SACICT ปลื้ม “๑ ทศวรรษ อัตลักษณ์แห่งสยาม” ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ยอดจำหน่ายสินค้าหัตถศิลป์ไทย สูงกว่า ๕๖ ล้านบาท

0
465
image_pdfimage_printPrint

ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นสำหรับงาน “๑ ทศวรรษ อัตลักษณ์แห่งสยาม” ได้รับการตอบรับจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าชมผลงานและอุดหนุนผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ไทยจากครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ตลอดทั้ง ๔ วันของการจัดงาน สร้างรายได้กว่า ๕๖ ล้านบาท

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า งาน “๑ ทศวรรษ อัตลักษณ์แห่งสยาม” ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่อง ครบรอบ ๑๐ ปี โดยในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “หัตถศิลป์ล้ำค่า รักษาไว้ให้ลูกหลาน : The Artisanal Collectibles” เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงชิ้นงานศิลปหัตถกรรมซึ่งผ่านองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษมายาวนาน ผ่านรุ่นสู่รุ่นมายังครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และพร้อมส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่และผู้คนในปัจจุบันที่เห็นคุณค่าของงานหัตถศิลป์ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ได้รับกระแสตอบรับและการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ให้ความสนใจร่วมงานและอุดหนุนสินค้างานหัตถศิลป์ไทยอันทรงคุณค่าจากฝีมือชั้นครูกันอย่างคึกคัก

ซึ่งส่งผลให้ตลอดการจัดงานทั้ง ๔ วัน มีผู้เข้าชมงานและสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางต่าง ๆ จำนวนมาก และมียอดซื้อขายภายในงานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้กว่า ๕๖ ล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมียอดซื้อขายภายในงาน ๕๐ ล้านบาท สำหรับร้านจำหน่ายสินค้าที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมและมียอดจำหน่ายสูงสุด ๕ อันดับ ได้แก่ ร้านอุษาคเนย์ โดย ครูจารุเดช เครือปัญญา ครูช่างศิลปหัตถกรรม, ร้านขวัญเงิน โดยครูขวัญ พลเหิม ครูช่างศิลปหัตถกรรม, ร้านเครื่องถมครูอุทัย โดย ครูอุทัย เจียรศิริ ครูศิลป์ของแผ่นดิน, ร้านคำปุน โดยครูคำปุน ศรีใส และครูมีชัย แต้สุจริยา ครูศิลป์ของแผ่นดิน และกลุ่มมัดหมี่โฮลโบราณสีธรรมชาติ โดย ครูสุรโชติ ตามเจริญ ครูศิลป์ของแผ่นดิน นอกจากนี้ ภายในงานยังเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้งานหัตถศิลป์ให้กับเยาวชน คนรุ่นใหม่ รวมถึงผู้สนใจงานศิลป์หัตถกรรมอีกด้วย

“ทั้งนี้ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ร่วมชมงาน “๑ ทศวรรษ อัตลักษณ์แห่งสยาม” จะได้รับความรู้ แรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ รวมถึงได้สัมผัสและรับรู้ถึงความวิริยะอุตสาหะในฝีมือเชิงช่างชั้นสูงจากครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งจะยิ่งสร้างความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาที่สั่งสมและสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้หวังว่าการจัดงานในครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ แบ่งปันโอกาสแก่ชุมชนท้องถิ่น และชาวบ้าน รวมทั้งเครือข่ายของครูและทายาทในภูมิภาคต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในครั้งต่อไปจะได้มีโอกาสต้อนรับและได้รับการสนับสนุนจากทุกท่านด้วยดีเหมือนเช่นเคย” นางอัมพวัน กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ในครั้งต่อไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) โทร.๑๒๘๙ และดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.sacict.or.th และ www.facebook.com/sacict