เกษตรกรดำเนินสะดวกโอด ผลจากข่าวไม่กรองทุบราคาผัก-ผลไม้
วอนทุกฝ่ายร่วมหาทางออก พร้อมท้าพิสูจน์ ยันไม่มีสารตกค้าง
กลุ่มเกษตรกรดำเนินสะดวกโอด หลังผลผลิตราคาวูบ สาเหตุ “ข่าวไม่กรองผัก-ผลไม้ราชบุรีปนเปื้อน” วอนผู้บริโภคตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนหลงเชื่อ ย้ำชัดกลุ่มเกษตรกรฯ ปลูกผัก-ผลไม้มากว่า 30 ปี ไม่เอาชีวิตตนเองและครอบครัวเสี่ยง ทั้งปลูก กิน และอยู่ในพื้นที่ พร้อมท้าพิสูจน์หลังฉีดพ่นสารต้องห้ามในแปลงผักใบผักเฉาทันทีเก็บส่งจำหน่ายไม่ได้ ทั้งสนับสนุนทุกฝ่ายหันหน้าหาทางออก อย่าให้ข้อมูลที่ยังไม่ได้พิสูจน์ ยันผลกระทบดังกล่าวดันต้นทุนผลิตพุ่งทุบราคาสินค้าเกษตรชาติ
ภายหลังการแถลงข่าวของมูลนิธิผู้บริโภค โดยนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN เปิดเผยการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ประจำปี 2560 ที่ระบุว่าพบสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้และผักพื้นบ้านจากการเก็บตัวอย่าง 150 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีก ซุปเปอร์มาร์เก็ตและตลาดในพื้นที่ จังหวัด เชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี ราชบุรี และจังหวัดสงขลา
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ ต.หลักหก อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้สารอารักขาพืชของกลุ่มเกษตรกรฯพบนายวินัย ธีรทองดี เกษตรกรอายุ 61 ปีเจ้าของสวนมะนาวขนาด 14 ไร่ รับช่วงอาชีพชาวสวนเป็นมรดกจากรุ่นพ่อแม่ เห็นการทำสวนมาตลอดชีวิตผลิกพื้นสวนแห่งนี้ทั้งปลูกพืชผัก ผลไม้มาหลายต่อหลายครั้ง ทั้งองุ่น ฝรั่ง ฯลฯรวมถึงผลผลิตเด่นคือ มะนาวพันธุ์แป้นอำไพ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์มะนาวไทยผิวบางน้ำเยอะของอ.ดำเนินสะดวกอย่างทุกวันนี้
วินัยเล่าว่าตลอดอายุงานกว่า 40 ปี ในอาชีพเกษตรกร เขาคุ้นเคยกับสารเคมี ซึ่งเขาปรับใช้ให้เหมาะสมกับผักและผลไม้ที่เลือกปลูกได้อย่างคล่องแคล่ว แม้ไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สารอย่างละเอียด หากแต่พื้นที่ อ.ดำเนินสะดวก รอยต่อ 4 จังหวัด กล่าวคือ นครปฐม ,สมุทรสาคร ,สมุทรสงคราม,กาญจนบุรี เป็นพื้นที่เรือกสวน ท้องร่องผักที่สำคัญ ส่งผลผลิตทั้งผักและผลไม้เลี้ยงคนเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพยาวนานกว่า 100 ปี ความรู้เรื่องการบำรุง รักษา กำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช จึงเป็นศาสตร์สำคัญที่กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้รวมตัวจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรโดยธรรมชาติเพื่อส่งต่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเกษตร ทั้งการพัฒนาพันธุ์การคัดเลือกสายพันธุ์ หรือแม้แต่การสร้างอำนาจต่อรองพ่อค้าคนกลางด้วยซ้ำไป
