สู่ทศวรรษใหม่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เสนอ ๔ ประเด็นหลัก “เสริมพื้นที่เล่น เน้นกิจกรรมทางกาย ร่วมจัดการขยะ เลิก ละยาเสพติด”

0
277
image_pdfimage_printPrint

สู่ทศวรรษใหม่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
เสนอ ๔ ประเด็นหลัก “เสริมพื้นที่เล่น เน้นกิจกรรมทางกาย ร่วมจัดการขยะ เลิก ละยาเสพติด”

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๖๐ “๑๐ ปี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ สู่สังคมสุขภาวะ” เสนอ ๔ ระเบียบวาระสำคัญ มุ่งแก้ปัญหาสุขภาวะใกล้ตัว “เสริมพื้นที่เล่น เน้นกิจกรรมทางกาย ร่วมจัดการขยะ เลิกละยาเสพติด” พร้อมนำเสนอรูปธรรมความสำเร็จการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และเรื่องราวดีดีจากการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ตลอด ๑๐ ปีหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐
วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดงานแถลงข่าว การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ.๒๕๖๐ ณ บริเวณลานหน้าห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น ๕ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน คจ.สช. กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นเครื่องมือที่ถูกกำหนดไว้ในหมวด ๔ ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมที่สร้างพื้นที่สาธารณะให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและผลักดันนโยบายสาธารณะ ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแสวงหาทางออกร่วมกันบนฐานข้อมูล ความรู้ และปัญญา ด้วยความเท่าเทียมกันของทุกฝ่าย และนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อฝ่ายต่างๆ ในสังคม
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๖๐ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐–๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๐ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยมี ๔ ระเบียบวาระที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาเพื่อพัฒนาข้อเสนอนโยบาย หรือเป็น “ขาขึ้นนโยบาย” ในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย (๑) การส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น (๒) ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (๓) การพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษา และ (๔) การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้ง ๔ ประเด็นล้วนใกล้ชิดกับสังคมไทย เริ่มจากการจัดการพฤติกรรมเนือยนิ่ง เคลื่อนไหวร่างกายน้อยของคนไทย ที่ส่งผลต่อภาวะอ้วนลงพุงและการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ฯลฯ ในส่วนของเด็กปฐมวัยและเด็กประถมศึกษา ก็พบการขาดแคลนพื้นที่เล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ รวมถึงขาดความปลอดภัยและการจัดการดูแลที่ดีพอ ขณะเดียวกันปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดก็ต้องการการสานพลังเชิงรุกร่วมกันของทั้งชุมชน สังคมเพื่อสร้างเกราะคุ้มกัน ปราบยาเสพติดในชุมชนด้วยการสร้างความเข้าใจและให้โอกาส และท้ายที่สุดคือประเด็นการจัดการขยะที่เกิดขึ้นถึงปีละกว่า ๒๗ ล้านตัน แต่กำจัดได้เพียง ๒๐ ล้านตัน จึงต้องให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานทุกระดับที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างวินัยของคนในชาติ มุ่งสู่การจัดการอย่างยั่งยืน
ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการ คจ.สช. กล่าวว่า เนื่องจากปี ๒๕๖๐ ตรงกับวาระครบรอบ ๑๐ ปี การประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ คจ.สช.จึงกำหนดประเด็นหลักของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ นี้ว่า “๑๐ ปี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ สู่สังคมสุขภาวะ” ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายนี้มุ่งให้เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ผ่านเครื่องมือและกลไกต่างๆ ที่กำหนดใน พ.ร.บ. โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมตามยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา กล่าวคือ คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของ ๓ ภาคส่วน ได้แก่ ภาควิชาการ เพื่อสร้างความรู้เป็นฐานพัฒนาข้อเสนอนโยบาย ภาคประชาชน ซึ่งรวมทั้งประชาสังคม เอกชน สื่อมวลชนฯ เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคม และภาคนโยบาย เพื่อเชื่อมโยง ขับเคลื่อนร่วมกับรัฐและการเมือง ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางประชารัฐเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนรวมทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ตลอดการทำงานที่ผ่านมาได้มีการสอดแทรกแนวคิด “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” (Health in All Policies) เพื่อให้หน่วยงาน องค์กรต่างๆ สร้างนโยบายโดยคำนึงถึงมิติด้านสุขภาพควบคู่ไปด้วยเสมอ ทั้งนี้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสากล คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ จะมีการนำรูปธรรมของการดำเนินงานพัฒนานโยบายสาธารณะผ่านเครื่องมือทุกชนิดตาม พ.ร.บ.สุขภาพฯ มาเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลานสมัชชาและนิทรรศการ โดยประชาชนที่สนใจสามารถสมัครร่วมกิจกรรม “สมัชชาพาทัวร์” ภายในงานได้ด้วย
นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า ในทศวรรษต่อไป สช. ซึ่งรับผิดชอบการทำงานตาม พ.ร.บ.สุขภาพมีภารกิจสำคัญ คือ การทำให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งนับวันจะทวีจำนวนขึ้น ได้เรียนรู้ซึมซับแนวคิดการทำงานแบบ “สานพลัง” (Synergy) คือ การทำงานแบบข้ามภาคส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดพลังในการผลักดันนโยบายสาธารณะบนฐานปัญญา นำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุกด้าน
นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ รองประธานกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน กล่าวถึงความสำเร็จในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จากการจัดมาแล้ว ๙ ครั้ง มีมติรวม ๗๓ มติว่า จากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของหน่วยงาน ภาคี เครือข่าย ทำให้เกิดรูปธรรมที่สำคัญในหลายลักษณะ ทั้งผลสำเร็จในการประกาศเป็นนโยบายระดับชาติ การมีแผนยุทธศาสตร์ การมีแผนปฏิบัติงานของหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน องค์กรต่างๆ รวมไปถึงการเกิดผลเปลี่ยนแปลงถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งนี้ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ นี้ จะได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าและรูปธรรมจากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา รวม ๑๕ มติ เช่น มติพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ซึ่งมีมติมหาเถรสมาคมนำไปเข้าสู่แผนงานสาธารณะสงเคราะห์ และกำลังจัดทำเป็น “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” มติการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ที่เป็นพลังร่วมผลักดันให้เกิดพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นต้น ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จะเน้นการเปิดพื้นที่การหารือและการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน องค์กรทุกภาคส่วน โดยใช้ความรู้เป็นฐาน เพื่อขับเคลื่อน “บูรณาการการทำงาน” เรื่องที่ยากและซับซ้อน มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ซึ่งแตกต่างจากการทำงานของหน่วยราชการตามปกติ และยังเป็นการเสริมพลังการทำงานของทุกฝ่ายด้วย และประชาชนสามารถเข้าร่วมเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้อีกด้วย