Tour De Andaman เปิดประสบการณ์การปั่น สัมผัสวิถีชุมชน

0
301
image_pdfimage_printPrint

ประเทศไทย ไม่ไปไม่รู้ คำนี้เป็นคำที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยกับการท่องเที่ยวจริงๆ หลายคนเมื่อนึกถึงอันดามัน คงนึกถึงแต่ท้องทะเลสวยงาม ท้องฟ้าสดใส แต่ในความเป็นจริงจังหวัดในกลุ่มอันดามัน ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอีกมากมายที่มากกว่าท้องทะเล

ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดประตูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กว้างมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการปั่นจักรยานชมธรรมชาติ จังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นจังหวัดหลักของเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน จึงได้มีจัดกิจกรรม TOUR DE ANDAMAN การปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว ภายในแนวคิด “ปั่นชมธรรมชาติ ผ่านชุมชน ยลวัฒนธรรมท้องถิ่น” เส้นทางภูเก็ต พังงาและกระบี่ ระยะทาง 160 กิโลเมตร มีนักปั่นให้ความสนใจรวมทริป 200 คนหนึ่งในนั้น คือผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ซึ่งเส้นทางนี้จะใช้เวลา 2 วัน 1 คืน โดยนักปั่นได้สัมผัสความงามของธรรมชาติตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ จุดชมวิวเสม็ดนางชี แหล่งท่องเที่ยวชุมชนบ้านสามช่องเหนือ ถ้ำพุงช้าง จ.พังงา อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี แหล่งท่องเที่ยวชุมชนแหลมสัก จ.กระบี่

เมื่อนักปั่นพร้อมท้องฟ้าสดใส กิจกรรม TOUR DE ANDAMAN จึงเริ่มต้นขึ้น จากจุดปล่อยตัวประตูเมืองภูเก็ต เมื่อสิ้นเสียงสัญญาณปล่อยตัวนักปั่นก็พร้อมใจกัน ปั่นมุ่งหน้าไปสู่สะพานสารสินข้ามสะพานความยาว 660 เมตรสู่จังหวัดพังงา ทิวแถวของนักปั่น 200 ชีวิต ที่ปั่นเรียงรายกันเป็นภาพที่สวยงาม ตลอดเส้นทางของการปั่นเป็นการทดสอบความสามารถของนักปั่นได้ดีทีเดียว เพราะเส้นทางจะเป็นเนินเขาและคดเคี้ยว แต่เต็มไปด้วยความสวยงามของต้นไม้สีเขียว ภูเขาสูงและท้องฟ้าที่ทอดยาวอยู่เบื้องหน้า บางช่วงของเส้นทางจะปั่นผ่านชุมชน สวนยางพารา ทำให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน มีเด็กเล็กๆ มายืนมองกลุ่มนักปั่นพร้อมโบกมือต้อนรับ

หลังจากปั่นมาสักพักก็ถึงจุดชมวิวเสม็ดนางชี จ.พังงา ซึ่งนักปั่นที่เป็นคนใต้ได้บอกว่า คำว่าเสม็ด มาจากภาษาใต้จากคำว่าเหม็ด แปลว่า ยกหรือถก ในอดีตบริเวณนั้นเป็นคลอง มีแม่ชีอาศัยอยู่เมื่อจะเดินผ่านคลองจะต้องเหม็ดผ้าขึ้น เพื่อไม่ให้เปียกจึงเป็นที่มาของชื่อว่า เสม็ดนางชี การขึ้นจุดชมวิวต้องอาศัยรถกระบะของชาวบ้าน ที่รวมตัวกันบริหารจัดการภายชุมชนเพื่อให้เกิดรายได้ พานักปั่นขึ้นไปสู่ยอดเขา หรือหากใครแข็งแรงก็สามารถปั่นขึ้นเองได้ เมื่อถึงจุดสูงสุดของเสม็ดนางชี ภาพเบื้องหน้าของทุกคนคือความงดงามของภูเขาหินปูนน้อยใหญ่ของอ่าวพังงา ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักขึ้นมากางเต้นท์นอน เพื่อรอชมความสวยงามของดวงดาวยามค่ำคืน และพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า ต่อจากเสม็ดนางชี นักปั่นก็เดินทางกันต่อสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนบ้านสามช่องเหนือ ที่นี่เป็นหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยให้คนชุมชนได้บริหารการจัดการชุมชนของตนเอง เปิดรับนักท่องเที่ยวให้เข้าชมวิถีการดำรงชีวิต ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่นักปั่นได้ร่วมสัมผัสคือการนั่งเรือหางยาวชมอ่าวพังงา พาชมหมู่เกาะน้อยใหญ่ภายในอ่าว

