“ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย” ขึ้นแท่นซีอีโอ SCBAM วางเป้าหมายเป็น บลจ.ที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุด

0
392
image_pdfimage_printPrint

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBAM เปิดเผยถึงนโยบายการบริหารงานภายหลังรับตำแหน่งใหม่ว่าได้วางเป้าหมายให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นลำดับแรก โดยมีแนวทางพัฒนาการปฏิบัติทุกด้านให้เกิดประสิทธิภาพทั้งผลิตภัณฑ์ การบริการและบุคลากร เพื่อเป้าหมายในการเป็น The Most Trusted Asset Management Company หรือ บลจ.ที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุด

สำหรับภารกิจสำคัญที่บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 คือ การสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการบริหารกองทุนภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างผลการดำเนินงานกองทุนระดับ 5 ดาวจากมอร์นิ่งสตาร์ และจะยังคงรักษาคุณภาพเช่นนี้ไว้พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะขยายผลงานติดดาวไปสู่สินทรัพย์ทุกประเภท อีกทั้งยังรักษาความเป็นผู้นำนวัตกรรมในการลงทุนหลากหลายรูปแบบเพื่อเป็นทางเลือกแก่นักลงทุนที่มีความต้องการลงทุนที่ซับซ้อนมากขึ้น

“ที่ผ่านมา บลจ.ไทยพาณิชย์มีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการกองทุนเป็น บลจ.แรก เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจำนวนมหาศาลได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว อีกทั้งช่วยลดข้อผิดพลาดและการมีอคติของมนุษย์ได้ ระบบ AI ยังมีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองเมื่อเจอสถานการณ์รูปแบบต่าง ๆ และสภาพตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นอกจากนี้กระบวนการคัดเลือกหุ้นโดย AI ยังมีศักยภาพที่จะพัฒนากรอบการลงทุนให้กว้างขึ้นไปสู่สินทรัพย์อื่นทั่วโลก ในอนาคตจะต่อยอดไปถึงการนำระบบ AI มาใช้กับการบริหารกองทุนระยะยาวประเภท Retirement Fund อย่างไรก็ตามก็ยังให้ความสำคัญกับศักยภาพผู้จัดการกองทุนควบคู่กันไป ในส่วนกองทุนไหนที่ผู้จัดการกองทุนสามารถสร้างผลงานได้ดีอยู่แล้วก็ต้องดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว

นอกจากการนำ AI มาประยุกต์ในการลงทุนแล้ว บลจ.ไทยพาณิชย์ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืน โดยการจัดตั้งกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นธรรมาภิบาลไทย (SCBTHAICG) โดยเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่มีความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยมองว่า Theme การลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นรูปแบบการลงทุนที่กำลังนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มนักลงทุนทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงกว่า 20% ในช่วงที่ผ่านมา

อีกทั้งยังเน้นการพัฒนาด้านบริการเพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกเพิ่มมากขึ้น เช่น การเปิดบัญชีครั้งแรกผ่านช่องทางดิจิทัล เป็นการสร้างความสะดวกในการลงทุน รวมถึงมีการแนะนำกองทุนอย่างสม่ำเสมอ และการจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ทั้งยังรวมถึงแนะนำให้ปรับพอร์ตอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง ภายใต้การคาดการณ์ความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ชัดเจนเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การลงทุนที่ดี

“เราได้มีการพัฒนาศักยภาพพนักงาน โดยการปรับสัดส่วนของพนักงานที่ทำหน้าที่บริหารกองทุน และพบปะลูกค้าเป็น 75% ซึ่งจากเดิมอยู่ที่ 58% เพื่อลูกค้าจะได้รับการดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดในการลงทุนเพื่อนำไปสู่อิสระทางการเงินในระยะยาวอย่างแท้จริง และได้มีการวางเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 3 แสนราย เป็น 1.5 ล้านราย ภายใน 3 ปี โดย 70% – 80% มาจากช่องทาง Digital บน SCB Easy” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ปัจจุบัน บลจ.ไทยพาณิชย์มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) ณ วันที่ 30 มิ.ย.2561 รวม 1,425,155 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 20.60% เติบโตจากสิ้นปี 2560 คิดเป็นอัตรา 3.7% (AUM ณ 29 ธันวาคม 2560 รวม 1,374,870 ล้านบาท) กองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์ มีการเติบโตมากที่สุดในกลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) โดยมี AUM ณ วันที่ 30 มิ.ย.2561 สูงถึง 392,984 ล้านบาท เติบโต 7.9% จากสิ้นปี 2560 ทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 44.4% และยังครองอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องจากปี 2557

สำหรับธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) มี AUM ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2561 อยู่ที่ 920,422 ล้านบาท ซึ่งรวมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure Fund มูลค่ารวม 144,219 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 20,126 ล้านบาท และธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มี AUM ณ วันที่ 30 มิ.ย.2561 อยู่ที่ 111,748 ล้านบาท (ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน)

สำหรับภาพรวมด้านการลงทุนทั้งในและต่างประเทศช่วงที่เหลือของปีนี้ นายณรงค์ศักดิ์ให้ความเห็นว่า การลงทุนในตลาดหุ้นยังลงทุนได้แม้ความผันผวนยังสูง โดยตลาดหุ้นพัฒนาแล้วได้รับอานิสงค์จากการบริโภคภายในประเทศและการจ้างงานที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากนโยบายการคลัง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่รัฐบาลปรับลดภาษีทั้งภาษีบุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล การที่เศรษฐกิจขยายตัวดีก็จะส่งผลบวกต่อเนื่องถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ขยายตัวดีกว่าคาดในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา

สำหรับตลาดหุ้นเกิดใหม่ยังมีความผันผวนสูงและขาดปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยกดดันตลาดหุ้นเกิดใหม่ในปีนี้มาจากความกังวลจากการทำสงครามการค้าของสหรัฐฯ กับจีน และนโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้นของสหรัฐฯ การแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ และการปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ส่งผลให้นักวิเคราะห์ปรับลดเป้าหมายการขยายตัวของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากสินทรัพย์ในภูมิภาคอย่างมาก อย่างไรก็ตามปัจจัยกังวลทั้งในเรื่องนโยบายการเงินและสงครามการค้าได้ถูกสะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นค่อนข้างมากแล้ว จะเห็นได้จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นเกิดใหม่กว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าของตลาดหุ้นเอเชียได้ปรับตัวลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว ซึ่งเป็นระดับที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนระยะยาว

ส่วนตลาดหุ้นไทยมองว่ายังมีโอกาสปรับตัวผันผวนในขาขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังเติบโตต่อเนื่องหรือฟื้นตัวจากฐานต่ำในอดีตที่จะช่วยเสริมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะได้ประโยชน์จากปัจจัยเหล่านี้ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในอนาคต ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกทั้งอาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบรถยนต์ การเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยที่ฟื้นตัวดีจากปีก่อน รวมไปถึงการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ทำให้การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าส่งผลดีต่อแนวโน้มผลประกอบการของกลุ่มธนาคารในท้ายที่สุด

ขณะที่ตราสารหนี้ควรเน้นลงทุนระยะสั้น เนื่องจากผลตอบแทนตราสารหนี้โลกยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักๆ ของโลก มีแนวโน้มดำเนินนโยบายตึงตัวต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น ตามตลาดแรงงานที่ฟื้นตัว และราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลโลกยังไม่น่าจูงใจเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ไทยเนื่องจากมีต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างสูง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในครึ่งปีหลัง ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลง จากมาตรการภาษีการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะกับจีน และอาจขยายวงกว้างไปสู่ประเทศคู่ค้าอื่น ๆ เช่น ยุโรป และแนวโน้มการจ้างงานที่ตึงตัวขึ้น รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้อัตราการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่สภาพคล่องในตลาดเงินโลกมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากการลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) การชะลอวงเงิน QE ของธนาคารกลางยุโรป จะส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนเพิ่มขึ้นและผลตอบแทนจากการลงทุนลดลงเปรียบเทียบกับช่วงที่สภาพคล่องทางการเงินทรงตัวในระดับสูง