“จรีพร” นายแม่กะทิชาวเกาะ แม่ค้า 4 แผ่นดิน

0
930
image_pdfimage_printPrint

นายแม่แห่งธุรกิจมะพร้าวระดับโลก ภายใต้ชื่อว่า ชาวเกาะ “นางจรีพร เทพผดุงพร” หญิงแกร่งที่ต่อสู้ชีวิต ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความลำบากมา 4 แผ่นดิน กว่าจะเป็นธุรกิจมะพร้าวที่เป็นที่ยอมรับและมียอดขายมหาศาลจนถึงปัจจุบัน

“จรีพร เทพผดุงพร” หญิงสาวเชื้อสายจีนที่เกิดมาพร้อมกับการทำงานตั้งแต่วัยเด็ก เพราะต้องแบกรับงานทุกอย่างของครอบครัว ชีวิตที่ไม่เคยรู้จักวันหยุด การเริ่มต้นของชีวิตที่ต้องเสียน้ำตามาหลายต่อหลายครั้งกับความผิดหวัง กว่าจะมาเป็นนายแม่ แห่งกะทิชาวเกาะ ที่ได้รับการยอมรับจนถึงปัจจุบัน ต้องผ่านความยากลำบากมานับไม่ถ้วน

จุดเริ่มต้นชีวิตเริ่มจากศูนย์ แม่ค้ามะพร้าวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านตลาดท่าเตียนโดยเริ่มค้าขายกับสามี นายอำพล เทพผดุงพร ภายใต้ชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมมะพร้าว นางจรีพร จบเพียงแค่ชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดศาลาแดง ด้วยความที่เธอไม่สามารถเรียนต่อได้สูง เนื่องจากต้องทำงานหา เลี้ยงพี่น้อง เธอจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นสำคัญ ต่อมาได้ให้กำเนิดบุตรทั้ง 5 ท่าน โดยปณิธานเดิมที่ตั้งมั่นคือ ความสำคัญด้านการศึกษา จึงต้องการให้บุตรทุกคนสำเร็จการศึกษาได้สูงที่สุดเพราะการศึกษาเป็นวิชาที่ใช้เลี้ยงตัวเองได้

นางจรีพร กล่าวว่า “ก็ฉันเรียน ป.4 วัดศาลาแดง เเล้วเรียนไม่ใช่ว่าเรียนง่ายๆ เช้าๆ ต้องไปเรียนเเต่เช้า กลางวันต้องกลับมาทานข้าวที่บ้าน ทำงานทุกวัน ใจเราคิดไว้ว่าเราไม่มีความรู้ เเต่ต้องให้ลูกเรามีความรู้ทุกคน พยายามที่สุด ลูกเราต้องเรียนไปเมืองนอกด้วย ทุกคนเลย” และนี่เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่นางจรีพรได้ตอบแทนแก่สังคมตลอดชีวิต 90 ปี นอกจากการมอบสิ่งที่ดีต่อลูกค้า คือ การส่งเสริมด้านการศึกษาของไทย เพราะการศึกษาคือรากฐานของชีวิต นางจรีพรต้องการให้เด็กไทย ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตได้มีชีวิตและการศึกษาที่ดีขึ้น

โดยอดีตมะพร้าวที่ขายจะรับผ่านเรือสำเภาใหญ่ที่มาจากเกาะสมุย จึงต้องไปรับมะพร้าวมาขายต่อ โดยบรรทุกเรือลำเล็กเพื่อมาขายริมแม่น้ำหน้าบ้าน ย่านท่าเตียน ทำงานทั้งวัน เหนื่อยมาก ในเวลาต่อมาก็ไปเซ้งตึกที่ท่าเตียน ราคาสี่แสนบาท ซึ่งยื่มเงินเตี่ยมาเพื่อเซ้ง แต่หลวงพ่อวัดสุทัศน์ที่นับถือท่านได้ดูดวงชะตาแล้วบอกว่าต้องเข้ามาอยู่ในวันนี้ แล้วจะรวย แต่บ้านที่เซ้งยังเทปูนไม่เสร็จ แต่ก็ต้องเข้าไปนอนเพื่อเอาฤกษ์ นับว่าเป็นเรื่องที่พิสูจน์กันยาก แต่สาเหตุที่เป็นที่ชัดเจนที่ทำให้กิจการขายมะพร้าวยิ่งเติบโตและเจริญรุ่งเรืองคือความขยัน อดทนและทุ่มเทในการทำงานอย่างเต็มที่ของคนทั้งคู่

นางจรีพรกล่าวว่า “ช่วงนั้นทำงานกันทั้งวัน ตื่นตี 4 ตี 5 ลงมาหน้าบ้าน ก็มีลูกค้ามารออยู่แล้ว ซึ่งสมัยก่อนการขนส่งคมนาคมยังไม่สะดวก ถ้าจะซื้อมะพร้าวต้องมาซื้อที่กรุงเทพเท่านั้น เราขายแต่มะพร้าวแก่ เป็นลักษณะขายส่ง วันหนึ่งขายเป็นหมื่นลูก ฉันทำงานถึง 4 ทุ่ม กว่าจะนอนก็เที่ยงคืนทุกวัน ซึ่งเรามีลูกน้องทั้งหมด 17 คน ช่วงนั้นมะพร้าวขายดีมาก แทบไม่ได้นั่งเลย มีลูกค้ามาตลอดเวลา บางครั้งตักข้าวมากินได้แค่สองคำ ลูกค้ามาอีกแล้ว ต้องวางช้อนไปขายก่อน ขายเสร็จไปกินต่อ ไม่ทันไรลูกค้ามาอีกแล้ว ก็ต้องหยุดกินอีก บางวันข้าวจานหนึ่งกินเป็นชั่วโมง เรียกว่าขายดีจนไม่มีเวลานับเงิน ต้องโกยใส่กล่องไว้ ตอนกลางคืนถึงได้เทออกมาให้ลูก ๆ ช่วยกันนับกัน เมื่อก่อนขายจนแทบไม่ได้กินไม่ได้นอน แต่มีกำไรแล้วไม่เหนื่อยเลย ด้วยความขยัน อดทน เป็นรากฐานของการทำงานอันนำไปความสู่ความสำเร็จ”

