวที่บ้านเกาะเปริด หนองชิ่ม และบางชัน จังหวัดจันทบุรี แห่งนี้รับรองว่าไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน

นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวว่า BEDO ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสำรวจ และรวบรวมข้อมูลทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดทำ Community Website เพื่อให้เกิดการจดบันทึกข้อมูลโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตลอดระยะเวลา 10 ปี ได้ดำเนินกิจกรรมเครือข่ายสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ Bio Gang โดยเยาวชนที่เป็นสมาชิก Bio Gang จะร่วมปฏิบัติตามบัญญัติ 5 ประการ ซึ่งประกอบด้วย

1.ช่วยบันทึกข้อมูลทรัพยากรชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชน
2.ทำการค้นหาผู้รู้ในชุมชนและบันทึกภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้รู้นั้น
3.ชวนเพื่อนมาร่วมเป็นสมาชิก Bio Gang (Member get Member)
4.พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนต่างถิ่น 4 ภาค
5.นำความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนสมาชิกกลับคืนสู่ชุมชนของตนเอง

“ในปีนี้ BEDO จึงได้จัดกิจกรรมโครงการ “ประกวดแผนที่ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นภายใต้หัวข้อ “เส้นทางท่องเที่ยว Bio Gang” เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างสรรค์เชิงเศรษฐกิจและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของกลุ่มเครือข่ายชุมชน ก่อให้เกิดการสำรวจทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน และกระตุ้นจิตสำนึกเยาวชน ได้ตระหนักและให้ความสนใจถึงความสำคัญของทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน เกิดการเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องของทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน เพื่อการสืบสานและอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง”
โดยรูปแบบของกิจกรรมการประกวด Bio Map จะเป็นการประกวดการสร้างแผนที่ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น สำหรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา เพื่อจัดทำแผนที่แสดงเส้นทางท่องเที่ยวที่สมาชิกในกลุ่มร่วมกันกำหนดเส้นทาง เพื่อออกสำรวจและจัดทำแผนที่ โดยรับสมัครนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษา รวมกลุ่มทีมละ 3 คน ในสถาบันการศึกษาเดียวกัน ทุกทีมจะต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาให้การรับรอง 1 คน โดยรางวัลชนะเลิศจะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใบประกาศเกียรติคุณและทุนการศึกษา จำนวน 50,000 บาท นอกเหนือจากรางวัลแล้ว ยังมีความภาคภูมิใจเยาวชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจและสืบสานภูมิปัญญาให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นางสาวมาลินี เดชดำรงค์กุล ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.biogang.net/ หรือโทร. 02-141-7842