ดันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ทะลุ 26,000 ล้านบาท ! สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เร่งปั้นบุคลากรวีอาร์ หวังพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศ ส่งผู้ร่วมฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการโครงการ VR Inventors 10 คน ศึกษาดูงานเทคโนโลยีวีอาร์บริษัทยักษ์ใหญ่จีนที่ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ พร้อมฝึกงานต่อ 1 เดือน สร้างความพร้อมสู่ยุคดิจิทัลไทยแลนด์เต็มตัว
เทคโนโลยีวีอาร์ หรือ Virtual Reality กำลังเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่การสร้างโลกเสมือนจริงให้ได้สัมผัสผ่านแว่นวีอาร์ได้เท่านั้น แต่ยังสร้างประสบการณ์ต่างๆ ตามที่ผู้สร้างคอนเทนต์ต้องการนำเสนอได้อีกด้วย ทั้งยังเป็นช่องทางสำคัญของการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ที่ผ่านมาข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีวีอาร์ ที่เผยแพร่ผ่านสื่อมักเป็นเรื่องราวที่อยู่ในวงการเกมเสียส่วนใหญ่ แน่นอนว่าในช่วงแรกอุตสาหกรรมเกมจะเป็นตลาดหลักของเทคโนโลยีนี้ แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วมากมาย ทั้งในอุตสาหกรรมการแพทย์ , การศึกษา , ความมั่นคง , วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งคนไทยมีความสามารถไม่แพ้ต่างชาติ แต่ยังต้องการการสนับสนุนเนื่องจากการสร้างซอฟต์แวร์ด้านวีอาร์ ต้องใช้ทั้งเทคโนโลยีและบุคลากรทีมงานที่มีความสามารถเพื่อสร้างสรรค์ฟีเจอร์ต่างๆ ให้สมบูรณ์
นายมนต์ชัย ศรีเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจ สำนักงานงานเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า “ปัจจุบันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย มีการเติบโตในทิศทางเพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มในปี 2561 คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 26,000 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมเกมจะขยายตัวสูงสุด 12% แอนิเมชัน 10% และอุตสาหกรรมคาแร็กเตอร์ 8.1% และจีนเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ที่สุดที่มีการทุ่มงบลงทุนในอุตสาหกรรมวีอาร์และเออาร์ ทั้งในด้านแพลตฟอร์มและคอนเทนต์ ทั้งยังมีการจับมือร่วมกับกลุ่มสตาร์ทอัพในจีนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน ดีป้าจึงได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการโครงการ VR Inventors จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 300 คน คัดเลือกจนเหลือ 80 คน จนเหลือ 10 คนสุดท้าย เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ กรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมฝึกงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตและให้บริการเทคโนโลยีวีอาร์ เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์เทคโนโลยี VR เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันระดับโลก”
คณะฯ ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี พร้อมสัมผัสเทคโนโลยีวีอาร์อย่างเต็มอิ่มจากบริษัทต่างๆ กว่า 14 แห่ง อาทิ NOITOM ผู้บุกเบิกเทคโนโลยี Motion Capture โดดเด่นด้วยโปรเจ็ค Perception Neuron ระบบจับภาพเคลื่อนไหวขนาดเล็กที่สุด มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง , โปรเจ็ค Alice แพลตฟอร์มวีอาร์แบบ B2B รองรับการใช้งานจำนวนมากๆ ได้พร้อมกัน และโปรเจ็ค Hi5 VR Glove ถุงมือจับความเคลื่อนไหว ใช้งานร่วมกับ HTC Vive และแพลตฟอร์ม Alice ซึ่งจะทำให้เสมือนจริงมากกว่าการใช้รีโมตในการควบคุม
ต่อมาคณะฯ ได้เดินทางไปยัง Industry of Virtual Reality Alliance ซึ่งเป็นสมาพันธ์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและบริษัทเอกชน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมวีอาร์ร่วมกัน ทั้งยังเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ต่างๆ ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นสมาชิกกว่า 300 บริษัท , Pico Interactive บริษัทชั้นนำในการผลิต VR Headset มีสาขาทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา , สเปน , จีน และ ญี่ปุ่น โดย VR Headset ของ Pico ออกแบบมาโดยคำนึงถึงความสะดวกของผู้ใช้งานเป็นหลัก จุดเด่นคือทำงานแบบ All-in-One ไร้สาย ไม่ต้องเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ในราคาที่จับต้องได้
