H7N9 ในทัศนะนักวิทยาศาสตร์ชีวเคมี เหตุที่น่ากลัวเพราะเป็นไวรัสที่กลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

0
265
image_pdfimage_printPrint

เชื้อโรคในโลกปัจจุบันนี้ทั้งเชื้อโรคชนิดที่รู้จักกันดีและเชื้อโรคอุบัติใหม่ทั้งหลาย  ล้วนแต่มีที่มาที่ไป  เรารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือเชื้อโรค  หรือรู้ได้อย่างไรว่าจะใช้วิธีการใดจัดการกับเชื้อโรคต่างๆ เหล่านี้  และสำหรับสถานการณ์โลกล่าสุดที่ทุกประเทศกำลังจับตามองเชื้อโรคตัวหนึ่งอย่างใกล้ชิด  “ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9”  ที่กำลังระบาดอยู่ในจีนและมีแนวโน้มที่เชื้อนี้จะกลายพันธุ์โดยติดต่อได้ระหว่างคนสู่คน  เราควรมีความรู้ในเรื่องนี้เพื่อจะได้รู้เท่าทันโรคและรับมือได้  มาเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับข้อมูลของ H7N9 ในเชิงของวิทยาศาสตร์ชีวเคมี  อีกหนึ่งด้านของสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์เรียกว่าเชื้อโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9

นางสาว ศยามล  สิทธิสาร  นิสิตปริญญาเอกสาขาชีวเคมี   คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ให้ข้อมูลว่า  จากการติดตามข่าวของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ที่กำลังระบาดอยู่ในจีน  ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้แถลงว่า สัตว์ปีกดูเหมือนจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสชนิดนี้  ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว อย่างน้อย 22 ราย ในจำนวนผู้ป่วย 108 คน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนได้เร่งทำการวิจัยเพื่อที่จะบ่งชี้ให้ได้ว่า H7N9 สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้หรือไม่ โดยใช้เทคนิค real-time reverse-transcriptase–polymerase-chain-reaction (RT-PCR), viral isolation หรือ serologic testing โดยใช้ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณที่พบเชื้อ, ผู้ที่ทำงานวิจัย, ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ปีกมาเป็นตัวอย่างในการศึกษาการติดเชื้อ ผลการทดลองล่าสุดพบว่าเชื้อ H7N9 ไม่สามารถติดจากคนสู่คนได้ และเชื้อ H7N9 สามารถติดต่อจากสัตว์ปีกสู่คนได้ง่ายกว่าเชื้อ H5N1เนื่องจากเชื้อ H7N9 มียีนบางยีนและเอนไซม์บางชนิดเกิดการกลายพันธุ์ จึงเกิดการพัฒนาตัวเองให้สามารถเข้าสู่คนได้ง่ายขึ้น   การกลายพันธุ์ (mutation) จัดว่าเป็นกลไกหนึ่งของการวิวัฒนาการ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมหรือแย่ลงกว่าเดิมก็ได้  ในกรณีของเชื้อไวรัส H7N9 นี้คือการกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอดในธรรมชาติให้ได้ดีกว่าเดิม

ซึ่งการที่ไวรัส H7N9 กำลังปรับตัวให้เข้ากับเซลล์ของมนุษย์นี้จะนำมาซึ่งการระบาดใหญ่ได้ในอนาคต  ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังจับตามองและเริ่มศึกษาวิจัยอย่างเจาะลึกถึงลำดับของยีนไวรัส H7N9 โดยมีงานวิจัยล่าสุดที่พึ่งจะตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Eurosurveillance เป็นงานวิจัยของ มาซาโตะ ทาชิโร่ แห่งศูนย์วิจัยไวรัสไข้หวัดใหญ่ สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ และ โยชิฮิโร่ คาวาโอกะ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน และมหาวิทยาลัยโตเกียว  ทีมวิจัยได้ศึกษาลำดับของยีนไวรัส H7N9 ที่ได้จากผู้ป่วยไข้หวัดนก 4 ราย และตัวอย่างจากนกบางตัว รวมทั้งจากสิ่งแวดล้อมในตลาดเซี่ยงไฮ้  งานวิจัยพบว่า  ไวรัสที่มาจากมนุษย์มีการกลายพันธุ์ของโปรตีนที่ทำให้สามารถเติบโตในเซลล์ของมนุษย์ได้ แต่ตัวอย่างจากนกและสิ่งแวดล้อมไม่มีการกลายพันธุ์ดังกล่าว การกลายพันธุ์นี้จะทำให้ไวรัสสามารถเจริญเติบโตได้ในอุณหภูมิที่สอดคล้องกับระบบหายใจส่วนบนของมนุษย์ ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ต่ำกว่าในร่างกายนก  ทั้งนี้การศึกษาครั้งนี้ได้ข้อมูลมาจากลำดับของยีนที่นักวิจัยชาวจีนได้ศึกษาและเก็บไว้ในฐานข้อมูลนานาชาติ ทำให้นักวิจัยได้ร่องรอยทางโมเลกุลจนสามารถสรุปได้ว่า  ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 เป็นไวรัสที่น่ากลัว ทั้งในด้านของวิวัฒนาการ  การแพร่กระจาย  และการกลายพันธุ์  เนื่องจากมีข้อมูลเชิงลึกที่บ่งชี้ว่าไวรัสนี้ปรับตัวกลายพันธุ์เพื่อเจริญเติบโตในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉพาะมนุษย์  จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าไวรัสนี้จะปรับตัวไปเรื่อยๆ เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นมีมากมายหลายชนิด

หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ในการนำเชื้อไวรัสมาศึกษาก็เพื่อหาหนทางที่จะจัดการกับไวรัสชนิดนั้นๆ ได้  สำหรับไวรัสไข้หวัดนก H7N9 นี้ก็คือเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่ง  ซึ่งไข้หวัดใหญ่นั้นจะร้ายแรงเพียงใดก็ขึ้นกับความสามารถของมันในการยึดติดและการสั่งการเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่ให้จำลองและแพร่กระจายตัวมันเองออกไป แต่ด้วยพื้นฐานของเชื้อไข้หวัดนกส่วนใหญ่จะไม่ติดต่อสู่คน  ทำให้การระบาดในจีนครั้งนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่ต้องศึกษาแบบวิเคราะห์เจาะลึก  เพราะไวรัสนี้สามารถไปเปลี่ยนคุณลักษณะบางอย่างของไวรัสไข้หวัดใหญ่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้  ซึ่งก็อาจจะมีความสามารถที่จะไปติดเชื้อในมนุษย์ต่อและมีแนวโน้มที่จะติดต่อจากคนสู่คนได้  จากผลของการวิจัยยังอธิบายด้วยว่า ไวรัสส่วนใหญ่ในการศึกษาครั้งนี้ ทั้งจากคนและนกจะมีการกลายพันธุ์ที่ผิวของโปรตีน hemagglutinin ซึ่งเชื้อโรคใช้ในการจับเข้ากับเซลล์โฮสต์ ส่งผลให้การกลายพันธุ์นี้ทำให้ไวรัสสามารถติดเชื้อสู่เซลล์มนุษย์ได้ง่ายมากขึ้น  สำหรับสถานการณ์ในด้านของการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการค้นหาแหล่งต้นตอของการระบาดในจีนครั้งนี้  ซึ่งถ้าหากพบต้นตอของการระบาดได้ก็จะง่ายต่อการนำไปสู่หนทางของการสร้างวัคซีนมากจัดการกับเชื้อไวรัส H7N9 และสามารถสกัดไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ได้