คนรักสัตว์ต้อวรู้กฎหมาย

0
666
image_pdfimage_printPrint

ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงานการสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2561เรื่อง “แนวทางการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557” เมื่อวันเสาร์ ที่ 10 ถึงวันที่อาทิตย์ ที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2561 ณ โรงแรมแคนทารี กบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัด ปราจีนบุรี ตามคำสั่งของ บก.บริหาร หนังสือพิมพ์ไทยโปลิศพลัส ท่านดร.ยุพเณศตช์ ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ผมจึงเดินทางไปพร้อมกับนักข่าวมือเก๋าคู่ใจ เสาร์แก้ว คำพิวงค์ ผู้สื่อข่าวพิเศษ ภูธร-นครบาล ด้วยความอิดออดใจนิดหน่อยเนื่องจากเป็นวันหยุดพักผ่อน
แต่เมื่อการเดินทางเริ่มขึ้นอาการอิดออดใจก็ได้หายไปเหมือนปลิดทิ้ง ความประทับใจแรกได้รับ จากการต้อนที่เป็นเปรี่ยมไปด้วยอัธยาศัยไมตรีของเจ้าหน้าที่จาก “สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่ง ประเทศไทย” ซึ่งรับบทบาทแม่ทับใหญ่ในการจัดงานในครั้งนี้ เมื่อถึงโรงแรมที่พักด้วยบรรยากาศของ โรงแรมที่น่าพักผ่อน เพียบพร้อมด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน พนักงานต้อนรับยิ้มแย้มแจ่มใส ของโรงแรมแคนทารี กบินทร์บุรี ถึงแม้เมื่อไปถึงอยากผมอยากจะลงว่ายน้ำที่สระให้ชื่นใจ อยากจะเข้าฟิตเนสตามประสาคนรักสุขภาพ แต่ก็ต้องเก็บใจไว้ก่อนเพราะยังมีงานต้องทำอยู่
การจัดงานในครั้งนี้มีได้รับความร่วมมือจากองค์กรเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชนมากกว่า 50 องค์กร เช่นองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กรมปศุสัตว์ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ กรมประมง เป็นต้นโดยทุกภาคส่วนร่วมกันจัดงานครั้งนี้ โดยมีหัวใจ เดียวกัน นั้นคือหัวใจแห่งความรักสัตว์ เพื่อนร่วมโลกที่มีสัญชาตญานมากกว่าการพิจาณาไตร่ตรอง แต่เขาก็มีหัวจิตหัวใจเฉกเช่นเราๆท่านๆนี้แหละ รู้ร้อน รู้หนาว รู้เจ็บรู้ปวด ต่างกันตรงที่ว่าเขาบอกเราเป็นวัจนภาษาไม่ได้
งานนี้ต้องยกให้สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทยเป็นพระเอกของงาน ทั้งการเตรียม งาน ติดต่อประสานงาน การดำเนินการเป็นไปด้วยความยอดเยี่ยม โดยมีหัวเรือใหญ่คือท่านธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นายกสมาคมฯ !!!!!….แล้วสมาคมนี้เขาคือใครละ เขาทำอะไร มีวัตถุประสงค์เช่นไรกันเขาถึงต้องมาลงทุนลงแรงเช่นนี้ เมื่อเหลียวซ้ายมองขวาผมก็ได้เข้าตรวจหาข้อมูลในโลกโซเชียล ก็ได้ความว่า “สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่ง ประเทศไทย” มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Thai Society for the Prevention of Cruelty to Animals” มีอักษรย่อว่า “TSPCA” ต้นกำเนิดที่แท้จริงเกิดจากสมาคม Society for the Prevention of Cruelty to Animals (SPCA) ถูกตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1824 ที่ประเทศอังกฤษก่อนจะมีการแตกสาขาย่อยไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยในนาม “TSPCA” โดยมีวัตถุเพื่อยับยั้งการทารุณกรรมสัตว์ ตั้งแต่สัตว์เลี้ยงไปจนถึงปศุสัตว์และสัตว์ป่า หน่วยงานที่โดดเด่นของสมาคมฯ ก็คือ Animal Cops หรือ Animal control workers