สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดพร้อมเป็นพันธมิตรนำธุรกิจไทยขยายสู่ตลาดโลก

0
420
image_pdfimage_printPrint

–       ปัจจุบันแนวโน้มธุรกิจไทยมองหาทางเลือกเพื่อการขยายฐานการผลิต การเข้าถึงวัตถุดิบและโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ทั่วโลก

–       สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดชูจุดแข็งในการผสานความแข็งแกร่งของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ความเข้าใจธุรกิจของลูกค้า ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารเงินและแหล่งทุนสนับสนุนการขยายธุรกิจไทย

–       เชื่อว่าในอนาคตบริษัทไทยจะลงทุนในต่างประเทศเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ

วันนี้ (16 พฤษภาคม 2556) – ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดชี้บริษัทไทยในปัจจุบันไม่รอการลงทุนจากต่างประเทศอีกต่อไป แต่กลับมองหาโอกาสใหม่ๆ และลงทุนในการขยายฐานการผลิตและรุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น สำหรับบริษัทที่ต้องการเงินทุนเพื่อการขยายธุรกิจก็ไม่ยึดติดกับรูปแบบการขอสินเชื่ออีกต่อไป แต่กลับมองหาแหล่งทุนที่หลากหลาย อีกทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ธุรกิจอย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

 

นายพลากร หวั่งหลี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาดลูกค้าบริษัทและสถาบัน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในช่วง 5 ปีหลังมานี้ ผมสังเกตว่าบริษัทไทยที่มีสภาพคล่องและมีความพร้อม เริ่มมองหาทางเลือกเพื่อการเติบโตไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานการผลิต หรือขยายโอกาสในตลาดใหม่ๆ ทั่วโลก จึงทำให้แนวโน้มการลงทุนของบริษัทไทยเติบโตสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้บริษัทไทยออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้อย่างเสรีมากขึ้น”

 

“สำหรับแรงจูงใจในการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทไทยนั้น โดยรวมแล้วแบ่งได้เป็น 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรกเพื่อแสวงหาตลาดใหม่หรือรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมในประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่หรือมี

 

แนวโน้มที่จะเติบโตสูง ประเด็นที่สองเพื่อแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติและเข้าถึงวัตถุดิบที่ถูกกว่าในประเทศ และประเด็นสุดท้ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต” นายพลากรกล่าวต่อ

 

ปัจจุบันบริษัทต่างๆ ต้องการเงินทุนจำนวนมากขึ้นเพื่อการขยายธุรกิจ แม้ว่าในปัจจุบันการขอสินเชื่อจะยังคงเป็นวิธีที่นิยม แต่ก็พบว่ารูปแบบของการสนับสนุนทางการเงินของธนาคารพัฒนาไปในรูปแบบที่หลากหลายและแตกต่างจากเดิม เช่น การให้เงินกู้ร่วม การระดมทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ และยิ่งเมื่อขอบเขตการขยายธุรกิจไปสู่นานาชาติมากขึ้น ทำให้การให้บริการของธนาคารต้องรองรับการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศของลูกค้าด้วย

 

ข้อได้เปรียบของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดที่มีเหนือธนาคารอื่นอย่างเห็นได้ชัดก็คือ ธนาคารได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 119 ปี ทำให้มีความเข้าใจในลูกค้าและตลาดไทยเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครบทุกแง่มุม โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาในด้านการซื้อหรือควบรวมบริษัท และการระดมทุนในต่างประเทศผ่านตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ ซึ่งล้วนเป็นการสนับสนุนลูกค้าให้มีแหล่งทุนที่หลากหลายยิ่งขึ้น ดังนั้นธนาคารต้องมีความสามารถในการนำหุ้นหรือพันธบัตรเข้าสู่ตลาดในประเทศต่างๆ นอกจากนั้นธนาคารที่มีข้อได้เปรียบจะต้องมีสาขาที่ดำเนินการในตลาดนั้นๆ ด้วยเพื่อให้มั่นใจว่ามีฐานของนักลงทุนที่เป็นลูกค้าของธนาคารมากพอที่จะทำให้การระดมทุนดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

 

ตั้งแต่ปลายปี 2555 เป็นต้นมา ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ได้มีส่วนสนับสนุนการขยายธุรกิจของบริษัทต่างๆ ได้แก่ กลุ่มบริษัทปตท. กลุ่มบ้านปู กลุ่มซีพี และกลุ่มทีซีซี เป็นต้น

 

และเนื่องด้วยพื้นฐานของธุรกิจธนาคาร คือ ความเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง และการรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นที่มีต่อลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ธนาคารจึงปรับปรุงโครงสร้างการทำงานใหม่ๆ ที่ทำให้สามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ในปี 2556 นี้ สายงานการตลาดลูกค้าบริษัทและสถาบันได้ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการลูกค้าใหม่โดยเน้นตามความเชี่ยวชาญในแต่ละประเภทอุตสาหกรรม เพื่อให้บุคลากรที่ดูแลลูกค้า หรือ Relationship Manager ทำหน้าที่เป็น Solution Provider ที่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมได้อย่างครบครันและตรงจุด อีกทั้งยังทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์บริการทางการเงินที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

ขณะนี้สายงานการตลาดลูกค้าบริษัทและสถาบันแบ่งกลุ่มลูกค้าตามประเภทอุตสาหกรรมเป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานสาธารณูปโภคและทรัพยากร 2) กลุ่มธุรกิจการเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม 3) กลุ่มเทคโนโลยีการสื่อสาร และอิเล็กทรอนิกส์ 4) กลุ่มอุตสาหกรรมหนักและก่อสร้าง และ 5) กลุ่มธุรกิจสถาบันการเงิน

 

“ผมคิดว่าเทรนด์ของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศจะยังคงเปลี่ยนแปลงไปได้อีก กล่าวคือ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จุดประสงค์ของการลงทุนของบริษัทไทยอาจจะเน้นไปที่การเข้าถึงเทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมแทนที่จะเป็นการขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพการผลิตเพียงอย่างเดียว” นายพลากรกล่าวปิดท้าย