สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯระบุชัด! การพัฒนางานวัคซีนต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน แต่…ความสำเร็จจะเกิดได้จริง ทุกภาคส่วนต้องสนับสนุน อย่างจริงจัง เพียงพอ ต่อเนื่อง

0
351
image_pdfimage_printPrint

ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติฯ(สวช.)กล่าวว่า ไทยเริ่มนำ“วัคซีน”มาใช้ในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 และประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง สามารถใช้วัคซีนในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราการเกิดโรคและการเสียชีวิตของประชนจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนลดลงอย่างมาก ภาครัฐสามารถให้บริการวัคซีนพื้นฐานครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่าร้อยละ 90 ในทุกพื้นที่ ส่งผลให้ไทยเป็น1ใน12 ประเทศที่ได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO)ว่าเป็นประเทศที่ใช้วัคซีนได้ดี
อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นพัฒนางานด้านวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านวัคซีนที่กำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนางานวัคซีนไว้อย่างชัดเจน มีการยกระดับการพัฒนาวัคซีนให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้วัคซีนในการป้องกันโรคที่สูงขึ้นของประชาชน เป็นการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้แก่ประเทศ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมด้านวัคซีนในการรับมือกับการระบาดของโรคทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน
ดร.นพ.จรุงกล่าวและอธิบายว่า ที่ผ่านมาการพัฒนางานด้านวัคซีนของไทยได้มีการดําเนินงานอย่างเป็นลําดับขั้นตอน เริ่มจากการศึกษาทดลองในระดับห้องปฏิบัติการ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการนำวัคซีนไปใช้ทดสอบกับสัตว์ทดลองเพื่อศึกษาความปลอดภัย ความสามารถในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและประสิทธิผลของวัคซีน จากนั้นมีการนำวัคซีนไปทดสอบทางคลินิกเพื่อศึกษาความปลอดภัย ความสามารถในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและประสิทธิผลของวัคซีนในคน โดยแบ่งการทดสอบออกเป็น 4 ระยะคือ ระยะที่ 1 ศึกษาความปลอดภัย ระยะที่ 2 ศึกษาการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกัน ระยะที่ 3 ประสิทธิผลของวัคซีน และ ระยะที่ 4 การเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยหลังการขึ้นทะเบียนจำหน่ายแล้ว ตลอดจนผลการป้องกันโรคในระดับภาพกว้างในระบบสาธารณสุข ตามลำดับ
ทั้งนี้การนำวัคซีนที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพทางคลินิกมาขอนุญาติขึ้นทะเบียนและทำการผลิตทั้งในระดับกึ่งอุตสาหกรรมและระดับอุตสาหกรรมนั้น จะมีกระบวนการควบคุม ตรวจสอบและประเมินคุณภาพอย่างเป็นระบบ ได้แก่ การควบคุมกำกับดูแลการขึ้นทะเบียนตำรับ การตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสถานที่ผลิต การรับรองรุ่นผลิตภัณฑ์วัคซีนก่อนออกจำหน่าย การตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์วัคซีน การควบคุมกำกับดูแลการศึกษาวิจัยวัคซีนในมนุษย์ และการตรวจสอบติดตามและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์วัคซีนหลังได้รับทะเบียนตำรับยา
ดร.นพ.จรุงยังกล่าวอีกว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน)ในฐานะหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศ ได้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยพัฒนาวัคซีน ตามแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 – ปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนที่เป็นเป้าหมายของประเทศ ได้แก่ วัคซีนโรคไข้เลือดออกเดงกี่ วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนวัณโรคชนิดใหม่ วัคซีนเดี่ยว คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบีและวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบ
สำหรับปีงบประมาณ 2561 นี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯมีแผนการพัฒนาวัคซีนชนิดต่างๆ ทั้งในกลุ่มวัคซีนพื้นฐาน วัคซีนที่เป็นปัญหาฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งวัคซีนชนิดใหม่ๆ รวม 12 ชนิด โดยให้การสนับสนุนใน 2 รูปแบบ คือ 1) การให้ทุนสนับสนุน เพื่อพัฒนาวัคซีนต้นแบบ วิธีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ กระบวนการผลิต พัฒนาสารเสริมฤทธิ์และระบบนำส่ง และการใช้วัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การวิจัยพัฒนา ผลิต ควบคุมกำกับ การใช้ การติดตามหลังออกสู่ตลาด ได้แก่ วัคซีนไข้เลือดออกเดงกี่,วัคซีนไข้หวัดใหญ่ , วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก,วัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ ,วัคซีนรวมบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ , วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ , วัคซีนวัณโรค , วัคซีนพิษสุนัขบ้า , วัคซีนโรค มือ เท้า ปาก ,วัคซีนป้องกันวัณโรคชนิดใหม่ 2) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานเชิงเทคนิคและการบริหารจัดการได้แก่ การสนับสนุนให้มีผู้จัดการโครงการ สำหรับ วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี, วัคซีนซิกา, วัคซีนรวมคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก, วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกและ วัคซีนไข้เลือดออกเดงกี่และการบริหารจัดการและติดตามในรูปแบบคณะทำงานเฉพาะ สำหรับวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี ,วัคซีนซิกาและวัคซีนป้องกันวัคซีนโรคชนิดใหม่
นอกจากนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯ ยังได้จัดทำกรอบการวิจัยพัฒนาวัคซีนประจำปีงบประมาณ 2562 และได้ประกาศรับสมัครทุนเรียบร้อยแล้ว โดยได้แบ่งกรอบการวิจัยพัฒนาวัคซีนเป็น 4 ประเภท ได้แก่ สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนเป้าหมาย สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนที่อยู่ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนอื่นๆ ที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์วาระแห่งชาติด้านวัคซีน หรือเป็นความต้องการเร่งด่วนของประเทศ สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่
“แม้การพัฒนางานวัคซีนของไทยจะดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จริง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมถึงการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ทั้งในด้านงบประมาณที่เพียงพอต่อเนื่อง และการสนับสนุนเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรม นอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้กับประเทศได้แล้ว ยังสามารถพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศให้มีศักยภาพ มีผลงานวิจัยด้านวัคซีนที่ได้มาตรฐานสากล สามารถต่อยอดสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม เป็นการเพิ่มโอกาสของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยพัฒนาวัคซีนในระดับภูมิภาคต่อไปในอนาคตอีกด้วย” ดร.นพ.จรุงกล่าวในตอนท้าย