เขื่อนแม่วงก์ไม่ใช่คำตอบของคนไทย

0
396
image_pdfimage_printPrint

สำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (LEEO-WEN) และมูลนิธิฟรีแลนด์ ในฐานะสององค์กรหลักที่ร่วมกันต่อต้านการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย อนุรักษ์ผืนป่าและต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยมีพื้นที่ทำงานครอบคลุมทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกา ทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกา โดยให้การสนับสนุนงานสืบสวน งานฝึกอบรมและงานพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เพื่อปราบปรามการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายให้หมดไป

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 พวกเราได้เข้าไปช่วยอบรมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่อุทยานฯ จากนั้น ได้มอบกล้องดักถ่ายให้เจ้าหน้าที่ไปติดตั้งตรงจุดที่เคยมีเบาะแสเสือโคร่ง ซึ่งผลออกมาดีเกินคาด เพราะเราได้รูปถ่ายเสือโคร่งในทันที จนถึงปัจจุบัน พวกเราได้นำเทคโนโลยีกล้องดักถ่าย หรือ Camera Trap จำนวน 100 ตัว ติดตั้งในบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร (และกำลังเพิ่มจำนวนกล้องทุกๆ เดือน) ซึ่งนับได้ว่าเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพมาก ทำให้ได้หลักฐานรูปถ่ายของเสือลายพาดกลอน จำแนกลายอันต่างกันได้ถึง 12 ตัว

สำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ให้การสนับสนุนการทำงานของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ด้วยการช่วยพัฒนาเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้รู้จักการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และการจัดการระบบข้อมูลงานลาดตระเวน ที่เรียกว่าระบบ FIST: Field Information Support Tool อันเป็นระบบที่ทางอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวรใช้อยู่ก่อนแล้วอย่างมีประสิทธิภาพ ดึงเจ้าหน้าที่อุทยานมารับการอบรม ว่าต่อไปนี้จะไม่เดินตรวจป่าเรื่อยเปื่อย แต่จะต้องบันทึกและเก็บข้อมูลรายทางไปด้วย เช่น รอยสัตว์ รอยพราน โดยกรอกข้อมูลลงแบบฟอร์ม ถ่ายรูปเป็นหลักฐาน ลงจุดพิกัดดาวเทียมแน่ชัด และที่ขาดไม่ได้ ต้องมีความรู้ในการวางกล้องดักถ่าย พร้อมกันนั้น ได้จัดหาอุปกรณ์เดินป่าและสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยบันทึกข้อมูลให้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะกล้องดักถ่าย กล้องดิจิตอล เครื่องจีพีเอส คู่มือรอยเท้าสัตว์ การตรวจสอบบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวน ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ใช้เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใส่ข้อมูลตามแบบฟอร์มที่ออกแบบให้กรอกข้อมูลได้ง่ายที่สุด ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับเสือโคร่งในพื้นที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

กล้องดักถ่ายที่เรียงรายตามเส้นทางในป่าลึกพื้นที่อุทยาน เผยให้รู้ว่าเสือใช้เส้นทางและพื้นที่ไหน เสือตัวผู้บางตัวตกเป็นจุดสนใจของทีมงาน เมื่อรูปถ่ายฟ้องว่ามันเดินทะลุจากอุทยานหนึ่งข้ามไปถึงอุทยานหนึ่งเลยทีเดียว ถึงไม่ต้องจับสัญญาณวิทยุอย่างการวิจัยเต็มรูปแบบ ทีมงานก็ยังรู้อาณาเขตคร่าวๆ ของเสือได้อยู่ดี นอกจากเสือโคร่งแล้ว ยังมีสัตว์อีกมากมายที่ถูก “ดักถ่าย” ไม่ว่าจะเสือลายเมฆ เสือไฟ หมีควาย หมีคน กระทิง วัวแดง ช้าง เลียงผา หมาใน เม่น ชะมด อีเห็น ไก่ฟ้าพญาลอ แม้แต่สัตว์เล็กที่หายากยิ่งกว่าเสือ อย่างชะมดแปลงลายจุด ซึ่งเดิมเชื่อกันว่ามีแต่ในพื้นที่ป่าดิบแถวภูเขียวที่อยู่เหนือขึ้นไป ก็ยังลงมาถึงอุทยานแม่วงก์ โผล่เข้ากล้องเห็นตัวชัดเจน

ทั้งยังมีการค้นพบที่น่าสนใจ เมื่อกล้องดักถ่ายในพื้นที่ป่าแห่งหนึ่ง ถ่ายรูปชะมดแผงหางปล้องกับชะมดแผงสันหางดำได้จากจุดเดียวกัน ทั้งที่ปกติชะมดที่หน้าตาคล้ายกันนี้ จะแยกพื้นที่อาศัยออกจากกัน ถ้าพบชนิดหนึ่ง ก็จะไม่พบอีกชนิดหนึ่ง แต่นอกจากสัตว์ป่าแล้ว สิ่งที่กล้องดักถ่ายจับภาพได้ ยังมีพวกพรานป่ารวมอยู่ด้วย บางรายเห็นหน้าชัด บางรายเห็นแต่มอเตอร์ไซค์ แต่ก็พอจะเห็นเลขทะเบียนรถ จึงกล่าวได้ว่า กล้องดักถ่าย ได้เข้ามามีบทบาทในงานป้องกันปราบปรามการล่าสัตว์ด้วยระดับหนึ่ง โดยมีบทบาทคล้ายคลึงกับกล้องวงจรปิดตามเมืองใหญ่นั่นเอง

ปัจจุบันกล้องดักถ่ายมีราคาถูกลงมากกว่าแต่ก่อน เหลือเพียงกล้องละประมาณ 4 พันบาท แต่ต้องมีอุปกรณ์เสริมอย่างกล่องเหล็กหนาเตอะ “Elephant Proof” ที่สั่งทำพิเศษ และก็สะลิงเส้นโตกับกุญแจกันขโมย ที่เป็นรายจ่ายประจำเดือนเลย คือถ่านอัลคาไลน์ก้อนใหญ่ 6 ก้อน แต่ละกล้องจะมีค่าใช้จ่ายของถ่านที่ว่าเดือนละ 350 บาท คูณจำนวนกล้องเข้าไปก็เป็นเงินไม่ใช่น้อย ทุกเดือนที่มูลนิธิฟรีแลนด์ไปกู้กล้อง ถ่านจะเหลือพลังงานเฉลี่ยประมาณ 60% ก็จะยกถ่านให้เจ้าหน้าที่อุทยานไปใช้ใส่ไฟฉายหรือวิทยุต่อไป แล้วเปลี่ยนถ่านชุดใหม่แทนเสมอ ในการติดกล้องดักถ่าย หากเป็นการเจาะจงถ่ายเสือโคร่ง จะติดตามต้นไม้สูงจากพื้นประมาณ 3 ฟุต และเลี่ยงต้นไม้ใหญ่ ซึ่งมักเป็นที่สนใจของช้างป่า อาจมีการใช้เหยื่อล่อช่วยด้วย แค่ใช้ “ปลาร้า” ราดตามพื้น เพื่อชะลอให้เสือหรือสัตว์นักล่าอื่นๆ หยุดก้มดมกลิ่นสักนิด จะได้ผลกว่าดักรอจังหวะเดินอย่างเดียว ซึ่งกล้องดักถ่ายอาจตื่นจาก”โหมดหลับ”ไม่ทัน

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพันธุ์พืชกล่าว หลายคนถามว่าทำไมเสือโคร่งและสัตว์ป่าที่เคยมีจึงหายไปจากป่าไทย นักวิชาการสันนิษฐานว่า เพราะที่ทำการ บ้านพักทั้งหลาย ล้วนแต่เข้าไปตั้งอยู่ใจกลางบ้านดั้งเดิมของเสือทั้งหมด รถราก็แล่นกันอึกทึกมาก ในดงป่านอกสายตานักท่องเที่ยว ยังมีชาวบ้านเดินหาไม้หอม และของป่ากันแทบทุกตารางนิ้วอีกต่างหาก วุ่นวายเกินกว่าเสือและสัตว์ป่าจะใช้ชีวิตอยู่ได้ หากเรามาสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร พื้นที่อุทยานที่สัตว์ป่าเหล่านี้ยังได้พักอาศัย แล้วพวกเค้าจะไปอยู่ที่ไหน เราต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติอีกเท่าไร มนุษย์ถึงจะพอ ผมว่าเราได้ไม่คุ้มเสีย!!