สสว. นำ 15 ผู้ประกอบการ OTOP PLUS ขยายตลาดที่ประเทศญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จ ผลิตภัณฑ์โอทอปไทยโดนใจตัวแทนจำหน่ายญี่ปุ่น กระเป๋าฝ้ายผสมกก คว้ารางวัลนวัตกรรมผลิตภัณฑ์

0
318
image_pdfimage_printPrint

นายปิยะชนก ลิมปะพันธุ์ กรรมการบริหาร สสว. พร้อมด้วยนายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และนางสาวปณิตา ชินวัตร ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนด้านการเงิน สสว. นำทีม 15 ผู้ประกอบการ OTOP ซึ่งผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการออกแบบและได้รับรางวัล OTOP PLUS ร่วมงานแสดงสินค้า โอซาก้า อินเตอร์เนชั่นแนล กิ๊ฟ โชว์ ครั้งที่ 49  ณ นครโอซาก้า  ประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ  ผลิตภัณฑ์โอทอปไทยโดนใจตัวแทนจำหน่ายญี่ปุ่น  และผลิตภัณฑ์กระเป๋าฝ้ายผสมกก โดยนางหนูค่าย กาบคำบา  ประธานกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากกก ตำบลทุ่งวัง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับรางวัลนวัตกรรมผลิตภัณฑ์

” เป็นครั้งแรกที่ผลิตภัณฑ์โอทอป ได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า โอซาก้า อินเตอร์เนชั่นแนล กิ๊ฟ โชว์  ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าของขวัญและไลฟ์สไตล์ ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคคันไซทางตะวันตกของญี่ปุ่น  ผลิตภัณฑ์โอทอป จำนวน 15 รายที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมงานแสดงสินค้าครั้งนี้ ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์การออกแบบ ภายใต้โครงการยกระดับผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แบบบูรณาการ (OTOP PLUS) และได้รับรางวัล โอทอป พลัส อะวอร์ด  (OTOP PLUS Award) ในระดับสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP PLUS ระดับดีเยี่ยมและระดับดีเด่น  ซึ่งรางวัล โอทอป พลัส อะวอร์ด เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัสดุในพื้นที่ ถือเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของผลิตภัณฑ์ OTOP ของไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย สู่ตลาดสากล ”       นายปิยะชนก ลิมปะพันธุ์  กล่าวถึงโครงการ

 

” กลุ่มผลิตภัณฑ์ โอทอป พลัส ทั้ง 15 ราย ที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้า โอซาก้า อินเตอร์เนชั่นแนล กิ๊ฟ โชว์ ครั้งที่ 49   ครั้งนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่า สามารถเข้าถึงตลาดประเทศญี่ปุ่นได้  ประกอบด้วยกลุ่มสินค้าศิลปะหัตถกรรม (Art & Craft),  ของขวัญ  (Gift & Personal Gift)  ของตกแต่งบ้าน (Home Decorative Items) และแฟชั่นแอกเซสซอรี่ (Fashion Accessories) เป็นการนำธรรมชาติ คืนสู่ชีวิตของเรา สินค้าไลฟ์สไตล์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาจากทุกภาคของประเทศ อาทิ ตุ๊กตาถักทอหมู่บ้านพระนั่งดิน จังหวัดพะเยา  กระเป๋าผักตบชวาของกลุ่มหัตถกรรมผักตบชวาสันป่าม่วง จังหวัดพะเยาซึ่งใช้สีธรรมชาติจากพืช ผักผลไม้ในการย้อมวัสดุ    ผลิตภัณฑ์ผ้าปักลาย จังหวัดเชียงใหม่   ผลิตภัณฑ์ใบลาน จังหวัดตาก  ผลิตภัณฑ์ย่านลิเพา จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ้าบาติกจากศูนย์ฝึกอาชีพญาดา นราธิวาส  ผลิตภัณฑ์สานก้านจาก จังหวัดตรัง    ผ้าฝ้ายทอมือจากกลุ่มบ้านบุ่งเลิศ ร้อยเอ็ดซึ่งใช้สีธรรมชาติย้อมเส้นด้าย  ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมคราม สกลนคร ผลิตภัณฑ์จักสานเส้นกก นครพนม ผลิตภัณฑ์จากกก จังหวัดบุรีรัมย์   ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ชุมชนบางเจ้าฉ่า จังหวัดอ่างทอง   ผลิตภัณฑ์ผักตบชวาไม้ตรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผลิตภัณฑ์ผ้าด้นมือ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น” นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต กล่าวถึงสินค้าที่เข้าร่วมงาน

 

“เป็นที่น่าดีใจ จากการเข้าร่วมงานครั้งนี้ ผลตอบรับ ดีมาก  มีผู้ทำหน้าที่จัดซื้อเข้าเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ OTOP PLUS  เกือบ 900 ราย มีจำนวนผู้ที่คาดว่าจะซื้อ เกือบ 20% และผู้ที่ตัดสินใจซื้อ ประมาณ 10% ซึ่งสามารถสร้างงานให้ชุมชนเกือบ 900 คน และคาดการณ์ว่า จะสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน กว่า 9 ล้านบาทต่อปี  ซึ่ง สสว. ยังคงต้องช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขยายตลาดอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์กระเป๋าฝ้ายผสมกก โดยนางหนูค่าย กาบคำบา  ประธานกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากกก  ตำบลทุ่งวัง     จังหวัดบุรีรัมย์  ได้รับรางวัลนวัตกรรมผลิตภัณฑ์  ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์โอทอปของไทย จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ตลาดสากล ” นางสาวปณิตา ชินวัตร กล่าวถึงผลสำเร็จการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่โอซาก้า