ผลการศึกษายูเอ็นเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อผู้เสียหายในคดีข่มขืน

0
310
image_pdfimage_printPrint

การศึกษาใหม่ของสหประชาชาติพบว่า ผู้เสียหายจากการถูกข่มขืนส่วนใหญ่ในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม เผชิญหน้ากับอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงความยุติธรรม ซึ่งด้านหนึ่งเป็นเพราะทัศนคติและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ ที่กีดกันผู้เสียหายออกจากกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน นับตั้งแต่เริ่มแจ้งความเพื่อเข้าสู่การพิจารณาคดี

รายงานการศึกษาความยาว 109 หน้า เรื่อง “การพิจารณาคดีข่มขืน: ความเข้าใจเรื่องการตอบสนองของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อความรุนแรงทางเพศในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม” ที่นำมาเปิดเผยวันนี้ (29พ.ย.) จัดทำโดยองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Entity for Gender Equality and the Empower of women- UN Women), โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) และ สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) ซึ่งถือเป็นการศึกษาเปรียบเทียบประเด็นดังกล่าวครั้งแรกสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

การศึกษามุ่งวิเคราะห์ว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม มีการตอบสนองอย่างไรต่อคดีข่มขืนและการกระทำความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงที่ได้รับการแจ้งความ โดยทีมผู้วิจัยได้ทบทวนแฟ้มคดีจากตำรวจและศาลจำนวน 290 คดี และสัมภาษณ์บุคคล 213 ราย รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ปฎิบัติงานฝ่ายตุลาการ นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม และบุคคลผู้ให้บริการความช่วยเหลือต่างๆแก่ผู้เสียหาย

การศึกษามุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจให้กระจ่างชัดขึ้นในเรื่องการลดทอนจำนวนคดี ซึ่งหมายถึงการล้มคดีหรือการยอมความ อันเป็นกระบวนการที่ทำให้คดีไม่สามารถเข้าสู่ระบบยุติธรรม นับจากขั้นตอนร้องทุกข์ ไปจนถึงขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน ขั้นตอนการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ และขั้นสุดท้ายคือการพิจารณาคดีในศาล โดยการศึกษาพบว่า ผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศ ต้องเผชิญกับแนวปฎิบัติและนโยบายต่างๆ ทางสังคม ทางกฎหมาย และทางสถาบันอย่างมีนัยสำคัญซึ่งนำไปสู่การลดทอนคดีในอัตราที่สูง ปัจจัยดังกล่าว ยังรวมถึงทัศนคติทั่วไปเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศและความเชื่อของสังคมเกี่ยวกับบุคลิกและพฤติกรรมของผู้เสียหาย ไปจนถึงการไกล่เกลี่ยยอมความนอกศาล การปฏิบัติอย่างไม่ละเอียดอ่อนต่อผู้เสียหายซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ ตลอดจนความหน่วงเหนี่ยวล่าช้าของกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล ซึ่งบ่อยครั้งไม่มีความละเอียดอ่อนต่อประสบการณ์ความบอบช้ำทางจิตใจที่ผู้เสียหายจากการถูกข่มขืนจำต้องอดทน

รายงานผลการศึกษาดังกล่าว จะได้รับการเปิดเผยในการแถลงข่าวที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยในรายงานนี้ “นิด (นามสมมุติ)” ผู้เสียหายจากคดีข่มขืนชาวไทย ได้บอกเล่าอย่างอาจหาญถึงความพยายามของเธอจนประสบผลสำเร็จในการเข้าถึงความยุติธรรม “ฉันต้องก้าวผ่านทุกประสบการณ์ที่เจ็บปวด” เธอกล่าว “มันเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ฉันไม่สามารถเข้าใจเอกสารทางกฎหมายส่วนใหญ่ที่พวกเขาส่งมาให้ฉัน เช่น จดหมายจากสำนักงานอัยการและศาล กระบวนการของมันไม่ง่ายสำหรับผู้หญิง แต่ฉันก็ไม่สามารถยอมแพ้เพียงเพราะมันเป็นเช่นนี้ ฉันเดินหน้าต่อสู้เพื่อสิทธิของฉัน เพื่อความยุติธรรมที่ฉันควรได้รับ” คุณนิด กล่าว

