ไทยร่วมมือจัดงานด้านอุตสาหกรรมยาครั้งแรก เตรียมพร้อมยกระดับการผลิตยาครบวงจร มุ่งเป้าขึ้นแท่นผู้นำตลาดยาด้วยมาตรฐานและแนวคิดที่ทันต่อยุค

0
668
image_pdfimage_printPrint

ยูบีเอ็ม เอเชีย ร่วมกับสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน, บีโอไอ และทีเส็บ แถลงความพร้อมจัดงานแสดงวัตถุดิบและส่วนประกอบในการผลิตยา และการบริการการผลิตยาครบวงจร “ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2019 (CPhI South East Asia 2019)” ครั้งแรกในไทย ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยกระดับการผลิตในอุตสาหกรรมยาของไทยให้ขึ้นแท่นผู้นำผ่านมาตรฐานระดับสูง หลังได้รับความไว้วางใจจากนานาประเทศในอาเซียนมาอย่างยาวนาน โดยไทยรั้งตลาดยาอันดับ 2 รองจากอินโดฯ ด้วยมูลค่าที่มากกว่า 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งการนำงานวิจัยพร้อมเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิตยา จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน รวมไปถึงการสร้างสรรค์เภสัชภัณฑ์และเวชภัณฑ์ชนิดใหม่ที่ทันต่อยุคสมัย อาทิเช่น ยาชีวมวลวัตถุ หรือ Biosimilars ที่กำลังเป็นกระแสในวงการยาปัจจุบัน

นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ ภูมิภาคอาเซียน บริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจากการตระหนักถึงศักยภาพของตลาดยาไทยที่รับใช้ประชาชนทั้งในประเทศและในอาเซียนมาอย่างยาวนาน จึงเล็งเห็นว่าควรจัดงานแสดงส่วนประกอบยาขึ้นในไทย หลังจากที่งานนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วยุโรปและเอเชีย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ให้เข้าถึงโอกาสในการพบกับส่วนประกอบหรือคู่ธุรกิจที่จะช่วยยกระดับการผลิตให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นไปอีก โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีเจตนารมณ์เดียวกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทย ทั้งยังได้รับการตอบรับจากองค์การอาหารและยาของกลุ่มประเทศในอาเซียนสำหรับการเข้าร่วมงานสัมมนา หัวข้อ ASEAN Regulatory Framework จากประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เพื่อสร้างความเข้าใจและปูพื้นฐานให้ผู้ประกอบการสามารถยกระดับการผลิตเพื่อส่งออกได้มากขึ้น
ด้านนายเชิญพร เต็งอำนวย นายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน เปิดเผยว่า เป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรมยาไทยในตอนนี้ แบ่งได้เป็น 2 ด้าน ด้านแรกคือสร้างการรับรู้กับประชาชนว่ายาไทยมีมาตรฐานการผลิตที่สูงมาก ในขณะเดียวกันก็มีราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ด้านที่สองคือสนับสนุนผู้ประกอบการให้ยกระดับและพัฒนาการผลิตอยู่เสมอ โดยในปัจจุบันผู้ผลิตยาในไทยมีจำนวนมากกว่า 150 บริษัท ซึ่งมีความสามารถในการผลิตยาที่ได้มาตรฐาน ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทั้งยังมีบางส่วนที่ผ่านมาตรฐานระดับสูงของอุตสาหกรรมยาระดับโลก อันเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและยกระดับคุณภาพของยาไทยให้มีชื่อเสียงมากขึ้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยาไทย ยังเปรียบได้กับการเป็นกระเป๋ายาที่สำคัญของอาเซียน เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกหลักในการส่งยาไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในอาเซียนให้สามารถเข้าถึงยาคุณภาพดี ราคาถูก
ส่วนนายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการกองบริหารการลงทุน 1 (บีโอไอ) กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับอุตสาหกรรมยาของไทย บีโอไอมีบทบาทในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีต้นทุนการดำเนินการที่ลดลง ได้แก่ การยกเลิกอากรนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และยกเลิกภาษีเงินได้นิติบุคคล นอกจากนี้ทางบีโอไอเองยังเล็งเห็นถึงการผลิตยาให้ทันต่อยุคสมัย เช่น Biosimilars หรือยาชีวมวลวัตถุ ที่ไม่ใช้สารเคมีในการผลิต อันจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยาไทยที่ยังคงต้องพึ่งการนำเข้าวัตถุดิบเคมียาจากต่างประเทศ โดยบีโอไอสนับสนุนการผลิตยาชีวมวลวัตถุด้วยการให้สิทธิประโยชน์ที่มากกว่าการผลิตยาทั่วไป ซึ่งยาประเภทนี้กำลังเป็นที่จับตามองในตลาดอาเซียน ส่วนในประเทศไทยเอง รัฐก็ได้ให้การสนับสนุนการใช้ยาประเภทนี้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ดังนั้น อัตราการเติบโตของยาชีวมวลวัตถุน่าจะมีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ สอดรับกับจำนวนประชากรสูงอายุและพฤติกรรมรักสุขภาพของผู้ใช้ยา ที่อยากจะใช้ยาจากธรรมชาติมากกว่ายาที่มาจากสารเคมีหากสามารถเลือกได้

ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2019 (CPhI South East Asia 2019) หรือ งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านวัตถุดิบและส่วนประกอบการผลิตยาครบวงจรสำหรับเภสัชอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 12-14 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อรองรับความต้องการและการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการผลิตยา ตอบรับเข้าร่วมแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์กว่า 270 ราย กว่า 25 ประเทศทั่วโลก พร้อมทั้งพาวิเลี่ยนนานาชาติจาก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย กาตาร์ สิงคโปร์ ไต้หวันและไทย ทั้งยังมีส่วน Product Showcase ที่จัดแสดงนวัตกรรมของอุตสาหกรรมยา และการจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติที่น่าสนใจอีกมากมาย สำหรับผู้สนใจ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.cphi.com/sea หรือโทร 02-036-0500