สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯเดินหน้าภารกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสำรองวัคซีนเพื่อสร้าง
ความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ ตั้ง“หน่วยข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน” (VIMU) ขานรับนโยบายไทยแลนด์4.0 เน้นการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวด้านวัคซีน เพื่อช่วยประเมินสถานการณ์ ประกอบการตัดสินใจสำรองวัคซีนได้อย่างเพียงพอในทุกสถานการณ์ ลดความเสี่ยงต่อ
การขาดแคลนวัคซีน
ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) กล่าวว่า การมีวัคซีนที่มีคุณภาพปลอดภัยและได้มาตรฐานไว้ใช้อย่างเพียงพอต่อการคุ้มครองสุขภาพประชาชนทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉินด้านโรคระบาดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลและการบริหารจัดการวัคซีนที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ สถาบันวัคซีนแห่งชาติในฐานะเลขานุการของคณะอนุกรรมการสำรองวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการสำรองวัคซีนภายใต้แผนยุทธศาสตร์วัคซีน ได้ดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการสำรองวัคซีนแห่งชาติ ที่เห็นชอบให้จัดตั้ง “ระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน” (Vaccine Information and Management System; VIMS) ตามแผนงานการพัฒนาระบบข้อมูลกลางเพื่อการบริหารจัดการสำรองวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์วัคซีน ยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องการจัดการวัคซีนให้มีความเพียงพอและต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และทันการณ์
โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ทำการศึกษาแนวทางในการจัดตั้ง“ระบบข้อมูลกลางตลาดวัคซีน”(VMIS) เพื่อทำหน้าที่ติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวด้านวัคซีนจากทั้งหน่วยงานระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่จัดซื้อจัดหา เช่น UNICEF SD, GAVI Alliance และ PAHO หน่วยงานในประเทศ เช่น กรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นต้น รวมทั้งผู้ผลิตและนำเข้าวัคซีน โดยแบ่งกระบวนการดำเนินการออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอข้อมูล ที่มีการออกแบบโครงสร้างข้อมูลที่สามารถสะท้อนให้เห็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงด้านตลาดวัคซีน คือ ปัจจัยด้านอุปสงค์ (Vaccine Demand) ได้แก่ สถานการณ์ด้านสาธารณสุขของประเทศ (Country Health Profile) ภาระโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนและเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ จำนวนประชากร ความต้องการใช้วัคซีน ตลอดจนข้อเสนอเชิงนโยบาย และข้อเสนอแนะด้านวัคซีนของประเทศและนานาชาติ เช่น วัคซีนที่อยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมคุ้มกันโรค วัคซีนที่อยู่ในโครงการรณรงค์หรือโครงการกำจัดกวาดล้างโรค เป็นต้น และปัจจัยด้านอุปทาน (Vaccine Supply) ได้แก่ ข้อมูลผลิตภัณฑ์วัคซีน ข้อมูลผู้ผลิตและผู้นำเข้าวัคซีน และปริมาณวัคซีนภายในประเทศ เป็นต้น
ดร.นพ.จรุง กล่าวต่อไปว่า ระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน (VIMS) จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวด้านตลาดวัคซีนของประเทศ เพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารสำหรับการบริหารจัดการวัคซีนให้เกิดความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพตลาดวัคซีน (Market Dynamism) ที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยจะเป็นระบบข้อมูลที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยดำเนินการ อย่างเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า “Big Data” และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) หรือวิทยาการข้อมูล (Data Science) เพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีความต่อเนื่องในการดำเนินการ สอดคล้องกับยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่เน้นการพัฒนาองค์กรให้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ หากมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการรวบรวม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูล จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมทั้งโลกถูกเชื่อมต่อถึงกันด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้า ทำให้การทำงานมีความต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง นับว่าเป็นการขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล โดยการใช้ Digital Transformation
“ทั้งนี้คาดว่าในปี 2562 จะเริ่มมีการนำระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีนเข้ามาช่วยใน
การวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ด้านวัคซีน โดยจะเริ่มใช้กับวัคซีนรวมหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) เป็นโมเดลแรก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับฝ่ายบริหารจัดการวัคซีน เพื่อใช้ใน
การวางแผนการสำรองวัคซีนให้มีความเหมาะสม ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะขาดแคลนวัคซีน และเป็นประโยชน์สำหรับผู้ผลิตวัคซีนในการเตรียมการผลิตวัคซีนให้เพียงพอกับปริมาณความต้องการของประเทศที่จะนำไปใช้ในการประเมินสถานการณ์และคาดการณ์แผนงานด้านการใช้วัคซีนในอนาคตได้ต่อไป” ดร.นพ.จรุงกล่าวปิดท้าย
Home สุขภาพ|การแพทย์|ความงาม สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯ ตั้ง“หน่วยข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน” (VIMU) ขานรับไทยแลนด์ 4.0