ซึ่งออกปฏิบัติการในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สกอตแลนด์ และออสเตรเลีย โดยมีหน้าที่ในการตรวจตราเฝ้าระวังการทารุณและการทอดทิ้งสัตว์ รวมทั้งตรวจสอบร้านขายสัตว์เลี้ยงและฟาร์มให้มีการเลี้ยงดูที่เหมาะสม มีความสะอาด และคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ หากพบสภาพการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์เจ้าหน้าที่สามารถเข้าช่วยเหลือและทำการยึดสัตว์ได้ในทันทีโดยไม่ต้องร้องเรียนหรือรอคำอนุมัติ พร้อมทั้งดำเนินคดีกับผู้เป็นเจ้าของ การดำเนินการของ SPCA ได้แก่ 1) การให้ความช่วยเหลือแก่สถานสงเคราะห์สัตว์ในภูมิภาคต่างๆ ทั้งในด้านการเงินและการดูแลสุขภาพสัตว์ การทำหมัน รวมทั้งลดอัตราการทำการุณยฆาติสัตว์จรจัด 2) บริการอพยพสัตว์เลี้ยงออกจากพื้นที่สู้รบ 3)การให้ความรู้และปลูกจิตสำนึกประชาชนและนักเรียน นักศึกษา และ 4) การรณรงค์ผลักดันกฎหมายป้องกันการทารุณกรรรมสัตว์
ส่วนสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2537 โดยถือได้ว่ามีความพร้อมในระดับหนึ่งทั้งนี้ด้วยการสนับสนุนจากทั้งนักธุรกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการรณรงค์เกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย นำโดยนายกสมาคมฯ ท่านแรกคือ วุฒิสมาชิก มีชัย วีระไวทยะ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2540 สมาคมฯได้รับอนุมัติเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกกับราชสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งมีภาคีสมาชิกทั่วโลก เพื่อร่วมกันรณรงค์ป้องกันและยุติการทารุณกรรมสัตว์ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2540 สมาคมฯได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อดำเนินการตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
เมื่อได้ศึกษาหาข้อมูลมาพอหอมปากหอมคอ และได้พิจาณาถึงบาทหน้าที่ของสมาคมฯ คำถามแรก ที่ค้างอยู่ในใจผมทันทีว่า สมาคมฯจะทำได้จริงตามเป้าประสงค์หรือ?… ช่วงพักผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล รักษาการเลขาธิการ สมาคมฯ ในระหว่างการสนทนาผมยังเก็บความรู้สึกคัดค้านนั้นในใจ หลังจากที่การสนทนาสิ้นสุดลง ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปพักผ่อน ทำให้ผมได้ทราบถึงความตั้งใจจริงของสมาคมฯ ที่จะผลักดันสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้นให้ได้เพื่อป้องกันการทารุณกรรมและดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ ผมไม่ทราบหรอกว่าท่าน ดร.สาธิตฯ จะพูดจริงหรือไม่?…แต่ผมมองเข้าไปในแววตาและท่วงท่าที่เอาจริงเอาจังของท่าน ด้วยความรู้สึกและใช้หลักจิตวิทยาที่อุตส่าห์เล่าเรียนมาด้วยความยากลำบากในระดับดุษฎีบัณฑิต ก็ไม่สามารถจับพิรุธท่านได้ กลับมองเห็นแต่แววตาที่โอบอ้อมอารี เมตตา กรุณาต่อสัตว์ ด้วยคำพูดคนแต่งเติมเพิ่มสีกันได้ แต่แววตาเป็นหน้าต่างของหัวใจยากแท้ที่จะปั้นแต่ง และด้วยการสัมผัสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ ทุกคนต่างเอนเอียงที่จะมีอัธยาศัย รักสัตว์ด้วยใจจริงเช่นเดียวกัน ทำให้ผมเชื่อแน่ว่าเป้าประสงค์ของสมาคมฯ ต้องบรรลุในเร็ววัน
