วทส.ตอบรับนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม EEC เปิดสนามบินวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามให้บริการเชิงพาณิชย์

0
350
image_pdfimage_printPrint

จากนโยบายของภาครัฐที่จัดให้มีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 โดยภูมิภาคเอเชียเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนโลก ทั้งด้านการลงทุน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยถือเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดของการลงทุนในอาเซียน เพื่อเชื่อมเอเชียและเชื่อมโลกไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ยังส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์

วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (วทส. หรือ STC.) มองเห็นโอกาสร่วมสร้างประเทศไทยเป็นฮับด้านโลจิสติกส์ เตรียมเปิดสนามวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เพื่อเปิดให้บริการด้านการบินในเชิงพาณิชย์ และเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการบินแบบครบวงจรแห่งแรกในจังหวัดราชบุรี พร้อมกันนี้ยังได้เปิดเป็นสถานที่ศึกษาภาคปฏิบัติของนักศึกษาสาขาวิชาการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน คณะเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม นับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวในไทยที่มีสนามบินให้นักศึกษาได้เรียนปฏิบัติ และอุปกรณ์การศึกษาที่ทันสมัยแห่งหนึ่งในประเทศ

รศ.ดร.ศักดิ์ กองสุวรรณ ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านการพัฒนา และอาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต กล่าวว่า สนามบินวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ตั้งอยู่ที่ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ห่างจากกรุงเทพมหานคร 102 กิโลเมตร เป็นสนามบินเอกชนแบบ 2B (เครื่องบินขนาดเล็ก) แห่งแรกของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2538 โดยให้บริการทางด้านการบินทั้งในส่วนของการพัฒนาทักษะของนักบิน และบริการการบินแก่สมาชิก โดยเปิดเป็นสนามบินพาณิชย์สำหรับเครื่องบินขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อตอบสนองการเดินทางทางอากาศในภูมิภาคและแนวชายแดนตะวันตกของประเทศเชื่อมต่อกับพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม EEC เชื่อมสนามบินอู่ตะเภา โดยจะมีพิธีเปิดสนามบินอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2561

สนามบินวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามมีพื้นที่รันเวย์ยาว 1,520 เมตร กว้าง 35 เมตรเป็นไปตามมาตรฐาน FIA และมีโรงเก็บเครื่องบิน พื้นที่สนามบินทั้งหมดประมาณ 210 ไร่ สำหรับด้านมาตรฐานการบินสนามบินวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามได้รับการตรวจสอบจาก ICAO หรือชื่อเต็ม The International Civil Aviation Organization (องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ) เป็นที่เรียบร้อยแล้วทำให้มั่นใจได้ว่าสนามบินวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามเป็นสนามบินขึ้นลงชั่วคราวที่ได้มาตรฐานแห่งหนึ่งของประเทศไทย

“หลังจากที่เราได้รับอนุญาตให้เปิดสนามบินจากหน่วยงานควบคุมมาตรฐานการบินและภาครัฐ เราพร้อมเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ โดยจะเปิดให้บริการเป็นสถานที่จอดพักเครื่องบิน และบำรุงรักษาเครื่องบินส่วนบุคคล ในอนาคตจะมีการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมอากาศยานขนาดเล็ก เนื่องจากการเดินทางจากกรุงเทพฯ มาจังหวัดราชบุรีสะดวกและไม่ไกล จากการพัฒนาทางด่วนระหว่างเมืองจากจุดเชื่อมต่อสามารถเข้าถึงสนามบินได้ ไม่เกิน 16 กิโลเมตรทำให้ไม่ต้องเสียเวลากับการเดินทางเพื่อไปขึ้นเครื่องที่ดอนเมืองเหมือนกับในอดีต” รศ.ดร.ศักดิ์ กองสุวรรณ กล่าว

นอกจากนี้ สนามบินวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามจะให้บริการด้านโรงเรียนการบิน โดยใช้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติของนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน นักศึกษาจะได้เรียนรู้กับเครื่องบินของจริงและเครื่องมืออันทันสมัย วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกที่มีสนามบินไว้รองรับการเรียนของนักศึกษาในหลักสูตรนี้ ในอนาคตวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามจะเปิดให้บริการหลักสูตรผลิตนักบินและอาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบินได้ด้วย

“สนามบินวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามถือเป็นสนามบินฝึกหัดนักบินที่สวยที่สุดในประเทศไทย โดยขณะนี้เราได้รับใบอนุญาตของ CAAT (สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว” รศ.ดร.ศักดิ์ กองสุวรรณ กล่าว

ทั้งหมดนี้ คือ แผนในการพัฒนาสนามบินวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามให้เป็นสนามบินที่มีความพร้อมทั้งการให้บริการและการศึกษาอันเป็นนโยบายของท่านอธิการบดี ผศ.พรพิสุทธิ์ มงคงวนิช ที่ต้องการพัฒนาให้นักศึกษาไทยมีความรู้เรื่องการบินทัดเทียมกับนานาชาติ และยังเป็นการสร้างประเทศไทยให้มีพร้อมที่จะเป็นฮับทางด้านการบิน (อ่านข่าวต่อ https://bit.ly/2OMpFuN)