กสร. ย้ำ 1 พ.ค.นี้ นายจ้างต้องให้ลูกจ้างหยุดงานวันแรงงานแห่งชาติ

0
389
image_pdfimage_printPrint

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ย้ำนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้ลูกจ้างหยุดปฎิบัติงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคมนี้ พร้อมจ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน ฝ่าฝืนมีความผิด

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานและให้ผู้ใช้แรงงานได้ร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ นอกจากนี้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างในวันหยุดตามประเพณีดังกล่าวเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติ กสร.จึงขอให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายโดยจัดให้ลูกจ้างได้หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติและจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง สำหรับนายจ้างที่ไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดงานได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ งานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องเดิม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล สถานบริการท่องเที่ยว งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง และงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติอต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายกับงาน ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะให้หยุดชดเชยในวันอื่นแทนหรือจะจ่ายค่าทำงาน ในวันหยุดให้กับลูกจ้าง กรณีที่ตกลงกันว่าจะจ่าย ค่าทำงานในวันหยุดนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติ สำหรับลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด และจ่ายเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 2 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติ สำหรับลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด และหากมีการทำงานล่วงเวลานายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่ำจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ให้ลูกจ้างทำ

อธิบดีกสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง จะมีความผิดตามกฎหมายโดยมีอัตราโทษสูงสุดคือจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากลูกจ้าง นายจ้างมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3