กล่าวมาตั้งมากมายคราวนี้ก็จะเข้าสู้ประเด็นสำคัญของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ พิจารณาจากหัวข้อของการสัมมนาก่อน ชื่อเรื่อง “แนวทางการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดีภาพสัตว์ พ.ศ.2557 โดยรูปแบบเป็นการเชิญกลุ่มองค์กรต่างๆที่มีใจรักสัตว์และต้องการที่จะผลักดัน พ.ร.บ.ฯฉบับนี้ให้เป็นรูปธรรมและใช้งานได้จริง และด้วยกระแสความแรงของ กรณีคดีมีผู้ยิงเสือดำและสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่นเรศวร ทำให้มีผู้สนใจรวมถึงสื่อมวลชนทุกแขนงให้ความสนใจ ไม่เว้นแม้แต่การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ ที่ปราจีนบุรี เรียกได้ว่า “เสียงปืนที่ทุ่งใหญ่นเรศวร ดังไกลไปทุกย่อมหญ้า” ผลปรากฏว่าประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจว่ากรณีเช่นนี้ยังมีกฎหมายอื่นที่จะสามารถบังคับใช้ได้ เช่นกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ หากไปล่าหรือทำร้ายจะมีโทษหนักกว่า ในส่วนตัวของผมจะไม่ก้าวล่วงในรายละเอียด ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ไม่ใช่ว่าทุกธุระไม่ใช่ แต่ในเมื่อมีเจ้าหน้าที่ทำงานแล้วก็อย่าได้ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน แต่ผมยังมีความศรัทธาอยู่ว่า กฎแห่งกรรมยังสามารถใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ไม่ว่าที่ลับหรือที่แจ้ง และจากการทำ Workshop ทำให้ได้ข้อกระจ่างว่าประชาชนโดยทั่วไปยังไม่เข้าใจ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดีภาพสัตว์ พ.ศ.2557 อย่างถ่องแท้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แม้นักกฎหมายเองบางครั้งกฎหมายฉบับเดียวกัน มาตราเดียวกันยังตีความไปกันคนละแบบ แต่หลีกหนีไม่พ้นว่าคนโดยส่วนใหญ่ก็จะพยายามตีความเข้าข้างตนเอง แต่เราลืมนึกไปว่ากฎหมายก็คือข้อบังคับตามตัวอักษร แต่ที่สำคัญกว่าคือจิตสำนึกที่จะเป็นคนดี หากคนคิดดี ทำดี และพยายามหลีกเลี่ยงความไม่ดีทั้งปวง ไม่จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเลยสักฉบับก็ได้
แล้วการจัดงานในครั้งนี้ ใคร? ได้อะไร? คนที่ได้คือ “คุณ” คุณคือตัวแทนขององค์กรต่างๆที่เข้าร่วมสัมมนา ทั้งภาครัฐ และเอกชน คุณ คือสื่อมวลชนที่เข้าทำข่าวอย่างน้อยตลอดทั้ง 2 วัน ความรู้ที่ได้ก็จะซึมซับเข้าไปในห้วงความคิดของการเป็นคนรักสัตว์ และนำไปเผยแพร่ให้ประชาคนโดยทั่วไปได้รับทราบ คุณคือผู้จัดงานหากจะกล่าวว่าเขาได้ทรัพย์สินเงินทองหรือก็หาไม่ แต่สิ่งที่เขาได้เขาได้คือความภาคภูมิใจอย่างยิ่งใหญ่ที่เขาได้ทำหน้าที่อย่างสุดกำลังเพื่อปกป้องการทารุณกรรมและดูแลสวัสดิภาพสัตว์ และคุณคนนั้นคือผมเอง ที่ได้มิตรภาพที่ดีจากเพื่อนๆสื่อมวลชนทุกแขนง ได้เห็นน้ำใสใจจริงของทุกคน หากเพื่อนๆเหล่านั้นไม่มีใจรักสัตว์แล้วเขาคงไม่เลือกที่จะมาทำข่าวนี้ และผมยังได้เห็นความตั้งใจของผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่านในการที่จะปกป้องเพื่อนร่วมโลก
ท้ายที่สุดนี้อยากจะฝากข้อคิดให้ทุกท่านได้สำเหนียงเข้าไปในก้นบึ้งแห่งจิตใจ “มนุษย์เป็นสัตว์ที่รู้จักผิดชอบชั่วดี สามารถขัดเกลาด้วยการบ่มเพาะ สัตว์ทั่วไปใช้สัญชาตญาณดิบในการจัดการปัญหา แล้วมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐยังจะใช้ข้อได้เปรียบเหล่านี้รักแกเพื่อนร่วมโลกที่มีชื่อว่าสัตว์อยู่อีกหรือ
บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ไทยโปลิศพลัส : ดร.ยุพเณศตช์ ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม
ผู้อำนวยการ : ดร.กิตติคุณ สารคล่อง
ทีมข่าว : เสาร์แก้ว คำพิวงค์