ในด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนา คณะได้เยี่ยมชม Software Engineering Center Chinese Academy of Sciences องค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์เทคโนโลยีต่างๆ รวมไปถึงวีอาร์ เพื่อนำมาใช้ในกิจการด้านต่างๆ ของรัฐบาลและภาคเอกชน มีผลงานโดดเด่นหลายด้าน อาทิ ด้านการทหาร มีการจำลองอาวุธและสถานการณ์ในการรบ มีระบบฝึกซ้อมรบ , ด้านอวกาศ แสดงชั้นของเมฆ การเคลื่อนที่ของแสงและลม , ด้านการออกแบบภายใน งานนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้คณะผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าร่วมทดลองขับวีอาร์สอนขับรถบรรทุก และวีอาร์ฝึกผจญเพลิงสำหรับนักดับเพลิง อีกด้วย
ทางด้าน TUS Holdings ได้นำเสนอผลงานวีอาร์สอนภูมิศาสตร์โลก ที่มีการนำไปใช้จริงในการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา โดยเมื่อชี้ไปบนแผนที่โลกผู้ใช้งานจะเห็นสภาพภูมิประเทศต่างๆ ในแบบ 360 องศา นอกจากนี้ยังได้ชมเทคโนโลยี Mix Reality ในการนำภาพจาก Hologram ผสมผสานกับฉาก Green Screen และมนุษย์ผู้แสดงตัวจริง มาสร้างสรรค์ผลงานให้มีมิติ สมจริงและตื่นเต้น
คณะฯ ได้เข้าเยี่ยมชมบริษัทผู้ให้บริการด้าน VR/MR ที่ครบครันที่สุดของจีน IDEALENS หนึ่งในสองบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนที่มีสิทธิบัตรด้านวีอาร์เป็นของตนเอง มี VR Headset เป็นแบรนด์ของตนเองทั้งยังรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ ตามแบบที่ลูกค้ากำหนด จนได้รับเสียงชื่นชมจากทั้งในญี่ปุ่นและอาเซียน IDEALENS เคยสร้างปรากฎการณ์ให้กับลูกค้าธุรกิจโดยนำ VR Headset มาให้ผู้เข้าร่วมประชุมใส่พร้อมกัน 800 คน ทั้งยังได้นำไปใช้ในการเรียนการสอนกว่า 100 โรงเรียนทั้งในเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และเฉิงตู อีกด้วย และ Phantom VR มุ่งส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาเกมเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ Phantom VR รองรับการให้บริการด้านเนื้อหาและสนับสนุนทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างประสบการณ์ด้านวีอาร์ ทั้งนี้คณะผู้ร่วมโครงการได้ทดลองวีอาร์บ้านผีสิงและเกมแข่งรถวีอาร์ที่ตั้งอยู่ใจกลางห้างจินหยวน กรุงปักกิ่ง แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
Sugon ผู้ผลิต High Performance Computer (HPC Server) ระบบ Cloud Computing Big data รายใหญ่ของจีน รับจ้างผลิตเทคโนโลยีระดับสูงให้กับประเทศต่างๆ มีการใช้ Big Data ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน อาทิ ระบบค้นหาบุคคลและรถยนต์ ด้วยกล้องที่ติดตั้งทั่วกรุงปักกิ่งแบบ Real Time , การพยากรณ์อากาศ ควบคุมมลพิเศษ และวิเคราะห์ผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก , การใช้ IoT (Internet of Things) เพื่อตรวจสอบการทำงานของลิฟท์ในอาคารต่างๆที่มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ในกรุงปักกิ่ง
นอกจากนี้คณะยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับบริษัทชั้นนำต่างๆ อาทิ SCAI ผู้ให้บริการด้านการเงินโดยเทคโนโลยีฟินเทค , VeeR แอพพลิเคชันสื่อสังคมออนไลน์ด้านวีอาร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นเพื่อผู้ชื่นชอบวีดีโอวีอาร์ทั่วโลก ถือได้ว่าเป็น YouTubeแห่งโลก VR ก็ว่าได้ , D.K. Creative ผู้ผลิตสื่อการเรียนการสอนโดยประยุกต์กับเทคโนโลยีวีอาร์ผ่านแอพพลิเคชั่น , Shadow Creator ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเออาร์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุด โดยเฉพาะแว่นตา 3 มิติ Smart Glasses , Beijing VR Space ที่ใช้เทคโนโลยีวีอาร์ในการช่วยฟื้นฟูสถานที่สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ และ Legend Tech ซึ่งใช้วีอาร์ทำแผนที่เมืองขนาดใหญ่ , แผนที่สวนสาธารณะ และการฝึกทักษะที่เป็นอันตรายและมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น จำลองขั้นตอนการปล่อยยานอวกาศ เป็นต้น
ทั้งนี้ เตรียมพบกับสุดยอดผลงานวีอาร์ของนักพัฒนารุ่นใหม่ไฟแรงพวกเขาเหล่านี้กันได้ ณ บูท VR Inventors ในงาน Bangkok Comic Con X Thailand Comic Con 2018 ระหว่างวันที่ 27 – 29 เมษายน นี้ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน