ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “พฤติกรรมและความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคกับรถขายสินค้าเคลื่อนที่” สำรวจระหว่างวันที่ 21 ถึง 26 เมษายน พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,192 คน
รถบริการขายสินค้าอุปโภคบริโภคเคลื่อนที่จัดเป็นธุรกิจขนาดเล็กภายในชุมชนที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันไปแล้ว โดยผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในชุมชนตามตรอกซอกซอยหรือหมู่บ้านสามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นพืชผักผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่เป็ด ไข่ไก่ เครื่องปรุงต่างๆ รวมไปถึงสบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม จากรถบริการขายสินค้าเคลื่อนที่เหล่านี้ได้อย่างสะดวกสบายโดยไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน
แต่เมื่อเกือบสองเดือนที่ผ่านมาได้ปรากฏภาพข่าวผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการให้บริการรถขายสินค้าเคลื่อนที่ภายในชุมชนของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ารายหนึ่ง ซึ่งภายหลังได้มีการออกมาชี้แจงว่าเป็นเพียงแค่การทดลองให้บริการเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมได้ออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้าง ผู้คนส่วนหนึ่งมีความคิดเห็นว่าถือเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ขณะที่ผู้คนอีกส่วนกังวลว่าหากมีบริการดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการรถขายสินค้าอิสระให้เกิดความเสียเปรียบในการแข่งขัน และอาจทำให้รถขายสินค้าเคลื่อนที่อิสระหายไปจากสังคมไทยได้เช่นกัน จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคกับรถขายสินค้าเคลื่อนที่
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.92 และเพศหญิงร้อยละ 49.08 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากรถขายสินค้าเคลื่อนที่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.49 ระบุว่าในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาตนเองเคยซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคกับรถขายสินค้าเคลื่อนที่ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.51 ระบุว่าไม่เคย
สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 3 อันดับที่ผู้คนนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากรถขายสินค้าเคลื่อนที่ได้แก่ ซื้อสินค้าได้สะดวกไม่ยุ่งยากคิดเป็นร้อยละ 84.65 ประหยัดค่าเดินทางไปซื้อสินค้าคิดเป็นร้อยละ 82.47 และคุ้นเคยกับผู้ขายเป็นอย่างดีคิดเป็นร้อยละ 79.78
ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับการทดลองให้บริการรถขายสินค้าเคลื่อนที่จากผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58.72 ทราบข่าวที่ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ารายหนึ่งทดลองให้บริการรถขายสินค้าเคลื่อนที่ภายในชุมชน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.28 ไม่ทราบ
ในด้านความคิดเห็นหากผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าให้บริการรถขายสินค้าเคลื่อนที่ภายในชุมชน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 59.48 เชื่อว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจากรถขายสินค้าเคลื่อนที่ของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าจะมีคุณภาพดีกว่าสินค้าอุปโภคบริโภคของรถขายสินค้าเคลื่อนที่อิสระ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.47 มีความคิดเห็นว่าหากผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าให้บริการรถขายสินค้าเคลื่อนที่ภายในชุมชนจะส่งผลให้ผู้คนซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากรถขายสินค้าเคลื่อนที่อิสระลดน้อยลง
ส่วนกลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.86 มีความคิดเห็นว่าจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.14 มีความคิดเห็นว่าจะส่งผลให้รถขายสินค้าอุปโภคบริโภคเคลื่อนที่อิสระหายไปจากวิถีชีวิตคนในชุมชนได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.06 มีความคิดเห็นว่าจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดทางการค้าโดยผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ารายใหญ่
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.59 มีความคิดเห็นว่าหากผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าให้บริการรถขายสินค้าเคลื่อนที่ภายในชุมชนจะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.34 มีความคิดเห็นว่าหากผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าให้บริการรถขายสินค้าเคลื่อนที่ภายในชุมชนจะไม่มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ได้ในราคาที่ถูกลง
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.4 มีความคิดเห็นว่าเจ้าของรถขายสินค้าอุปโภคบริโภคเคลื่อนที่อิสระจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ตนเองสามารถประกอบการรถขายสินค้าเคลื่อนที่ต่อไปได้ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.85 มีความคิดเห็นว่ารัฐบาลควรกำหนดมาตรการควบคุมเกี่ยวกับการให้บริการรถขายสินค้าเคลื่อนที่ก่อนที่จะเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการอิสระกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.75 เห็นด้วยที่จะมีการจำกัดการให้บริการรถขายสินค้าเคลื่อนที่ของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า