ณ จุดที่สามโลกธาตุ คือ สวรรค แดนมนุษย์ และบาดาล มาบรรจบกัน เมื่อวันที่ 5 เดือน 5 ปี 2555 ขึ้น 15 ค่ำ ได้มีพิธีสมโภชมหารัตนเจดีย์ศรีไตรโลกธาตุ ณ วัดทุ่งเศรษฐี ใจกลางเมืองขอนแก่น อย่างยิ่งใหญ่ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวและการเรียนรู้ทางศาสนา ที่โดดเด่นด้วยศิลปกรรมหนึ่งเดียว ตามแบบแผนทางสถาปัตยกรรมแนวจารีต ด้วยแนวทางการออกแบบร่วมสมัย ให้เป็นศูนย์รวมของของผู้คนทุกหมู่เหล่า และทุกความเชื่อโดยไม่มีการแบ่งแยก…
[nggallery id=15]
“ถึงเวลาที่จะกลับไปโปรดลูกหลานตนเองในบ้านเกิดที่ขอนแก่น” ส่วนหนึ่งของคำบอกเล่าจากลูกศิษย์ที่เคารพรักใน “หลวงตาอ๋อย” หรือที่รู้จักกันในนาม “หลวงตาอ๋อยย่ามแดง” ผู้ซึ่งเป็นผู้อุปัฎฐากครูบาอาจารย์พระกรรมฐานสายวัดป่าในภาคอีสาน ตลอดจนเป็นผู้อุทิศตนในการช่วยเหลือผู้คนมากมาย ได้บอกให้สร้างมหาเจดีย์ สิ่งก่อสร้างทางพระพุทธศาสนาแห่งนี้ขึ้น เพื่อสงเคราะห์ลูกหลาน และให้เหล่าชาวพุทธได้มีโอกาสสร้างกุศลสะสมบุญครั้งยิ่งใหญ่
ต่อมาในปี 2542 หลวงตาอ๋อยได้เห็นด้วยญาณวิถี ว่าที่ดินเก่าแก่ราว 5 ไร่ ที่ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่นแห่งนี้ เป็นแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นช่องทางสำคัญที่เหล่าเทวดาทั้งที่สถิตย์อยู่เบื้องบนและเบื้องล่าง ใช้เป็นที่สัญจรติดต่อกัน โดยมีโลกมนุษย์เป็นแดนกลาง ซึ่งหลวงตาอ๋อยเรียกว่า “แผ่นดินสามโลกธาตุ” ที่ได้มีการขุดพบพระขรรค์สำริดโบราณเข้าโดยบังเอิญ ทำให้หลวงตาดำริให้ลูกหลานศิษยานุศิษย์ร่วมกันก่อสร้างมหารัตนเจดีย์ขึ้น บนที่ดินรวมกว่า 73 ไร่ ที่ได้จัดซื้อเพิ่มเติมให้เพียงพอเหมาะสมกับการสร้างสิ่งปลูกสร้างทางพระพุทธศาสนาแห่งนี้ โดยได้ถวายชื่อว่า “มหาเจดีรัตนะ” หรือ “มหาเจดีย์ศรีไตรโลกธาตุ” เพื่อประกอบความมุ่งหมาย 3 ประการ คือ 1. สถาปนามหารัตนเจดีย์ฯ ไว้เป็นพุทธบุชา และเป็นที่ระลึกถึงมหาเจดีย์องค์สำคัญสามองค์ในสามโลก คือ เจดีย์บุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นาคเจดีย์ในนาคพิภพ และมหารัตน์เจดีย์ศรีไตรโลกธาตุ (มหาเจดีย์รัตนะ) แห่งนี้ ผู้มาสักการะบูชาย่อมเท่ากับได้กราบบูชาเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ 3 แห่ง ในสามโลกพร้อมกัน 2.เพื่อน้อมเอาบุญเอาคุณความดีแห่งการสร้างมหาเจดีย์ฯ นี้ ถวายแด่พระบาทสทเด็จพระเจ้าอยู่หัว และราชวงศ์จักรีที่ท่านเทิดทูนยิ่ง 3. ให้ลูกหลานศิษย์และประชาชนทั่วไปใช้เป็นนาบุญแห่งการทำกุศลบำเพ็ญคุณความดี
กำธร ศีลอุดมทรัพทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา บริษัท น้อมบุญ จำกัด ซึ่งหลวงตาอ๋อย ได้มอบหมายได้รับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบมหารัตนเจดีย์ เล่าให้ฟังว่า ตอนแรกไม่คิดว่าจะออกแบบได้ เพราะไม่มีประสบการณ์ออกแบบงานสถาปัตยกรรมเช่นนี้มาก่อน แต่ก็เกิดแรงบันดาลใจขึ้นจากเหตุการณ์เหมือนกับฝันและจริงในคืนที่ไปถือศีลสมาธิ โดยตอนนั้นหลวงตาอ๋อยพาข้ามมิติไปเห็นหมู่ปราสาทขอมงดงามที่มีแผนผังซับซ้อน พร้อมกับบอกว่าในอดีตชาติตนเคยเป็นผู้ออกแบบปราสาทบายนมาก่อน จากภาพวันนั้นงานออกแบบที่ไม่เคยทำและที่คิดว่าไม่ถนัดจึงเกิดขึ้นภายใต้แรงบันดาลใจจากภาพที่หลวงตาท่านพาไปเห็นก็เสร็จสมบูรณ์ในเวลาอันรวดเร็ว ภายใต้ แนวคิดการออกแบบหมายถึง “พุทธภาวะ” ตั้งอยู่ท่างกลางบึงน้ำล้อมรอบ 4 ทิศ เปรียบเป็นโอฆสสงสารอันสัตว์ทั้งหลายวียนว่ายตามเกิดอยู่ปลียอดของพระมหาเจดีย์รูปดอกบัวตูมสื่อถึงพุทธภาวะ หมายความว่า ดอกบัวแห่งความรู้แจ้งนี้ผุดงอกมาจากบึงน้ำแห่งวัฎสงสาร เติบโตขึ้นเพื่อเบ่งบานสู่เบื้องบน คือพระนิพพานในที่สุด ฐานทักษิณาเป็นรูปสี่เหลี่ยมแทนพระอริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันเป็นอุดมสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ และนำมาเผยแพร่
ส่วนเจดีย์ทิศทั้งสี่แทนมหาภูตรูป 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันเป็นธาตุองค์ประกอบพื้นฐานของโลก ซึ่งเป็นที่สถิตของ เทวรูปแทนองค์ท้าวจาตุมหาราชิกาทั้ง 4 เทวราช ผู้ดูแลมนุษย์ พิทักษ์โลก และพระพุทธศาสนา เริ่มจากทิศเหนือ-ธาตุไฟ เป็นที่สถิตของท้าวเวสสุวัณ หรือ ท้าวกุเวร จ้าวแห่งจิตวิญญานและโชคลาภ ทิศตะวันออก-ธาตุลม จ้าวแห่งคนธรรพ์ ทิศใต้-ธาตุดิน ท้าววิรุฬหก จ้าวแห่งปฐพีและจตุบาท และทิศตะวันตก-ธาตุน้ำ เป็นที่สถิตของท้าววิรูปักษ์ จ้าวแห่งนาค ห้วงน้ำบาดาลและอปาทิกะ
ฐานชั้นที่ 2 ส่วนประดิษฐานพระประธานเป็นรูป 8 เหลี่ยม หมายถึงมรรคมีองค์ 8 ทางสายกลาง อันเป็นแนวปฏิบัติเพื่อสู่นิพพาน องค์พระเจดีย์ออกแบบให้เป็นวิหารลักษณ์เป็นคัพภวิสัย คือเป็นห้องโถงโล่งทรงระฆังคว่ำ ประดิษฐานพระประธาน คือ พระพุทธนีลวรรโณศีโลทรัพยุดม (หลวงปู่เจ้าพระองค์ดำ) เป็นพระพุทธรูปสำริดทรงเครื่องจักรพรรดิปิดทองประดับด้วยอัญมณีสีต่างๆ