“พวกเรารู้จักเข้าใจว่าต้องใช้อย่างระมัดระวัง ตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายขึ้นทะเบียนสารเคมี ให้ระบุประเภทการออกฤทธิ์ข้างฉลากเลยด้วยซ้ำ จนกระทั่งราวปี 2553-2554 กฎหมายกำหนดให้ระบุข้างฉลากถึงประเภทสารออกฤทธิ์ วิธีการใช้ ขนาดการใช้ และระบุด้วยว่าละเอียดอ่อนกับอะไร เช่น ผึ้ง แมลง หรือปลา พื้นที่ดำเนินสะดวกเป็นพื้นที่ปลูกผักผลไม้ ยกร่องในท้องร่องมีปลาด้วย เราจึงปฏิบัติตามฉลากอย่างเคร่งครัด ในการฉีดพ่นแต่ละครั้งสำหรับการผสมในตัวยาที่ออกฤทธิ์ไม่หักล้างกันลงถังขนาด 200 ลิตรลงเรือฉีดพ่นทั้งขนัด สังเกตว่าสามารถยับยั้งการระบาดของเพลี้ย หรือศัตรูพืชได้หรือไม่ โดยอัตราผสมจะผสมในอัตราลดเหลือเพียง 50% จากปริมาณที่ระบุข้างฉลาก เพราะหากใช้เต็มตามปริมาณอาจมีความละเอียดอ่อน จนส่งผลกระทบต่อผลผลิตได้ และไม่ได้ฉีดพ่นพร่ำเพร่อ การฉีดพ่นแต่ละครั้งต้นทุนของชาวสวนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน”
ความระมัดระวังที่วินัยพูดถึงคงเพราะ“ตลาด” ที่มีพ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อเป็นตัวแปรสำหรับพืชผักที่กินใบเป็นหลัก ในผลไม้นั้นขนาด น้ำหนัก ปริมาณ ความสวยไม่สวยของผลผลิตล้วนมีผลต่อราคารับซื้อทั้งสิ้น และหากเกิดความผิดพลาดจากการใช้สารเคมีแล้ว ไม้ผลยืนต้นอาจเกิดความเสียหายจนไม่สามารถกลับมาให้ผลผลิตได้อีก กลายเป็นความเสียหายร้ายแรงได้ ชาวสวนจึงต้องบำรุงดูแลรักษากว่าพืชไร่นั่นเอง
วินัยยังได้ยกตัวอย่างการเตรียมดินปลูกมะนาวในพื้นที่ขนาด 14 ไร่ ใช้เงินลงทุนตั้งแต่เตรียมดิน ไถตากดิน ขุดหลุมรองด้วยปุ๋ยคอก เตรียมต้นพันธุ์ ปุ๋ยบำรุง และยาฆ่าแมลง และกำจัดวัชพืช ตกไร่ละ 1 แสนบาท ระหว่างปลูกต้องบำรุงต้น ด้วยปุ๋ยและดูแลด้วยสารอารักขาพืชทั้งในกลุ่มยาฆ่าหญ้า ดูแลแมลงและโรคปีละประมาณ 144,000 บาท ในการบำรุงระยะเวลา 2 ปีจนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี แต่แบ่งเป็น 2 ช่วงคือระหว่างเดือนมิ.ย.-ก.ย.จะเก็บเกี่ยวได้สูงที่สุดคือประมาณเดือนละ 2 ตัน ส่วนในช่วงระหว่างเดือนต.ค.-พ.ค.ของทุกปีจะเป็นช่วงที่ผลผลิตน้อย แต่ราคาจะผกผันตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ขนาดของมะนาวจะมีราคาลดหลั่นกัน 4 ขนาด โดยถัวเฉลี่ยสำหรับมะนาวขนาดใหญ่สุดจะอยู่ที่ราคาลูกละ1.50 สตางค์แต่สำหรับปีนี้ราคาถัวเฉลี่ยสำหรับมะนาวเบอร์เดียวกันในช่วงเดียวกันเหลือเพียง ลูกละ 45 สตางค์ ในขณะที่ต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มสูงขึ้น
