ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของนักเรียนนักศึกษาต่อบริการเงิน/กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษา” สำรวจระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม ถึง 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,160 คน
เงินหรือกองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษาจัดเป็นบริการที่ช่วยขยายโอกาสทางการศึกษาได้อีกช่องทางหนึ่งนอกเหนือจากการให้ทุนการศึกษาซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดด้านจำนวนและเงื่อนไขการรับทุน ทั้งนี้ เงินหรือกองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษานั้นจะช่วยให้นักเรียนนักศึกษาโดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์สามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของนักเรียนนักศึกษาเหล่านั้นให้ดีขึ้นได้ในอนาคต รวมถึงยังเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศด้วย สำหรับประเทศไทยรัฐบาลได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษาในชื่อว่ากองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาสามารถกู้เงินไปใช้เพื่อการศึกษาได้โดยต้องผ่อนชำระตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งมีนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศกู้เงินจากกองทุนดังกล่าวไปใช้เป็นจำนวนมากกว่า 5 ล้านคนแล้ว
ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็มีการดำเนินการให้ทุนการศึกษาหรือเงินกู้ยืมทางการศึกษาควบคู่ไปด้วยเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามได้ปรากฏข่าวอยู่เป็นระยะเกี่ยวกับนักเรียนนักศึกษาที่เคยกู้เงินจากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาไม่ยอมผ่อนชำระเงินกู้ตามกำหนดเป็นจำนวนมากจนทำให้กองทุนประสบปัญหาหนี้เสีย ซึ่งส่งผลให้มีการกำหนดเงื่อนไขการกู้ยืมเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวนักเรียนนักศึกษาในรุ่นหลังๆ จึงได้รับผลกระทบจากการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ผู้คนในสังคมต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางรวมถึงเรียกร้องให้มีการจัดการขั้นเด็ดขาดกับนักเรียนนักศึกษาที่มีพฤติกรรมจงใจไม่ผ่อนชำระเงินกู้ยืม
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นเงินหรือกองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษานั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่มากกว่ากลุ่มนักเรียนนักศึกษาปัจจุบันซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรงสำหรับบริการเงิน/กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษา ดังนั้น สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนนักศึกษาต่อบริการเงิน/กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษาเพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองจากนักเรียนนักศึกษา
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปี แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.78 เพศชายร้อยละ 49.22 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความคิดเห็นต่อการกู้ยืมเงินกองทุนเพื่อการศึกษากับคุณสมบัติด้านผลการเรียน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.81 มีความคิดเห็นว่าไม่ควรมีการกำหนดผลการเรียนเฉลี่ยขั้นต่ำสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่มีสิทธิ์กู้เงิน/กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.64 มีความคิดเห็นว่าควร ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.55 ไม่แน่ใจ
ในด้านความคิดเห็นต่อบริการเงิน/กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษา กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.62 ร้อยละ 66.29 และร้อยละ 60.09 มีความคิดเห็นว่าบริการเงิน/กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษาจะมีส่วนช่วยให้นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์มีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้จริง มีส่วนช่วยกระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษาเอาใจใส่ในการเรียนมากขึ้น และมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยโดยรวมได้ตามลำดับ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.03 มีความคิดเห็นว่าหากสถาบันการศึกษาต่างๆ จัดบริการเงินให้กู้ยืมทางการศึกษาเพิ่มเติมควบคู่ไปกับบริการจากภาครัฐจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษาสนใจเข้ามาเรียนในสถาบันการศึกษานั้นๆ เพิ่มขึ้น
ในด้านความคิดเห็นต่อการกำหนดมาตรการใช้คืนเงิน/กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษานั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.03 เห็นด้วยหากจะมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กู้เงิน/กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษาสามารถเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐ/องค์กรที่ให้เงินกู้แทนการชดใช้เงินได้ ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.53 เชื่อว่ามีผู้ที่มีพฤติกรรมจงใจหลีกเลี่ยงการชดใช้คืนเงิน/กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษาโดยตั้งใจ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 74.22 มีความคิดเห็นว่าควรมีการดำเนินคดีอาญาขั้นเด็ดขาดกับผู้ที่มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการชดใช้คืนเงิน/กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษา
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.79 ไม่เห็นด้วยหากจะมีการห้ามมิให้พี่น้อง/บุตรหลานของผู้ที่มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการชดใช้คืนเงิน/กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษามีสิทธิ์กู้เงิน/กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษาอีก ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.12 เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.09 ไม่แน่ใจ
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.88 เห็นด้วยหากสถานประกอบการห้างร้านบริษัทเอกชนพิจารณาไล่ออก/ไม่รับเข้าทำงานในกรณีที่พนักงานหรือผู้สมัครมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการชดใช้คืนเงิน/กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษาเข้าทำงาน และกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.66 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มความคุ้มครอง/ให้ความเป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันการกู้เงิน/กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษา (อ่านข่าวต่อ : https://bit.ly/2M0JVtU)