จุดสุดท้ายของจังหวัดพังงาที่นักปั่นได้เที่ยวชมความงามคือ ถ้ำพุงช้าง ภูเขารูปช้างหมอสัญลักษณ์ของจังหวัด อยู่ภายในบริเวณวัดประจิมเขต หลังศาลากลางจังหวัด การท่องเที่ยวถ้ำพุงช้างเป็นการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย เพราะนักปั่นจะต้องเข้าไปภายในถ้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ใจกลางเขาช้าง โดยเดินลุยน้ำ นั่งแพ และนั่งเรือแคนนู เพื่อเข้าไปชมหินงอกหินย้อยที่เป็นฝีมือธรรมชาติ หินงอกหินย้อยมีลักษณะของช้างหลากรูปแบบ ซึ่งเมื่อแสงไฟฉายส่องไปตามหินงอกหินย้อย จะเกิดประกายเหมือนเพชร

ต่อจากถ้ำพุงช้าง นักปั่นมุ่งหน้าสู่จ.กระบี่ เที่ยวชมอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ครอบคลุมพื้นที่ทั้งทางบกและบางส่วนในหมู่เกาะทะเลอันดามัน ซึ่งเมื่อก้าวผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาตินี้ ซึ่งแรกที่สัมผัสได้คือป้ายประชาสัมพันธ์ ขนาดใหญ่กับคำว่า “ธารโบกขรณีที่พ่อเคยมา” เพราะสถานที่แห่งนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จพระราชดำเนินเมื่อปี พ.ศ. 2502 ทอดพระเนตรถ้ำลอด จากนั้นทรงลงพระปรมาภิไธย “ภปร” และพระนามาภิไธย “สก” ไว้ที่หน้าผา รวมถึงทรงปลูกต้นศรีตรัง และทรงปล่อยเต่า ภายในอุทยานฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีความน่าสนใจ พื้นที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ มีการทำเส้นทางเดินเพื่อให้ศึกษาป่าธรรมชาติ ไปยังสระธารโบกขรณี

และจุดสุดท้ายของทริปนี้ คือการปั่นมุ่งหน้าสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนแหลมสัก ชุมชนเล็กๆ ที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันระหว่าง 3 เชื้อชาติ ไทยพุทธ มุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน โดยชุมชนแห่งนี้เบื้องหน้าจะเป็นทะเลที่สวยงามโอบล้อมไปด้วยภูเขา นักปั่นได้สัมผัสธรรมชาติเหล่านี้ด้วยการนั่งเรือเที่ยวชม ถ้ำชาวเลที่มีอายุ 3 พันปี โดยมีร่องอยทางประวัติศาสตร์อยู่มากมาย เช่น ภาพเขียนสีที่ผสมยางไม้กับเลือดสัตว์อยู่บนผนังถ้ำ ต่อจากนั้นล่องเรือมาที่อ่าวเหนาอ่าวที่เงียบสงบและเต็มไปด้วยกระชังปลา กระชังเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และยังได้เห็นวิธีการเลี้ยง พร้อมทั้งได้ชิมสาหร่ายพวงองุ่นที่ถือเป็นเมนูเด็ดของแหลมสัก ซึ่งใครสนใจวิธีการเพาะเลี้ยงสาหร่าย สามารถมาศึกษาวิธีการเลี้ยงได้โดยชาวบ้านยินดีให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สนใจ ซึ่งหลังจากเยี่ยมชมกระชังสาหร่ายแล้ว ก็ถือเป็นการสิ้นสุดกิจกรรม TOUR DE ANDAMAN การปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว ที่โบกมือลาพร้อมสายฝนที่โปรยปราย