BEDO ประกาศความพร้อม เตรียมจัดงานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น 2560 “สร้างชีวิตสมดุลเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”

0
221
image_pdfimage_printPrint

BEDO ประกาศความพร้อม เตรียมจัดงานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น 2560 “สร้างชีวิตสมดุลเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO เตรียมจัดงานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2560 ภายใต้แนวคิด “10 ปี BEDO สร้างชีวิตสมดุลเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” ในวันที่ 31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2560 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา โชว์สุดยอดผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนที่นำความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างมูลค่าด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอด หวังกระตุ้นคนไทยเห็นคุณค่าและนำความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ BEDO เปิดเผยว่า BEDO ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2550 และได้ครบรอบ 10 ปีในปีนี้ ที่ผ่านมา BEDO มีการทำงานที่ใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่นที่ถือเป็นฐานทรัพยากรของประเทศ โดย BEDO ให้ความสำคัญมากกับการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนฐานรากให้มีความสามารถในการพึ่งตนเอง ตระหนักถึงความได้เปรียบด้านทรัพยากรท้องถิ่นและการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่ม หากแต่การพัฒนาดังกล่าวจะต้องไม่ทำลายฐานทรัพยากรเดิม นอกจากนั้น BEDO ยังเสริมสร้างศักยภาพด้านธุรกิจให้กับชุมชน ทั้งในเรื่องการส่งเสริมธุรกิจชีวภาพใหม่ๆ การผลักดันการปรับปรุงข้อกฎหมายที่สำคัญ อีกทั้งยังกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเห็นประโยชน์ถึงการใช้ทรัพยากรชีวภาพควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ทั้งนี้ ใน 10 ปีที่ผ่านมา BEDO ได้สร้างการรับรู้เพื่อขยายแนวคิดเหล่านี้ออกไปอย่างกว้างขวางและครอบคลุมไปทั่วประเทศ เพื่อเป็นการตอกย้ำแนวคิดด้านการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรชีวภาพพร้อมนำเสนอผลงานและประโยชน์ของ BEDO ต่อชุมชนท้องถิ่น รวมถึงแนวทางการดำเนินงานของ BEDO ที่จะร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่ ยุค Thailand 4.0 ล่าสุด BEDO จึงจัดงานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2560 ภายใต้แนวคิด “10 ปี BEDO สร้างชีวิตสมดุลเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”

ภายในงานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2560 ได้มีการนำเสนอข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพที่น่าสนใจบนผืนแผ่นดินไทย โดยการจัดแสดงในรูปแบบ Biodiversity Pavilion ที่จะสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าและพัฒนาเศรษฐกิจได้ นอกจากนั้นยังได้พบกับ นิทรรศการมีชีวิต ซึ่งจำลองแหล่งเรียนรู้ให้ผู้ชมได้สัมผัสและเห็นตัวอย่างจริงจากสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรทางชีวภาพที่น่าสนใจ อีกทั้งยังมีการรวบรวมข้อมูลจากศูนย์เรียนรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และทำให้เกิดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีการสาธิตและบอกเล่าจุดเด่นของชุมชนที่ BEDO เข้าไปสนับสนุนและยกระดับผลิตภัณฑ์ จนได้รับตราส่งเสริม BioEconomy ที่มีจุดเด่นและแตกต่างจากสินค้าทั่วไปด้วยหลัก 3 ประการ คือ 1.การใช้ทรัพยากรชีวภาพในชุมชนเป็นวัตถุดิบ (Local content) 2.การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly product) 3.นำรายได้ไปอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพ (Future of the Origin) พร้อมด้วยเวทีเสวนา ตอบปัญหาธุรกิจ และให้คำปรึกษาด้านการสร้างธุรกิจจากทรัพยากรชีวภาพ นอกจากนั้นยังให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมกิจกรรมสาธิต อาทิไอศกรีมเจลาโต้รูปดอกไม้ ยาหม่องแฟนซี ชื่อนี้พารวย และการแสดงมินิคอนเสิร์ต โดย ศิลปินชื่อดัง เอ๊ะ จิรากร และไข่มุก เดอะวอยซ์ และไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้คือ การเข้าสัมผัสและเรียนรู้แนวคิด “ป่าครอบครัว” ที่ BEDO ได้จำลองบรรยากาศธรรมชาติมาไว้กลางศูนย์ราชการ ที่นอกจากจะสามารถถ่ายภาพเป็นที่ระลึก และยังมีการแจกกล้าไม้เพื่อให้ผู้เข้าชมงานนำไปสร้างป่าครอบครัวในสวนหลังบ้าน ที่นอกจากจะเพิ่มความร่มรื่นยังสามารถเก็บผลมารับประทานตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงได้อีกด้วย

“ที่ผ่านมา BEDO ได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพโดยชุมชนท้องถิ่น นอกจากการส่งเสริมสนับสนุนด้านเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพแล้ว BEDO ยังมีภารกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องทรัพยากรชีวภาพของประเทศ เช่น การรวบรวมฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมการคุ้มครองทรัพยากรของประเทศ เป็นต้น โดย BEDO หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดงานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2560 จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจ สร้างแรงบันดาลใจและเป็นพลังอีกหนึ่งส่วนในการสร้างการมีส่วนร่วมในการรักษาและพัฒนาทรัพยากรด้านชีวภาพในการใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ สุดท้ายนี้ขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านมาร่วมกันสนับสนุนสินค้าจากวิสาหกิจชุมชนกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากฐานทรัพยากรชีวภาพภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกทั้งยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน”