รวยกันถ้วนหน้าคนกรมศุลกากรรางวัลนำจับ 12 ปีหมื่นกว่าล้าน

0
534
image_pdfimage_printPrint

รวยกันถ้วนหน้าคนกรมศุลกากรรางวัลนำจับ 12 ปีหมื่นกว่าล้าน

ทุกครั้งที่สำนักโพลล์ จัดลำดับหน่วยงานราชการที่มีการทุจริตคอรัปชันมากที่สุด ชื่อชั้นของกรมศุลกากรต้องติดโผลำดับต้นๆมาทุกยุคทุกสมัย……ประหนึ่งเกลือรักษาความเค็ม

จากกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ.)กวาดล้างรถหรูประเภทซูปเปอร์คาร์สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงที่เป็นข่าวครึกโครมในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาเช่นนี้ไม่ใช่พึ่งจะเริ่มปรากฏ แต่เกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ปี 2552 ยุคนั้นต้องถือว่าเป็นยุคทองของเกรย์ มาเกตหรือผู้นำเข้าอิสระที่เห็นช่องโหว่ของกฎหมาย สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อหลบเลี่ยงภาษีนำเข้ามากถึง 328 เปอร์เซ็นต์ของราคานำเข้า

เพื่อให้ราคาจำหน่ายรถแต่ละคันถูกกว่าตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากโรงงานผู้ผลิตที่ต้องสำแดงราคาตามความเป็นจริงถึงกับขายรถไม่ออก เพราะราคาขายหน้าโชว์รูมจะแพงกว่าพวกผู้นำเข้าอิสระ จึงพากันร้องเรียนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ,วุฒิสภา และปปท.ให้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง
ผลการตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่ตรวจปล่อยรถหรูหรือนายตรวจทั้งหมด 108 คน ตัดไปตัดมาเหลือ 67 คนถูกสอบวินัยร้ายแรง ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจพบว่า8 ปีที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้ตรวจปล่อยรถหรูสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงไปแล้วไม่ต่ำกว่า 70,000 คัน

คุณพระช่วย……ประเทศชาติต้องสูญเสียรายได้นับแสนล้านบาท แต่ก็แปลกที่จากอดีตจนถึงปัจจุบันรัฐบาลกี่ยุคกี่สมัยก็ยังไม่สามารถอุดรูรั่วนี้ได้
พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ดีเอสไอ.ได้รับราคากลางรถซุปเปอร์คาร์จากประเทศผู้ผลิต หลังจากนี้จะนำมาขยายผลตรวจสอบย้อนหลัง 5 ปี คาดว่าจะมีรถหรูอีกมากกว่า 1,000 คันเข้าข่ายสำแดงใบเสียภาษีเป็นเท็จ

ผลงานโบว์ดำหมักหมมภายในกรมศุลกากรเป็นกองพะเนินขนาดนี้ แต่คนไทยทั้งประเทศกลับไม่เคยได้ยินคำตอบจากปากผู้บริหารกรมศุลกากรแบบชัดๆเลยสักครั้งเดียว……ครั้งนี้ก็เช่นกัน

ผู้บริหารระดับสูงกรมศุลกากร ยอมรับหน้าตาเฉยว่าที่ผ่านมา กรมศุลกากรไม่ทราบราคาที่แท้จริงของรถหรูที่นำเข้า เนื่องจากรถซุปเปอร์คาร์แต่ละบริษัทฯมีการสำแดงราคาที่ใกล้เคียงกัน และมีเอกสารที่ถูกต้องจึงไม่สามารถตรวจสอบได้

คำตอบง่ายๆแต่เข้าใจยากของ กรมศุลกากรสร้างความงุนงงให้สังคมเป็นอย่างมาก คำถามว่าถ้ากรมศุลฯไม่รู้แล้วใครจะรู้ คำตอบคือ ดีเอสไอ.รู้แถมยังมีข้อมูลฐานราคาจากผู้ผลิตโดยตรง

น่าแปลกการจัดเก็บภาษีคือหน้าที่หลักของกรมศุลกากรแต่กลับไม่มีข้อมูลราคาที่ถูกต้องจากผู้ผลิต นั่นหมายความว่าต่อไปนี้ กรมศุลฯจะต้องอาศัยฐานข้อมูลจาก ดีเอสไอ.เพื่อเรียกเก็บภาษีรายได้จากผู้นำเข้ารถซุปเปอร์คาร์แล้วใช่หรือไม่?

นายสมผล ตระกูลรุ่ง ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายศุลกากร กล่าวถึงเหตุจูงใจที่ว่าเหตุใดกรมศุลกากรจึงกล่าวหาว่า ผู้นำเข้าเสียภาษีไม่ครบว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29สิงหาคม 2555 คณะกรรมการ ปปช.ร่วมกับหอการค้าต่างประเทศจัดงานสัมมนาหัวข้อ “ถกปัญหาการจ่ายเงินสินบนและรางวัลกรมศุลกากร” เพื่อให้รัฐบาลแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชันภายในกรมศุลกากร จึงไปว่าจ้าง รศ.ประธาน วัฒนวาณิชย์ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำวิจัย หัวข้อ “การจ่ายเงินสินบนและรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่โดยภาพรวมทั้งระบบ”