ทางด้านนางสาว แอนนา คาริน จัตฟอร์ส รองผู้อำนวยการยูเอ็นวีเมน สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกล่าวว่า “ผลการศึกษาพบว่ามีอุปสรรครอบด้านในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้เสียหายจากการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ซึ่งไม่ใช่เพียงความยากลำบากที่จะเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ หากยังมีเรื่องทัศนคติและอคติของเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ปฏิบัติงานฝ่ายตุลาการซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลืออีกด้วย การทำความเข้าใจว่าอะไรคืออุปสรรคต่อการเข้าถึงความยุติธรรม เป็นก้าวแรกที่สำคัญมากในการส่งมอบความยุติธรรมให้แก่ผู้หญิงและเป็นการยุติพฤติกรรมลอยนวลของผู้กระทำรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย เราหวังว่า ผลการศึกษานี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม”

นางสาว วาเลอรี คลิฟฟ์ รองผู้อำนวยการโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้ความเห็นว่า “ความรุนแรงทางเพศเป็นหนึ่งในความรุนแรงทางสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงที่สุดที่ผู้หญิงเผชิญ และเรื่องนี้ต้องอยู่ในลำดับความสำคัญของกระบวนการยุติธรรม สำหรับการศึกษานี้เน้นไปที่ข้อจำกัดต่างๆในเครือข่ายบอกต่อและกลไกความร่วมมือภายในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงบริการสวัสดิการและสุขภาพ ซึ่งช่วยปกป้องผู้เสียหายจากการถูกกระทำรุนแรงทางเพศให้ได้รับความยุติธรรมที่ผู้เสียหายสมควรได้รับ บริการร่วมด้านความยุติธรรมมีความสำคัญต่อการเอาชนะความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด”

นางสาว คลอเดีย บาโรนิ เจ้าหน้าที่ป้องกันอาชญากรรมและยุติธรรมอาญา กล่าวว่า “การจัดการกับปัญหาอคติทางลักษณะเฉพาะประจำเพศและเพศสภาวะในกระบวนการยุติธรรมเป็นวิกฤตที่ต้องแก้ไข การตัดสินใจโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการ ควรอยู่บนพื้นฐานการพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมตามหลักฐานที่ปรากฏ และไม่อยู่บนพื้นฐานทัศนคติที่มีความลำเอียงเกี่ยวกับผู้หญิง เช่น มีความเชื่อว่า สมควรแล้วที่ผู้หญิงบางคนจะถูกข่มขืน หรือ การข่มขืนอาจเป็นความผิดของผู้หญิง การสร้างความมั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมจะทำงานได้ดี มิใช่เพียงแต่ต้องสร้างความมั่นใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศสภาวะและการเพิ่มพลังของผู้หญิงขึ้นก่อนเท่านั้น หากยังจำเป็นสำหรับหลักนิติธรรม และเพื่อธำรงรักษาสังคมที่มีความเป็นธรรม มีสันติสุข และเจริญรุ่งเรืองสำหรับทุกคนอย่างยั่งยืน”

ผลการศึกษาชี้ด้วยว่า ปัจจัยหลักในคดีข่มขืนที่ได้รับการแจ้งความ ขัดแย้งกับความเชื่อและมายาคติหลายประการเกี่ยวกับการข่มขืนซึ่งเป็นที่ยึดถือกันโดยทั่วไป ข้อค้นพบทั้งหมดมีนัยสำคัญที่เชื่อมโยงกับวิธีจัดการของกระบวนการยุติธรรมต่ออาชญากรรมทางเพศและต่อผู้เสียหายที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ เนื้อหาหลักของการศึกษายังได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของรัฐบาลไทยและเวียดนามในการศึกษานี้ ซึ่งด้วยเหตุนี้ ได้ช่วยยกระดับความเข้าใจร่วมเกี่ยวกับอุปสรรคในการบริหารงานยุติธรรมอันเป็นเป้าหมายของการทุ่มเทความพยายามเพื่อจัดการปัญหา

……………………………………………….