“ตอนนี้ผมบอกได้คำเดียวว่าราคาสินค้ากับต้นทุนที่เราดูแลมาตลอดทั้งปีเสมอตัว ผลกระทบหนึ่งเกิดจากการปฏิเสธการรับซื้อผลิตภัณฑ์ภายหลังมีข่าวการปนเปื้อนของสารเคมีในกลุ่มยาฆ่าหญ้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าในช่วงที่พืชยังไม่คลุมดินเท่านั้นเมื่อพืชประธานเติบโตคลุมดินแล้วหญ้าจะไม่ขึ้นโดยธรรมชาติ ยิ่งในแปลงผักที่กำลังเก็บเกี่ยวเขาไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าระหว่างนั้นแน่ โอกาสในการปนเปื้อนแทบไม่เห็น ผมกล้าท้าเลย ถ้าฉีดพาราควอตในแปลงผัก 2 ชั่วโมงเหี่ยวแน่นอนเพราะมันออกฤทธิ์เผาไหม้ ให้เรานึกถึงน้ำร้อน ว่าเวลาเราราดไปตรงไหนมันจะเฉาทันที ชาวสวนผักเขาไม่ทำกับผักก่อนส่งขายหรอก การนำเสนอข้อมูลดังกล่าวโดยไม่ได้เข้ามาดูว่าเกษตรกรมีวิธีการใช้อย่างไร โดยตีรวมไปทั้งหมดส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิต และราคาขายผลผลิตของเกษตรกรทั่วประเทศแน่นอน” วินัยกล่าว
ส่วนนายสุชัช สายกสิกร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.ดอนไผ่ อ.ดำเนินสะดวก เสริมว่า “ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของเกษตรกรทั้งประเทศ ชาวสวนดำเนินสะดวกคุ้นเคยกับการใช้ปุ๋ยและยาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ จนถึงปู่ย่าด้วยซ้ำ เราทำกันมาเป็น 100 ปี พวกเรายังเป็นชาวสวนจนถึงวันนี้ ยังอาศัยในพื้นที่ไม่ได้หนีไปไหน หากมีผลกระทบจริงก็น่าจะเห็นได้ตั้งแต่รุ่นผมแล้ว ข่าวที่ออกมากลุ่มฯเราติดตามอย่างกังวล เพราะหากมีการระงับการใช้พาราควอตจริง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเกษตรอย่างมาก พวกเราไม่ได้มีเวลามาให้ความรู้หรือข้อมูลทางวิชาการเพราะเราไม่ใช่นักวิชาการ เราต้องทำมาหากิน แต่หากไม่ถามเราในฐานะเกษตรกรที่อยู่ เห็นและใช้ด้วยตัวเองมานาน หรือถ้าพวกเราไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมากังวลว่าหากต้องระงับการใช้สารดังกล่าวจริง พวกผมนี่แหละที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ต้นทุนจะกระโดดขึ้นทันที ดังนั้นในเรื่องนี้อยากให้ทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกรทุกกลุ่ม กลุ่มเครือข่ายที่ห่วงใยเรื่องสุขภาพ รวมถึงภาครัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน เปิดใจว่าปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นจากอะไรแน่ เกษตรกรใช้ผิดขาดความเข้าใจ หรือผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกันแน่ ในพื้นที่อ.ดำเนินสะดวกน่าจะเป็นพื้นที่เปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามาศึกษาได้เพราะเป็นพื้นที่ทำการเกษตรผักและไม้ผลมานาน น่าจะมีผลตัวอย่างที่สามารถนำไปอ้างอิง เพื่อการตัดสินใจจะไม่เป็นการผลักภาระให้กับเกษตรกร ที่ทุกวันนี้ก็เรียกว่าเป็นสถานการณ์ที่พวกเราเพียงประคองให้พอเหลือกำไรอยู่บ้างเท่านั้นเอง”
ทั้งหมดเป็นภาพสะท้อนจริงที่เกิดกับชาวสวนดำเนินสะดวก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข้อมูลในแง่มุมที่เกษตรกรไม่สามารถตอบข้อกล่าวหาจากสังคมได้ เป็นเหรียญอีกด้านที่ต้องรอเวลาพลิกพร้อมกันจากเกษตรกรทั้งประเทศ และหวังผู้บริโภคเข้าใจและใช้วิจารณญาณในการเสพข้อมูล
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++