รายงานการวิจัยระบุว่า เดิมทีมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ไปรับเงินสินบนจากพ่อค้า

แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การจ่ายเงินสินบนและรางวัลก่อให้เกิดพฤติกรรมบิดเบือนจากสิ่งที่ควรกระทำ (Moral hazard)หลายประการเช่น เจ้าหน้าที่มุ่งเน้นปฏิบัติหน้าที่เฉพาะงานที่ได้เงินรางวัล ละเลยงานที่ไม่มีผลตอบแทน การจ่ายเงินรางวัลในอัตราที่สูงก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในวงราชการ เพราะผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับข้าราชการบางกลุ่มที่ทำหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดเท่านั้น

นายสมผล กล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาตามเหตุผล เงินสินบนและรางวัล ถ้าจะจ่ายควรจะจ่ายเฉพาะกรณีความผิดลักลอบนำสินค้าเข้าโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ไม่ควรนำมาใช้กับความผิดสำแดงเท็จ ที่มีการนำสินค้าผ่านพิธีการปกติแต่อาจตีความต่างกัน นอกจากนี้ตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัล กำหนดว่า กรณีที่ไม่มีผู้แจ้งความนำจับเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมจะได้เงินรางวัล 30 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสินค้าที่จับกุมได้หรือค่าปรับ 4 เท่ารวมภาษีนำเข้า แต่ถ้ามีผู้แจ้งความนำจับ สายลับที่แจ้งจะได้เงินสินบน 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมจะได้เงินรางวัล 25 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่และสายลับรับเงินสินบนรางวัลรวม 55 เปอร์เซ็นต์

ทนายสมผล กล่าวอีกว่า การกำหนดส่วนแบ่งเงินสินบนและรางวัลในอัตราที่สูง งานวิจัยของธรรมศาสตร์ระบุว่า “เป็นมูลเหตุจูงใจและที่มาให้เจ้าหน้าที่กระทำการทุจริต และมีการทำหลักฐานเท็จ ด้วยการสร้าง สายลับเทียม เพื่อหวังเงินสินบนที่เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว”

ความหมายคือ แทนที่เจ้าหน้าที่จะได้เงินรางวัลแค่ 30 เปอร์เซ็นต์หากไปสร้างหลักฐานเท็จว่ามีผู้มาแจ้งความนำจับ เงินรางวัลจะเพิ่มเป็น 55 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม การจ่ายสินบนและรางวัลในอัตราที่สูง ได้ไปผูกโยงกับค่าปรับหรือมูลค่าของกลางที่จับกุมได้ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าผู้ประกอบการสำแดงเท็จหรือหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเช่นแจ้งราคาต่ำ สียภาษีไม่ตรงกับพิกัดอัตราภาษีตาม พรบ.ศุลกากร 2469 มาตรา 27 ระบุว่า ผู้กระทำผิดต้องจ่ายค่าปรับ 4 เท่าของมูลค่าสินค้ารวมภาษีนำเข้า และมีโทษอาญาจำคุกโดยไม่มีการพิจารณาว่า ผู้กระทำความผิดมีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่ ถ้าตรวจพบว่ามีการกระทำความผิดต้องจ่ายค่าปรับ 4 เท่าสถานเดียว ไม่มียกเว้นหรือลดหย่อนโทษ

กฎหมายให้อำนาจมากมายล้นฟ้าขนาดนี้……มีหรือที่พ่อค้า คิดจะต่อกรกับกรมศุลกากร…จำต้องสยบยอมแพ้ไม่คิดฟ้องร้องต่อศาลสู้คดีตามครรลองกระบวนการยุติธรรมแทบทุกราย

รายงานยังระบุอีกว่า ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและสายลับจริงสายลับเทียมรับเงินรางวัลไปแล้วทั้งสิ้น 10,343 ล้านบาท และผู้ประกอบการถูกยึดสินค้าทอดตลาดและจ่ายค่าปรับ คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาท (ยังไม่หักเงินสินบนและรางวัลนำจับ)
โอ้ว….คุณพระช่วยไม่ได้แล้วจริงๆเงินรางวัลมากมายมหาศาลขนาดนี้ไม่แปลกเลยที่ ข้าราชการทั้งหลายพยายามใช้เส้นสายฟาดฟันกันอยากเข้าบรรจุกำลังพลของกรมศุลกากรกันถ้วนหน้า

แต่ยังๆก่อน…ยังมีพ่อค้าประเภทหมูไม่กลัวน้ำร้อนหาญกล้าต่อกรสู้คดีกับกรมศุลกากรอย่างบริษัทรถยนต์ระดับโลกที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่า เป็นบริษัทที่มีอายุยาวนานและมีธรรมมาภิบาลในการบริหารธุรกิจระดับสากล ที่ถูกกรมศุลกากรกล่าวหาสำแดงรายการเสียภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์รุ่นหนึ่ง เป็นเท็จเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเป็นจำนวนเงินกว่าหมื่นล้านบาท

เดิมพันสูงขนาดนี้ย่อมหมายถึงเงินสินบนนำจับและเงินรางวัลย่อมสูงตามไปด้วย….พวกเราชาวไทยคงได้แต่จับตามองศึกช้างชนช้างครั้งนี้…..อย่างไม่กระพริบตา