เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรม ฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพฯ มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย หรือ THNICF เป็นผู้นำร่องและผลักดันแนวทางการใช้อีเมลภาษาท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) และ Universal Acceptance Steering Group จัดงานสัมมนาหัวข้อ “ภาษาไทยในโลกอินเทอร์เน็ต” เพื่อลดอุปสรรคทางด้านภาษาของคนในท้องถิ่น รวมทั้งมุ่งสร้างความตระหนักถึงมาตรฐานใหม่ทางเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในการรองรับชื่ออีเมลภาษาท้องถิ่น โดยเฉพาะการนำชื่ออีเมลภาษาไทยมาเป็นดิจิทัลไอดี สำหรับเว็บและแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ สำหรับคนไทยใช้งาน ภายใต้คอนเซปต์ “เว็บไทยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ในปัจจุบันอีเมลไม่ได้เป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารเหมือน 10 ปีก่อน แต่ใช้สำหรับระบุตัวตนในการเข้าใช้งานเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ทำให้ลักษณะการใช้งานเปลี่ยนแปลงไป แต่เพิ่มความสำคัญมากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากเราจำรหัสผ่านเว็บหนึ่งไม่ได้ เมื่อขอเปลี่ยนแปลงรหัส รหัสใหม่หรือวิธีการตั้งรหัสใหม่จะถูกส่งไปที่อีเมล ถ้าเราไม่ได้เป็นเจ้าของอีเมลดังกล่าวจะทำให้ไม่สามารถเข้าใช้เว็บนั้นได้อีกต่อไป เป็นต้น ประกอบกับเนื่องจากมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ทำให้การจดจำอีเมลที่เป็นภาษาอังกฤษมีความยาก หรือเป็นไปไม่ได้สำหรับบางคน ยิ่งไปกว่านั้น อีเมลยังถูกนำมาใช้เป็นชื่อสำหรับระบุตัวตนในเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นส่วนใหญ่บนอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น การสมัครเป็นสมาชิกสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ยังต้องระบุอีเมลและการลงทะเบียนเข้าใช้งานก็ยังต้องใช้อีเมล ทำให้เกิดข้อจำกัดกับคนที่ใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ ที่จะไม่สามารถเข้าใช้งานด้วยตนเองได้ ดังนั้น การมีอีเมลภาษาไทยที่ผู้ใช้กลุ่มดังกล่าวสามารถจดจำและพิมพ์ได้เอง จะทำให้ลดข้อจำกัดการใช้งานอินเทอร์เน็ตลง ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้กว้างขวางเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้มากขึ้น
รศ.สุรศักดิ์ สงวนพงษ์ กรรมการมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย กล่าวว่า “อินเทอร์เน็ตเปรียบเสมือนปัจจัยที่ 5 ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตมนุษย์ มาทดแทนระบบการสื่อสารแบบดั้งเดิม รวมถึงช่วยในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ มากมายที่กระจายอยู่ในทุกจุดทั่วโลก หากแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งในโลกใบนี้ที่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างจำกัดอันเนื่องมาจากกำแพงทางด้านภาษา มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย เคยพูดถึงเรื่องโดเมนภาษาไทย หรือ Thai IDN ไปแล้ว เพื่อเปิดช่องทางการเข้าถึงเว็บไซต์ได้หลากหลายขึ้นให้กับกลุ่มคนเหล่านั้น เรายังได้เคยพูดถึงเรื่อง Thai EAI หรือ ชื่ออีเมลภาษาไทย เพื่อให้คนไทยมีชื่ออีเมลเป็นภาษาของตนเองที่ใช้งานได้จริง ในปีนี้เป็นปีที่ ดอททีเอช ซึ่งกำเนิดมาพร้อม ๆ กับอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เติบโตมีอายุครบ 30 ปี เราจึงได้จัดงาน “ภาษาไทยในโลกอินเทอร์เน็ต” ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี ดอททีเอช นี้ โดยในงานนี้ มุ่งเน้นที่จะพูดคุยหาแนวทางที่จะทำอย่างไรให้เว็บและแอพลิเคชั่นของคนไทยรองรับทั้งที่อยู่หรือ URL และชื่ออีเมลที่เป็นภาษาไทย เพื่อลดอุปสรรคทางด้านภาษาที่เข้ามาขวางกั้น”
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการทำให้ระบบคอมพิวเตอร์รองรับตัวอักษรไทยตั้งแต่แรกเริ่ม ได้กล่าวว่า “การที่ประเทศไทยจะเป็น ไทยแลนด์ 4.0 คือการที่เราจะต้องมีตัวตนที่ยืนยันได้ในโลกอินเทอร์เน็ตควบคู่กับตัวตนในโลกความเป็นจริง โดยตัวตนในโลกอินเทอร์เน็ตก็คงหนีไม่พ้นโดเมนและชื่ออีเมล และโดเมน .ไทย ก็ได้รับการพัฒนาให้ใช้งานได้มาถึงระดับหนึ่ง ถึงเวลาแล้วที่ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ของไทยจะร่วมใจกันปรับระบบของตนให้รองรับ .ไทย ทั้งโดเมนและอีเมล และภาครัฐก็ควรหันมายึดถือโดเมน .ไทย ในการระบุตัวตนให้กับผู้ใช้บริการภาครัฐเช่นเดียวกัน”