ในยุคสมัยที่การค้าขายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง จึงเกิดเป็นจุดเปลี่ยนจากแม่ค้าขายมะพร้าวลูกย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตลาดท่าเตียน เข้าสู่การพัฒนาเป็นกะทิสำเร็จรูป โดยตั้งโรงงานที่พุทธมณฑลสาย 4 ซึ่ง กว่าจะเปิดโรงงานได้ก็ใช้เวลาสร้างหลายปี เพราะไม่มีต้นแบบ และในเวลานั้น ประเทศไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเลย ยิ่งเป็นการแปรรูปมะพร้าวถือว่าเราเป็นเจ้าแรกในโลก

ในช่วงล้มลุกคลุกคลาน นับว่าเป็นช่วงหมดกำลังใจอย่างมาก เนื่องจากเดิมขายมะพร้าวลูกมีรายได้จากการขายมะพร้าววันละหลายๆ พันลูก ได้เงินหลายแสนบาท แต่ครั้นเปลี่ยนมาเป็นกะทิสำเร็จรูป เอาไปขายที่ตลาด ปรากฏว่าขายไม่ดีเลย ถึงแม้ว่าจะเอาใส่ลังโฟมใส่น้ำแข็งเพื่อให้สินค้ามีความสดใหม่ ก็ไม่มีใครซื้อ กว่าจะได้ลูกค้าที่เปิดใจใช้กะทิสำเร็จรูปจริงๆ ต้องผ่านระยะเวลากว่า 3 ปี ที่ต้องให้ลูกค้าทดลองใช้ฟรี

โดยนางจรีพร เผยว่า “ทำกะทิเริ่มแรกก็ขายไม่ได้ เอาไปให้เเม่ค้า ไปอ้อนวอนเค้า บอกว่าช่วยซื้อหน่อย เขาก็บอกไม่เอา ไม่เป็นไรช่วยเหอะ ขายได้ก็เก็บเงิน ขายไม่ได้ก็ไม่เอาเงิน เราก็มานั่งร้องไห้ ว่าเอ๊ะเราทำแบบนี้ เราจะสู้ ต่อไปไหมเนี้ย กลางคืนนอนร้องไห้ คิดว่าจะทำยังไงดี ใจหนึ่งต้องสู้ บอกลูกๆ ว่าไม่เป็นไรขายได้ก็ขาย ขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ฉันก็ต้องมานั่งร้องไห้ทุกวัน ไปจุดธูปไหว้พระ ขอหลวงพ่อให้พบหนทางทำมาหากินหน่อยเถอะ แล้วลูกจะ ทำบุญเรื่อย ๆ เราก็บนบาลศาลกล่าวไปเรื่อยว่าขอให้ขายดิบขายดีเถอะ ถ้ามีเงินเยอะ ก็จะได้ไปทำบุญเยอะ ๆ”

นับตั้งแต่บัดนั้นมา ตลอดชีวิตของนางจรีพร ก็คือการ “ทำงาน” ที่ไม่รู้จักคำว่า “เที่ยว” ถือเป็นเรื่องสำคัญ อันดับหนึ่งของชีวิต นอกจากการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำมาตลอดแล้ว “บุญ” ก็เป็นเรื่องที่ท่านทำไม่เคยหยุดเช่นกัน โดยคิดเสมอว่า ยิ่งมี ยิ่งให้ ยิ่งให้ ยิ่งได้เช่นกัน

ซึ่งที่ผ่านมา การบริจาคเงินช่วยเหลือทำนุบำรุงศาสนา การศึกษา และคุณภาพชีวิตถือเป็นงานที่นางจรีพร ทำเป็นประจำตลอดจนอายุ 90 ปี ไม่ว่าจะเป็นการมอบทุนการศึกษาในทุก ๆ ปีซึ่งที่ผ่านมารวมแล้วกว่า 660 โรงเรียน มูลค่ากว่า 159,000,000 บาท (หนึ่งร้อยห้าสิบเก้าล้านบาท) หรือจะเป็นการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาล ศิริราช ในการสนับสนุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ มาแล้วกว่า 62,500,000 บาท(หกสิบสองล้านห้าแสนบาท) รวมทั้งช่วยเหลือโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้แก่ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ อีกจำนวน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาท)

โดยในวาระอายุครบ 90 ปีนี้ นางจรีพร และครอบครัวเทพผดุงพร ได้ร่วมบริจาคเป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาท) ให้แก่ ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพ

นับจากวันนั้นนางจรีพร ไม่หยุดท้อที่จะพัฒนาคุณภาพของสินค้าเพื่อผู้บริโภค แม้ว่าที่ผ่านมาจะเสียเหงื่อ เสียน้ำตา ล้มลุกคลุกคลานมากี่ครั้ง แต่ก็ไม่เคยที่จะหยุด จนผลผลิตกะทิชาวเกาะได้รับการยอมรับในที่สุด และพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนแตกไลน์สินค้าการผลิตอย่างมากมาย ซึ่งได้แรงขับเคลื่อนจากครอบครัว พนักงานเป็นกำลังสำคัญในการต่อยอดธุรกิจขยายการตลาดทั่วโลกจนประสบความสำเร็จและเป็นกะทิสำเร็จรูปอันดับ 1 ครองใจคนไทย