ทช.สนอง Thailand 4.0 เข้าเขตหาดปลอดบุหรี่มีสัญญาณเตือน

0
461
image_pdfimage_printPrint

ในช่วงนี้กระแสชายหาดปลอดบุหรี่ ยังคงอยู่ในกระแสสังคมและ Social media ที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงให้การสนับสนุน เพราะมองถึงสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยของทรัพยากรธรรมชาติและชีวิตผู้คนเป็นหลัก นอกจากควันบุหรี่จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรงแล้ว ขยะจากบุหรี่นั้นยังประกอบไปด้วยสารท็อกซิน (Toxin) นิโคติน (Nicotine) ยาฆ่าแมลง และสารก่อมะเร็ง ซึ่งสามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำได้อีกด้วย พลาสติกในก้นกรองบุหรี่เป็นวัสดุที่ไม่ย่อยสลาย ขยะประเภทนี้มีองค์ประกอบหลักเป็น polymer cellulose acetate ที่สังเคราะห์ขึ้น ซึ่งใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายค่อนข้างนาน อยู่ในช่วง 2-12 ปี ขึ้นกับสภาพสิ่งแวดล้อม
ด้วยพิษภัย มากมายมหาศาลขขนาดนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้เกิดไอเดียในการจัดทำโครงการ “ชายหาดปลอดบุหรี่” ขึ้น ซึ่งจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในด้าน การป้องกันภัยคุกคามทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และภัยสุขภาพจากบุหรี่บริเวณพื้นที่ชายหาด ในวันอังคารที่ 31 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเป็นประธานในพิธีดังกล่าว ซึ่งในระยะแรกมีพื้นที่ชายหาดนำร่อง เข้าร่วมโครงการจำนวน 24 หาด ใน 15 จังหวัด โดยมีนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล มาร่วมพิธีลงนามด้วยตัวเอง และที่สำคัญผู้ว่าราชการใน 15 จังหวัดจะมาร่วมเป็นสักขีพยานอีกด้วย ส่วนหน่วยงานในระดับกรมก็จะมีอธิบดีกรมต่างๆมาร่วมลงนามด้วย ได้แก่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมควบคุมโรค
แต่ในงานนี้อธิบดีจตุพรให้สัมภาษณ์ว่าจะมีไฮไลท์ เพราะทำแค่นี้จะธรรมดาไปซักหน่อยไหนๆรัฐบาลก็ประกาศการขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้ร่วมมือกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด จะเปิดตัวการนำเทคโนโลยี 4G มาใช้ในการาส่งข้อความเตือนสำหรับชายหาดทั้ง 24 แห่ง ที่ประกาศให้เป็นชายหาดปลอดบุหรี่ เพื่อช่วยในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และเตือนสำหรับผู้ที่อาจจะกระทำผิด หลักการทำงานก็ง่ายๆ เพียงท่านเข้ามาในเขตสัญญาณเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายสัญญาณข้อความก็จะดังขึ้น โดยจะปรากฏข้อความว่า “ชายหาดแห่งนี้เป็นพื้นที่ตามมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีข้อกำหนดดังนี้ 1.ห้ามสูบบุหรี่หรือทิ้งก้นบุหรี่และขยะมูลฝอยในบริเวณชายหาดที่กำหนด
2.อนุญาตให้สูบบุหรี่หรือทิ้งก้นบุหรี่ตลอดจนขยะมูลฝอยในสถานที่หรือภาชนะที่จัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตาม พรบ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558”
ซึ่งระบบดังกล่าวในระยะแรกคงใช้ได้สำหรับผู้ที่ใช้เครือข่าย เอไอเอสเท่านั้น แต่ในอนาคตกรมจะขอความร่วมมือจากทุกเครือข่ายเพื่อเป็นช่องทางรณรงค์และอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยวให้ครอบคลุมมากที่สุด ทั้งนี้ การใช้ข้อความเตือนดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไปสำหรับการประกาศเขตพื้นที่ชายหาดปลอดบุหรี่จำนวน 24 หาด ใน 15 จังหวัด ช่วง 90 วันแรกหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะเป็นช่วงรณรงค์สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ และจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป นายจตุพรกล่าวปิดท้าย