โดยสาระสำคัญในงานมีการอัพเดทความเคลื่อนไหวเรื่องมาตรฐานสากลและทิศทางการพัฒนาระบบเพื่อรองรับชื่ออีเมลภาษาท้องถิ่นทั่วโลก อาทิ W3C ออกร่าง HTML 5.3 เพื่อรองรับชื่ออีเมลภาษาท้องถิ่นทั่วโลก พร้อมแนะนำฟีเจอร์ใหม่ MS Office 356และMS Outlook เวอร์ชั่นรองรับชื่ออีเมลภาษาไทย เสวนาเรื่องความสำคัญและความพร้อมในการใช้งานชื่ออีเมลภาษาไทย โดยวิทยากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคกฎหมาย และ ภาคท้องถิ่น สำหรับการพูดคุยวันนี้ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งจากมุมมองของนักวิชาการ นักบริหารงานท้องถิ่น ผู้บริหารระบบอีเมลและโซลูชั่นต่าง ๆ ผู้ดูแลเว็บไซต์ และด้านกฎหมาย โดยมีวิทยากรจากหลากหลายภาคส่วน เช่น Edmon Chung รองประธานคณะทำงานด้านการรองรับภาษาในระดับสากลขององค์กรบริหารอินเทอร์เน็ตสากล (UASG, ICANN) ดร.ศักดิ์ เศกขุนทด จาก สพร. ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ จาก สวทช. ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี กลต. คุณเกศรินทร์ ภูกิจ จากท้องถิ่นอำเภอบ้านผือ ผศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณวโรรส โรจนะ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย คุณวิสสุต เมธีสุวกุล จากไมโครซอฟท์ และคุณสุภัทร์ พรนภา จากทรูเวฟ เป็นต้น นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังได้แจกฟรีอีเมล@คน.ไทย ให้ผู้เข้าร่วมงานด้วยชื่อของผู้มาร่วมงานทุกคนด้วย
บทสรุปจากงานคือ การร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ในด้านมาตรฐานใหม่ทางเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในการรองรับชื่อโดนเมนภาษาและชื่ออีเมลภาษาท้องถิ่น, การส่งเสริมให้มีการใช้งานชื่ออีเมลภาษาไทยอย่างแพร่หลาย เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ สามารถเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และนำเสนอแนวทางการพัฒนาและปรับเปลี่ยนระบบเว็บ และระบบซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องให้พร้อมที่จะทำการรับ ตรวจสอบ จัดเก็บ ประมวลผล และแสดงผลชื่ออีเมลภาษาท้องถิ่นได้อย่างถูกต้องเหมาะสมให้แก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไป โดยผู้ร่วมเสวนาในงานมีความเห็นว่า นักพัฒนาซอฟท์แวร์ของไทย ควรมีการรวมตัวกันและร่วมกันวางแนวทางในการปรับปรุงระบบหรือออกเป็นมาตรฐานในการพัฒนาระบบให้รองรับชื่อภาษาไทยในการระบุตัวตนร่วมกัน
ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ดอททีเอช ทางมูลนิธิฯ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการชื่อโดเมน ดอททีเอช และ ดอทไทย ให้มีเสถียรภาพและคงความน่าเชื่อถือต่อผู้ทำธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์หลักคือ มุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตของประเทศ อันจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ถึงผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งในแง่คุณภาพการใช้งาน และเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องสู่การพัฒนาประเทศที่รวดเร็ว โดยผ่านหลากหลายโครงการ เช่น โครงการบีเคนิกซ์ หรือ ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่เป็นกลาง โครงการเน็ตทูโฮม ซึ่งเป็นโครงการเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้กับชุมชนชายขอบ โครงการ IDN และ EAI เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ถูกปิดกั้นทางด้านภาษา สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ชื่ออีเมลภาษาไทยสามารถดูขั้นตอนการสมัครได้ที่ เว็บไซต์: คน.ไทย
—————————-
เกี่ยวกับมูลนิธิทีเอชนิค
มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย หรือ Thai Network Information Center Foundation (THNICF) เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งเน้นการพัฒนาการใช้งานอินเทอร์เน็ต และโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย
มูลนิธิฯ ได้มีการดำเนินการบริหารชื่อโดเมน .th มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 และก่อตั้งเป็นมูลนิธิฯ เมื่อปี พ.ศ.2550 โดยยังคงมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการใช้งานโดเมน .th และ .ไทย ทั้งยังสนับสนุนการศึกษา การวิจัย รวมถึงการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และเป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตไทย ในด้านเทคโนโลยี ด้านความรู้ ด้านความเร็วอินเทอร์เน็ต และการลดต้นทุนอินเทอร์เน็ตไทย
เว็บไซต์: www.thnic.or.th, มูลนิธิทีเอชนิค.ไทย
ติดต่อข้อมูลประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมได้ที่:
มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย
โทรศัพท์ 02 244 8261
อีเมล info@thnic.or.th