บริษัทข้ามชาติสัญชาติญี่ปุ่นขานรับ การลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กระทรวงอุตฯ เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในยุคอุตสาหกรรม 4.0

0
320
image_pdfimage_printPrint

ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 6 พฤษภาคม 2561

บริษัทข้ามชาติสัญชาติญี่ปุ่นขานรับ
การลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
กระทรวงอุตฯ เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในยุคอุตสาหกรรม 4.0

ดร.พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งสานต่อนโยบาย EEC เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ผลักดันการจัดตั้งสถาบันวิจัย ดึงนักวิจัยร่วมทีมเพื่อเป็นแรงจูงใจพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และสร้างแรงจูงใจดึงดูดนักลงทุนจากนานาชาติที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมาย

จากนโยบายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาลตามแผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ที่ดำเนินมาต่อเนื่องกว่า 30 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้นับมีส่วนสำคัญยิ่งที่จะผลักดันให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและน่าจับตาในภูมิภาคนี้

จากการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการลงทุนจากบริษัท UACJ (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าเป็นโรงงานผลิตอลูมิเนียมรายใหญ่และครบวงจรที่สุด เริ่มดำเนินงานในประเทศไทยมาตั้งแต่ต้นปี 2556 ด้วยเงินลงทุนกว่า 27,000 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 500,000 ตารางเมตร และมีกำลังผลิตอยู่ที่ 180,000 ตันต่อปี โดยมีการส่งออก 60% ในกลุ่มประเทศสหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก, จีน, ตะวันออกกลาง, ไต้หวัน, ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มเติมในเฟสที่ 3 ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มกำลังผลิตจากเดิมเป็น 320,000 ตันต่อปี ซึ่งถือได้ว่าน่าสนใจและน่าจับตาอย่างมาก สำหรับการชักชวนให้มาขยายการลงทุนเพิ่มใน EEC

การสนับสนุนการลงทุนจากบริษัทชั้นนำให้มาขยายกิจการในประเทศ โดยเฉพาะใน EEC เป็นไปตามภารกิจสำคัญที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ทำควบคู่ไปกับ “พัฒนา ยกระดับ” ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน สมดุล สร้างการเติบโตจากภายใน จึงต้องให้ความสำคัญ ให้น้ำหนักกับการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ควบคู่กับการปรับเพื่อเปลี่ยน โครงสร้างการผลิต จากรับจ้างผลิตสินค้าต้นทุนต่ำ ใช้แรงงานจำนวนมาก และราคาถูก สู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยการสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมๆ กับการผลักดันการตั้งสถาบันวิจัย ดึงนักวิจัยร่วมทีม เพื่อเป็นแรงช่วยสร้างความสนใจ ดึงนักลงทุนจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามา โดยในช่วงแรกหวังดึงกลุ่มนักธุรกิจญี่ปุ่นซึ่งในปีที่แล้วยื่นขอส่งเสริมการลงทุนสูงถึง 47% ของนักลงทุนจากต่างประเทศ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0865193939